เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


เภสัชกรแขวนป้าย ผลกระทบเป็นอย่างไร


อาจารย์ ดร.ภก.ลือรัตน์ อนุรัตน์พานิช ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 76,093 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 24/10/2557
อ่านล่าสุด 1 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 


ในสื่อสังคมออนไลน์ขณะนี้มีภาพถ่ายของเภสัชกรถือใบประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบัน สาขาเภสัชกรรม ชั้น 1 ถ่ายกับร้านขายยา หรือที่ทำงาน พร้อมกับมีข้อความรณรงค์ว่า “เภสัชกรไม่แขวนป้าย” ภาพนี้ถูกส่งต่อและแบ่งปัน (Share) กันไปอย่างกว้างขวาง 
คำว่า “ป้าย” ที่เภสัชกรไม่แขวนมันคืออะไร แน่นอนมันไม่ใช่ป้ายบอกทาง ไม่ใช่ป้ายบอกราคาสินค้า แต่มันคือเอกสารของทางราชการที่เรียกกันมาแต่เดิมว่าใบประกอบโรคศิลปะ ปัจจุบันเรียกว่าใบประกอบวิชาชีพ ทั้งนี้ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีทางเภสัชศาสตร์เป็นผู้มีศักดิ์และสิทธิ์ที่จะได้รับใบประกอบวิชาชีพนี้ 
เภสัชกรที่ประกอบวิชาชีพในร้านขายยา จะต้องแสดงใบประกอบวิชาชีพให้เห็นโดยเปิดเผย และต้องอยู่ตลอดเวลาที่ร้านเปิดทำการ พ.ร.บ. ยากำหนดว่า ร้านขายยาแผนปัจจุบัน ต้องมีเภสัชกรเป็นผู้ปฎิบัติการ ส่วนร้านขายยาบรรจุเสร็จที่ไม่ใช่ยาอันตรายและยาควบคุมพิเศษต้องมีเภสัชกร หรือ พยาบาลเป็นผู้ปฏิบัติการ ร้านขายยาทั้งสองประเภทต้องมีใบประกอบวิชาชีพแขวนไว้ จึงเกิดคำเรียกว่าแขวนป้าย สำหรับร้านขายยาแผนปัจจุบัน ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบเวลาที่เภสัชกรปฏิบัติงานได้จากป้ายพลาสติกสีน้ำเงินเข้มที่ระบุชื่อเภสัชกรประจำร้านและเวลาปฏิบัติการ ดังนั้นหากท่านเข้าไปในร้านยาแผนปัจจุบัน แล้วท่านต้องเรียกหาเภสัชกร 
 
