เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


สาหร่ายวากาเมะ ลดความอ้วนได้จริงหรือ?


นศภ.ธีรภัทร์ เสนะเปรม นักศึกษาฝึกปฏิบัติงานคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 19,900 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 17/10/2557
อ่านล่าสุด 30 นาทีที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 


โรคอ้วนตามแนวทางเวชปฏิบัติการป้องกันและดูแลรักษาโรคอ้วน ของสถาบันวิจัยและการประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ของคือโรคที่คนมีค่าดัชนีมวลกาย (body mass index: BMI) ซึ่งคิดจากค่าน้ำหนักตัวหารด้วยส่วนสูงยกกำลังสองแล้วมีค่ามากกว่า 25.0 โดยในปัจจุบันคนไทยเป็นโรคอ้วนกันมากขึ้นโดยจากข้อมูลสถิติของสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยพบว่าในปีพ.ศ. 2556 พบว่ามีคนอ้วนรวมกันทั้งประเทศ 16 ล้านคน เป็นชาย 4.7 ล้านคนและหญิง 11.3 ล้านคน ซึ่งถือเป็นจำนวนที่ค่อนข้างมาก โดยโรคอ้วนนี้เป็นปัจจัยเสี่ยงของการพัฒนาเป็นโรคที่สำคัญต่างๆ ได้เช่น โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ เป็นต้น1 นอกจากนั้นยังทำให้สรีระของร่างกายดูไม่ดีในสายตาของผู้ที่เป็นโรคอ้วนเองทำให้หลายๆ คน พยายามหาวิธีลดน้ำหนักต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย หรือแม้แต่การใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต่างๆ ซึ่งในท้องตลาดมีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต่างๆ มากมายที่อ้างว่าช่วยในการลดน้ำหนักได้ หนึ่งในนั้นคือผลิตภัณฑ์ที่ได้จากสาหร่ายวากาเมะนั่นเอง ซึ่งก่อนที่จะไปดูว่าสาหร่ายชนิดนี้สามารถช่วยลดความอ้วนได้จริงหรือไม่ เราคงต้องไปรู้จักสาหร่ายชนิดนี้กันก่อนว่าคืออะไร 
สาหร่ายวากาเมะ (wakame) จัดเป็นสาหร่ายสีน้ำตาลชนิดหนึ่ง มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Undaria pinnatifida ซึ่งเป็นสาหร่ายที่พบในประเทศญี่ปุ่น โดยพบว่าในสาหร่ายวากาเมะนั้นมีสารอาหารต่างๆ มากมายทั้งโปรตีน โพลิแซคคาไรด์ เกลือแร่ วิตามินและยังมีไขมันในปริมาณน้อย2 นอกจากนั้นยังมีสารอื่นๆ อีกเช่น ฟูโคแซนทิน (Fucoxantin) ซึ่งในปัจจุบันมีการศึกษาถึงผลของสารชนิดนี้มากมายหนึ่งในนั้นคือ ฤทธิ์ในการต้านการเกิดความอ้วน (anti-obesity) 
ฟูโคแซนทินเป็นสารแคโรตินอยด์ (carotenoid) ซึ่งเป็นสารที่ให้สีส้ม แดง หรือเหลือง ชนิดหนึ่งที่พบเป็นปริมาณมากในสาหร่ายสีน้ำตาลรวมทั้งในสาหร่ายวากาเมะด้วย โดย Maeda และคณะพบว่ากลไกในการเกิดฤทธิ์ในการต้านการเกิดความอ้วนนั้นเกิดจากการที่ฟูโคแซนทินกระตุ้นให้มีการสร้าง uncoupled protein-1 (UCP-1) ในเซลล์ไขมันสีขาว (White adipose tissue) ซึ่งปกติ UCP-1 นั้นจะมีหน้าที่ในการสลายไขมันเพื่อทำให้เกิดความร้อนในร่างกาย3 โดยจะสามารถพบ UCP-1 ได้มากในเซลล์ไขมันสีน้ำตาล (brown adipose tissue) ซึ่งมีจำนวนน้อยในร่างกายคน โดย UCP-1 พบได้น้อยในเซลล์ไขมันสีขาวซึ่งพบเป็นส่วนมากในร่างกายมนุษย์4 ดังนั้นการเพิ่ม UCP-1 จึงทำให้มีร่างกายมีการสลายไขมันมากขึ้น นอกจากนั้น Maeda และคณะยังได้ศึกษาในหนูทดลองโดยในให้หนูทดลองกินอาหารที่มีไขมันสูงแล้วแบ่งเป็นสองกลุ่มคือกลุ่มที่ได้รับฟูโคแซนทินและกลุ่มที่ไม่ได้รับฟูโคแซนทินโดยติดตามน้ำหนักของหนูทดลองเป็นเวลา 5 สัปดาห์ พบว่าในกลุ่มหนูที่ได้รับฟูโคแซนทินมีน้ำหนักขึ้นน้อยกว่ากลุ่มหนูที่ไม่ได้รับฟูโคแซนทิน และพบว่ากลุ่มที่ได้รับฟูโคแซนทินมีน้ำหนักที่ใกล้เคียงกับหนูที่เป็นกลุ่มควบคุมที่ได้รับอาหารในแบบปกติอีกด้วย5 
อย่างไรก็ตามแม้จะมีการศึกษาในสัตว์ทดลองที่พบว่าฟูโคแซนทินอาจมีกลไกที่อาจมีส่วนช่วยในการลดความอ้วน แต่ก็ยังไม่มีการศึกษาในคนทำให้ไม่ทราบกลไกนี้เกิดขึ้นจริงในคนหรือไม่ และหากเกิดขึ้นได้จริงจะต้องรับประทานสาหร่ายวากาเมะหรือสารสกัดฟูโคแซนทินในปริมาณเท่าใด และเป็นเวลานานเพียงใดจึงจะสามารถลดความอ้วนในคนได้ จึงยังไม่สามารถสรุปได้ว่าสาหร่ายวากาเมะนั้นช่วยลดน้ำหนักในคนได้จริงหรือไม่ แต่ถึงอย่างไรก็ตามก็ยังสามารถนำสาหร่ายวากาเมะมารับประทานได้เพราะเป็นแหล่งอาหารที่ดี มีไขมันน้อยและสามารถใช้ควบคู่กับการควบคุมอาหาร และออกกำลังกายเพื่อลดความอ้วนได้

