Eng |
รองศาสตราจารย์ ดร. ภ.ญ. บุษบา จินดาวิจักษณ์ ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
อาการปวดข้อเป็นอาการของโรคข้อซึ่งมีอยู่หลายชนิด แต่โรคข้อเสื่อมเป็นโรคข้อที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตามข้อใหญ่ๆ ที่มีการเคลื่อนไหวมากหรือข้อที่รับน้ำหนักมาก เช่น ข้อเข่า ข้อสะโพก ข้อเท้า โรคนี้เกิดจากความเสื่อมสภาพของกระดูกอ่อนที่บุปลายกระดูกข้อ เป็นเหตุให้ผิวของกระดูกอ่อนเปลี่ยนสภาพจากผิวเรียบมัน กลายเป็นผิวขรุขระ เป็นผลให้การเคลื่อนไหวของข้อมีการติดขัดและเสียไป การเสื่อมจะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ตลอดเวลา ไม่มีทางกลับคืนเป็นปกติเหมือนเดิม และยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาดได้ ดังนั้นการรักษาจึงเป็นเพียงการใช้ยาแก้ปวด และปรับพฤติกรรมเพื่อชะลอการเสื่อมของข้อ
ยาแก้ปวดที่ใช้ได้แก่ แอสไพริน พาราเซตามอล และยากลุ่มที่มีฤทธิ์แก้ปวดแก้อักเสบซึ่งเรียกว่าเป็นกลุ่มยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่น ไอบูโพรเฟน (ibuprofen), ไดโคลฟีแนค (diclofenac), เซเลคอกซิบ (celecoxib) ยาเหล่านี้ต้องรับประทานหลังอาหารทันที เพราะยามีฤทธิ์ระคายกระเพาะอาหาร และอาจทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ โดยทั่วไปแพทย์จะให้ยาป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร เช่น โอมีพราโซล (omeprazole), แพนโตพราโซล (pantoprazole), ราบีพราโซล (rabeprazole) ร่วมไปด้วยเพื่อเป็นการป้องกันฤทธิ์ระคายกระเพาะอาหารที่ไม่พึงประสงค์ ยาที่ใช้ป้องกันนี้ต้องกลืนทั้งเม็ดขณะท้องว่าง นั่นคือต้องรับประทานก่อนอาหารอย่างน้อย 30นาที ถึง 1 ชั่วโมง และรับประทานยาแก้ปวดแก้อักเสบหลังอาหารทันที
ปัจจุบันมียาที่มีฤทธิ์คล้ายเป็นอาหารสำหรับกระดูกอ่อน คือ กลูโคซามีน (glucosamine) ยานี้มีทั้งที่เป็นผงละลายน้ำก่อนดื่ม และที่เป็นแคปซูล ต้องรับประทานยานี้ตอนท้องว่าง และเป็นเวลานานอย่างน้อย 1 ปีจึงจะเห็นผล คือจะมีอาการปวดข้อน้อยลง ผู้ที่แพ้อาหารทะเลต้องระวังการใช้กลูโคซามีนเพราะอาจเกิดอาการแพ้กลูโคซามีนได้
นอกจากยาแก้ปวดแล้ว ผู้ป่วยควรลดน้ำหนัก เพราะการมีน้ำหนักมากเกิน ข้อจะต้องรับน้ำหนักมากขึ้น และมีผลทำให้ข้อเสื่อมเร็วขึ้น ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการนั่งพับเพียบ การนั่งท่ายอง การคุกเข่า การวิ่งจ๊อกกิ้ง การยกของหนัก อย่างไรก็ตามควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งการออกกำลังกายที่ทำได้คือ การว่ายน้ำ การถีบจักรยาน การยกหรือขยับข้อเข่าหรือข้อสะโพกเป็นเวลา 20-30 นาทีทุกวัน