Eng |
นศภ.ธีรภัทร์ เสนะเปรม นักศึกษาฝึกปฏิบัติงานคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
โรคอ้วนตามแนวทางเวชปฏิบัติการป้องกันและดูแลรักษาโรคอ้วน ของสถาบันวิจัยและการประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ของคือโรคที่คนมีค่าดัชนีมวลกาย (body mass index: BMI) ซึ่งคิดจากค่าน้ำหนักตัวหารด้วยส่วนสูงยกกำลังสองแล้วมีค่ามากกว่า 25.0 โดยในปัจจุบันคนไทยเป็นโรคอ้วนกันมากขึ้นโดยจากข้อมูลสถิติของสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยพบว่าในปีพ.ศ. 2556 พบว่ามีคนอ้วนรวมกันทั้งประเทศ 16 ล้านคน เป็นชาย 4.7 ล้านคนและหญิง 11.3 ล้านคน ซึ่งถือเป็นจำนวนที่ค่อนข้างมาก โดยโรคอ้วนนี้เป็นปัจจัยเสี่ยงของการพัฒนาเป็นโรคที่สำคัญต่างๆ ได้เช่น โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ เป็นต้น1 นอกจากนั้นยังทำให้สรีระของร่างกายดูไม่ดีในสายตาของผู้ที่เป็นโรคอ้วนเองทำให้หลายๆ คน พยายามหาวิธีลดน้ำหนักต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย หรือแม้แต่การใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต่างๆ ซึ่งในท้องตลาดมีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต่างๆ มากมายที่อ้างว่าช่วยในการลดน้ำหนักได้ หนึ่งในนั้นคือผลิตภัณฑ์ที่ได้จากสาหร่ายวากาเมะนั่นเอง ซึ่งก่อนที่จะไปดูว่าสาหร่ายชนิดนี้สามารถช่วยลดความอ้วนได้จริงหรือไม่ เราคงต้องไปรู้จักสาหร่ายชนิดนี้กันก่อนว่าคืออะไร
สาหร่ายวากาเมะ (wakame) จัดเป็นสาหร่ายสีน้ำตาลชนิดหนึ่ง มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Undaria pinnatifida ซึ่งเป็นสาหร่ายที่พบในประเทศญี่ปุ่น โดยพบว่าในสาหร่ายวากาเมะนั้นมีสารอาหารต่างๆ มากมายทั้งโปรตีน โพลิแซคคาไรด์ เกลือแร่ วิตามินและยังมีไขมันในปริมาณน้อย2 นอกจากนั้นยังมีสารอื่นๆ อีกเช่น ฟูโคแซนทิน (Fucoxantin) ซึ่งในปัจจุบันมีการศึกษาถึงผลของสารชนิดนี้มากมายหนึ่งในนั้นคือ ฤทธิ์ในการต้านการเกิดความอ้วน (anti-obesity)
ฟูโคแซนทินเป็นสารแคโรตินอยด์ (carotenoid) ซึ่งเป็นสารที่ให้สีส้ม แดง หรือเหลือง ชนิดหนึ่งที่พบเป็นปริมาณมากในสาหร่ายสีน้ำตาลรวมทั้งในสาหร่ายวากาเมะด้วย โดย Maeda และคณะพบว่ากลไกในการเกิดฤทธิ์ในการต้านการเกิดความอ้วนนั้นเกิดจากการที่ฟูโคแซนทินกระตุ้นให้มีการสร้าง uncoupled protein-1 (UCP-1) ในเซลล์ไขมันสีขาว (White adipose tissue) ซึ่งปกติ UCP-1 นั้นจะมีหน้าที่ในการสลายไขมันเพื่อทำให้เกิดความร้อนในร่างกาย3 โดยจะสามารถพบ UCP-1 ได้มากในเซลล์ไขมันสีน้ำตาล (brown adipose tissue) ซึ่งมีจำนวนน้อยในร่างกายคน โดย UCP-1 พบได้น้อยในเซลล์ไขมันสีขาวซึ่งพบเป็นส่วนมากในร่างกายมนุษย์4 ดังนั้นการเพิ่ม UCP-1 จึงทำให้มีร่างกายมีการสลายไขมันมากขึ้น นอกจากนั้น Maeda และคณะยังได้ศึกษาในหนูทดลองโดยในให้หนูทดลองกินอาหารที่มีไขมันสูงแล้วแบ่งเป็นสองกลุ่มคือกลุ่มที่ได้รับฟูโคแซนทินและกลุ่มที่ไม่ได้รับฟูโคแซนทินโดยติดตามน้ำหนักของหนูทดลองเป็นเวลา 5 สัปดาห์ พบว่าในกลุ่มหนูที่ได้รับฟูโคแซนทินมีน้ำหนักขึ้นน้อยกว่ากลุ่มหนูที่ไม่ได้รับฟูโคแซนทิน และพบว่ากลุ่มที่ได้รับฟูโคแซนทินมีน้ำหนักที่ใกล้เคียงกับหนูที่เป็นกลุ่มควบคุมที่ได้รับอาหารในแบบปกติอีกด้วย5
อย่างไรก็ตามแม้จะมีการศึกษาในสัตว์ทดลองที่พบว่าฟูโคแซนทินอาจมีกลไกที่อาจมีส่วนช่วยในการลดความอ้วน แต่ก็ยังไม่มีการศึกษาในคนทำให้ไม่ทราบกลไกนี้เกิดขึ้นจริงในคนหรือไม่ และหากเกิดขึ้นได้จริงจะต้องรับประทานสาหร่ายวากาเมะหรือสารสกัดฟูโคแซนทินในปริมาณเท่าใด และเป็นเวลานานเพียงใดจึงจะสามารถลดความอ้วนในคนได้ จึงยังไม่สามารถสรุปได้ว่าสาหร่ายวากาเมะนั้นช่วยลดน้ำหนักในคนได้จริงหรือไม่ แต่ถึงอย่างไรก็ตามก็ยังสามารถนำสาหร่ายวากาเมะมารับประทานได้เพราะเป็นแหล่งอาหารที่ดี มีไขมันน้อยและสามารถใช้ควบคู่กับการควบคุมอาหาร และออกกำลังกายเพื่อลดความอ้วนได้