 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. สถาบันวิจัยและการประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. แนวทางเวชปฏิบัติการป้องกันและดูแลรักษาโรคอ้วน. ม.ป.ท.: 2553.
  2. สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย. สถิติโรคอ้วน [อินเตอร์เน็ต]. [เข้าถึงเมื่อ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2557]. เข้าถึงได้จาก: http://www.diabassocthai.org/statistic/105
  3. Venugopal V. Marine products for healthcare: functional and bioactive nutraceutical compounds from the ocean. Boca Raton, Fla: CRC Press/Taylor & Francis. 2009. 
  4. Maeda H, Hosokawa M, Sashima T, Funayama K, Miyashita K. Fucoxanthin from edible seaweed, Undaria pinnatifida, shows antiobesity effect through UCP1 expression in white adipose tisuue. Biochemical and Biophysical Reseach Communication 2005; 332: 392-397.
  5. Saely CH, Geiger K, Drexel H. Brown versus white adipose tissue: A mini-riview. Gerontology 2012; 58: 13-23.
  6. Maeda H, Hosokawa M, Sashima T, Murakami-Funayama K, Miyashita K. Anti-obesity and anti-diabetic effects of fucoxanthin on diet-induced obesity conditions in murine model. Molecular Medicines Reports 2009; 2: 897-902.


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


ยาไอซ์ (Ice) 5 วินาทีที่แล้ว
แอสไพริน (aspirin) 39 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้