เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


กุหลาบมอญ..ดอกไม้หอมมีประโยชน์


ธิดารัตน์ จันทร์ดอน สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 27,426 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 07/04/2559
อ่านล่าสุด 4 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 


ในเทศกาลแห่งความรัก เรามักนึกถึงดอกกุหลาบ ใช้สื่อแทนความรักอันเป็นสากล ปัจจุบันมีกุหลาบมากกว่า 1,000 ชนิด ปลูกกระจายอยู่ทั่วโลก (1) วันนี้ทางสำนักงานข้อมูลสมุนไพรจะพาท่านไปรู้จักกับกุหลาบมอญ (Damask Rose) หรือดอกยี่สุ่น กุหลาบพันธุ์ดั้งเดิม ที่ถูกนำเข้ามาปลูกในประเทศไทยในช่วงรัชกาลที่ 2 มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Rosa damascena Mill. อยู่ในวงศ์ ROSACEAE เป็นไม้พุ่มสูง 1 - 2 ม. ลำต้นและกิ่งมีหนามแหลม ใบประกอบขนนกเรียงสลับกัน ใบย่อยรูปไข่ 5 - 7 ใบ ปลายใบแหลม โคนใบมน ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย ดอกสีขาว ชมพูอ่อนถึงสีชมพูเข้ม และสีแดง มีกลิ่นหอม ออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง กลีบดอกซ้อนกันหลายชั้น เมื่อดอกบานเต็มที่วัดขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางได้ 4.5 - 7 ซม. พบได้ในหลายพื้นที่ทั่วโลก ทั้งเอเชีย (พบมากในอินเดีย) ประเทศแถบตะวันออกกลาง และยุโรป โดยเฉพาะในประเทศอิหร่าน ตุรกี และบัลกาเรีย มีการผลิตน้ำมันหอมระเหยจากดอกกุหลาบมอญกันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะการใช้ประโยขน์ในการผลิตเครื่องสำอาง 
ในประเทศไทย มีการใช้ประโยชน์จากน้ำมันดอกกุหลาบมอญมาช้านาน โดยการนำเข้ามาจากประเทศอิหร่านหรือซีเรีย เรียกว่า “น้ำดอกไม้เทศ” ได้จากการละลายน้ำมันดอกกุหลาบในน้ำต้มสุก นิยมนำมาใช้เป็นน้ำกระสายยาในยาขนานต่างๆ สรรพคุณแผนโบราณของดอกกุหลาบมอญคือ แก้ไข้ตัวร้อน แก้กระหาย แก้อ่อนเพลีย และบำรุงกำลัง เป็นต้น (2-4) 
นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของกลิ่นหรือน้ำมันหอมระเหยจากกุหลาบมอญ ได้แก่ ฤทธิ์คลายกังวล โดยทดสอบให้หนูเจอร์บิลดมกลิ่นน้ำมันหอมระเหยกุหลาบมอญเป็นเวลา 24 ชม. พบว่าหนูจะแสดงพฤติกรรมที่บ่งชี้ถึงความคลายกังวล และเมื่อให้หนูดมน้ำมันหอมระเหยติดต่อกันเป็นเวลา 2 สัปดาห์ หนูจะมีพฤติกรรมคลายกังวลมากขึ้น โดยไม่ก่อให้เกิดอาการง่วงซึม (sedation) เมื่อเปรียบเทียบกับยาคลายกังวล diazepam (5) ฤทธิ์ต่อการนอนหลับ ทดสอบฉีดสารสกัดเอทานอลและสารสกัดน้ำของดอกกุหลาบมอญ ที่ขนาด 500 และ 1,000 มก./กก. เข้าทางช่องท้องของหนูเม้าส์ เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาคลายกังวล diazepam (3 มก./กก.) และกลุ่มควบคุมที่ให้น้ำเกลือ (10 มล./กก.) หลังจากนั้น 30 นาที ฉีดยานอนหลับ pentobarbital ขนาด 30 มก./กก. พบว่าสารสกัดมีผลทำให้ระยะเวลาการออกฤทธิ์ของยานอนหลับ pentobarbital ยาวนานขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับยา diazepam (6) น้ำมันหอมระเหยกุหลาบมอญมีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ acetylcholinesterase (AChE) และ butyrylcholinesterase (BChE) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ทำลายสารสื่อประสาทที่มีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับการเรียนรู้และจดจำ ผลการทดสอบพบสารสำคัญต่างๆ ในกุหลาบมอญ ได้แก่ citronellol, geraniol, nerol, และ phenylethyl alcohol และพบว่าน้ำมันหอมระเหยกุหลาบมอญมีฤทธิ์ยับยั้ง AChE (60.86±1.99%) และ BChE (51.08±1.70%) ที่ 1,000 มคก./มล. โดย phenylethyl alcohol มีฤทธิ์ยับยั้ง AChE ได้ดีที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับสารอื่น และเมื่อศึกษาเพิ่มเติมพบว่า phenylethyl alcohol จับกับ BChE ได้ดีกว่า AChE ซึ่งสามารถใช้เป็นข้อมูลเพื่อการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับฤทธิ์ของกุหลาบมอญต่อการเรียนรู้และจดจำต่อไป (7) นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยของน้ำมันหอมระเหยจากกุหลาบมอญเกี่ยวกับฤทธิ์ต้านอาการลมชัก ฤทธิ์ขยายหลอดลม ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด และฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานวิจัยในหลอดทดลองและสัตว์ทดลอง 
สามารถอ่านรายละเอียดของกุหลาบมอญ และดอกไม้ชนิดอื่นๆ เพิ่มเติมจากบทความ “ชาดอกไม้” จุลสารข้อมูลสมุนไพร ฉบับที่ 31(3) สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (http://www.medplant.mahidol.ac.th) 
 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. ปิยะ เฉลิมกลิ่น. ไม้ดอกหอม เล่ม 1. กรุงเทพฯ: บ้านและสวน, 2542: 160 หน้า.
  2. ชยันต์ พิเชียรสุนทร. คู่มือเภสัชกรรมแผนไทย เล่ม 1 น้ำกระสายยา. กรุงเทพฯ: บริษัทอมรินทร์ พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), 2556: 94 หน้า.
  3. Boskabady MH, Shafei MN, Saberi Z, Amini S. Pharmacological effects of Rosa damascena. Iran J Basic Med Sci 2011; 14(4) :295-307.
  4. ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน. ระบบข้อมูล ทาง วิชาการ: กุหลาบมอญดอกสีแดง [อินเทอร์เน็ต]. 2557 [เข้าถึงเมื่อ 14 ก.พ. 2557]. เข้าถึงได้จาก http://clgc.rdi.ku.ac.th/index.php/fragrant2/250-rosa
  5. Bradley B F, Starkey N J, Brown S L, Lea R W. The effects of prolonged rose odor inhalation in two animal models of anxiety. Physiol Behav 2007; 92: 931–8.
  6. Rakhshandah H, Hosseini M, Dolati K. Hypnotic effect of Rosa damascena in Mice. Iran J Pharm Res 2004; 3: 181.
  7. Senol FS, Orhan IE, Kurkcuoglu M, Khan MTH, Altintas A, Sener B, Baser KHC. A mechanistic investigation on anticholinesterase and antioxidant effects of rose (Rosa damascena Mill.). Food Res Int 2013; 53: 502–9.


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


ยาแก้ไอ ... มีกี่แบบ ?? 1 นาทีที่แล้ว
แอสไพริน (aspirin) 1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้