เหตุผลที่ท่านควรเรียกหาเภสัชกรเมื่อท่านเข้าไปในร้านขายยาแผนปัจจุบัน เป็นที่ทราบกันดีว่า ยามีทั้งคุณอนันต์และโทษมหันต์ถ้าใช้ไม่ถูกต้อง ดังนั้นการใช้ยาโดยเฉพาะยาแผนปัจจุบันประเภทยาอันตรายที่ต้องส่งมอบโดยเภสัชกร ถ้าผู้บริโภคซื้อยาโดยไม่ได้รับการส่งมอบจากเภสัชกร อาจมีผลกระทบจากการใช้ยาไม่ถูกต้องได้ 
การส่งมอบยาที่เหมาะสมนั้นต้องถูกโรค ถูกคน ถูกขนาด ถูกวิธี ถูกเวลา ซึ่งการใช้ยาไม่ถูกต้องตามหลักการข้างต้นก่อให้เกิดอันตรายแก่คนไข้ได้ เช่น การแพ้ยา การได้รับยาเกินขนาดจนเกิดอาการพิษ การเกิดอาการข้างเคียงจากยาหรือ พิษจากยาตีกัน หรือได้รับยาไม่ถูกโรคจนอาการป่วยไม่ทุเลา ซึ่งส่งผลเสียต่อคนไข้ทั้งเรื่องสุขภาพและเรื่องค่าใช้จ่าย 
ข้อที่ควรระวังหากท่านซื้อยาจากร้านขายยาที่มีแต่ป้ายแขวนไว้ไม่มีเภสัชกรอยู่ประจำ หรือเภสัชกรไม่มาปฏิบัติการตามเวลาที่กำหนดในใบอนุญาตขายยา ท่านอาจได้รับยา อาหารเสริม หรือสมุนไพรที่เกินความจำเป็น โดยที่ผู้ขายอาจเล็งเห็นกำไรจากการขายยา อาหารเสริม หรือสมุนไพร แล้วเกิดการกระทำที่เรียกว่า“ยิงยา” หรือจ่ายยาที่ไม่จำเป็นแก่คนไข้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทั้งคนไข้เองและสังคมโดยรวมอย่างกรณีของยาปฏิชีวนะ หรือ ยาฆ่าเชื้อโรค ที่ปัจจุบันถูกสั่งใช้กันอย่างพร่ำเพรื่อจนเกิดเชื้อดื้อยาเป็นจำนวนมาก อันส่งผลต่อความปลอดภัยของคนไข้และเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจอีกด้วย 
การรณรงค์ “เภสัชกรไม่แขวนป้าย” ก็เพื่อที่จะเตือนตนเองและให้สังคมตระหนักว่า เภสัชกรจะอยู่ปฏิบัติการตามป้ายที่แขวนไว้ และจะไม่แขวนป้ายโดยไม่อยู่ปฏิบัติการ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้คนไข้เสียโอกาสที่จะได้รับคำแนะนำในการดูแลตัวเอง มีความรู้ความเข้าใจเรื่องโรค อาการของโรคและการดูแลตนเอง ทั้งนี้เพราะโรคบางชนิดถ้ามีการดูแลตนเองอย่างเหมาะสม และมีการปฏิบัติตัวตามหลักการที่ดีจะทำให้อาการดีขึ้นโดยไม่ต้องใช้ยาก็เป็นได้ 
นอกเหนือจากอันตรายต่อคนไข้และประชาชนแล้วเภสัชกรที่แขวนป้ายยังจะได้รับโทษตามกฎหมายซึ่งกำหนดไว้ว่า เภสัชกรต้องอยู่ประจำร้านตลอดเวลาที่ร้านยาเปิดทำการ หรือในช่วงเวลาปฏิบัติการนั้นๆ เป็นความผิดในมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 กล่าวคือ มาตรา 39 ผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการต้องอยู่ประจำ ณ สถานที่ขายยาแผนปัจจุบันตลอดเวลา มีโทษปรับตามมาตรา 109 มีโทษปรับหนึ่งพันบาท ถึง ห้าพันบาท และพักใช้ใบอนุญาต 1 ปี 
การแขวนป้ายโดยไม่อยู่ปฏิบัติการ ยังเป็นความผิดตามข้อ 1, 2 และ 6 ในข้อบังคับว่าด้วยจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. 2538 คือ 
ข้อ 1 ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมย่อมดำรงตนให้สมควรในสังคมโดยธรรมและเคารพต่อกฎหมายของบ้านเมือง 
ข้อ 2 ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมย่อมไม่พฤติกรรมหรือกระทำการใด ๆ อันเป็นเหตุให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ 
ข้อ 6 ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมต้องรักษามาตรฐานของการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมในระดับที่ดี 
เมื่อทราบดังนี้แล้ว ผู้บริโภคควรตรวจสอบว่า ร้านยาที่ขายยาให้แก่ท่านเป็นร้านยาที่มีเภสัชกรปฏิบัติหน้าที่อยู่ หรือมีแต่ “ป้าย”ที่เภสัชกร “แขวน”อยู่เท่านั้น เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยาของท่านเอง

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. http://www.moph.go.th/ops/minister_06/Office2/drug1.pdf
  2. http://www.pharmacycouncil.org/share/file/file_30.pdf
  3. http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/147/เคล็ดลับการซื้อยาให้ปลอดภัย/


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


มะระขี้นก 1 นาทีที่แล้ว
แอสไพริน (aspirin) 1 นาทีที่แล้ว
ว่านชักมดลูก 1 นาทีที่แล้ว
1 นาทีที่แล้ว
หญ้าปักกิ่ง 1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้