เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ใบขลู่: คุณค่าทางโภชนาการ ฤทธิ์ทางชีวภาพและความเป็นพิษ


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อรสา สุริยาพันธ์ ภาควิชาอาหารเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 138,051 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 30/09/2557
อ่านล่าสุด 2 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

ต้นขลู่ (Khlu; Pluchea indica (Linn) Less) เป็นไม้พุ่มขนาดต้นสูง 0.5-2 เมตร มีใบเขียวตลอดปี ต้นขลู่ขึ้นตามธรรมชาติในป่าชายเลนของประเทศเขตร้อน เช่น ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ออสเตรเลีย และอินเดีย เป็นต้น(1, 2) ปัจจุบันมีการปลูกต้นขลู่เชิงเศรษฐกิจเพื่อจำหน่ายใบขลู่เป็นผักสมุนไพรเพื่อการบริโภคและใช้ผลิตชาขลู่(3) ซึ่งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551เป็นต้นมา สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) ได้ริเริ่มโครงการสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนในหลายจังหวัดเช่น สมุทรสงคราม เพชรบุรี นครราชสีมา อุดรธานี จันทบุรี และระยอง ให้มีการผลิตชาขลู่ที่มีคุณภาพสูงและถูกสุขลักษณะ(3) 
ใบของต้นขลู่มีลักษณะเป็นใบเดี่ยว ก้านใบสั้น ใบติดตามข้อสลับกัน ลักษณะใบเป็นรูปไข่หัวกลับ มีขอบใบหยัก และมีขนาดกว้าง 1-5 เซนติเมตร ยาว 2-9 เซนติเมตร(1) ใบขลู่สดมีรสหวานและมีความฝาด (astringent) เล็กน้อย คนท้องถิ่นนิยมลวกใบขลู่กินกับน้ำพริกและใช้ปรุงอาหารพื้นบ้านเช่นยำและแกงคั่ว(4) ใบขลู่สด 100 กรัม มีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้(5) โปรตีน 1.8 กรัม ไขมัน 0.5 กรัม ใยอาหารแบบละลายน้ำ 0.5 กรัม ใยอาหารแบบไม่ละลายน้ำ 0.9 กรัม คาร์โบไฮเดรต 8.7 กรัม แคลเซียม 250 มิลลิกรัม เบต้า-แคโรทีน 1.2 มิลลิกรัม และ น้ำ 87.5 กรัม ทั้งนี้ปริมาณแคลเซียมและปริมาณเบต้า-แคโรทีนที่พบในใบขลู่สด 100 กรัมเป็นปริมาณที่ใกล้เคียงเคียงเทียบเท่ากับปริมาณแคลเซียมที่ได้จากการดื่มน้ำนม 1 แก้ว (8 ออนซ์)(6) และปริมาณเบต้า-แคโรทีนที่ได้จากการกินเนื้อฟักทองสุก 100 กรัม(7) ตามลำดับ เบต้า-แคโรทีนเป็นรงควัตถุสีเหลืองที่พบในพืชและมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่ดี อย่างไรก็ตามใบของต้นขลู่ที่ขึ้นตามธรรมชาติในป่าชายเลนอาจมีปริมาณโซเดียมสูงมากเนื่องมาจากต้นขลู่ได้รับเกลือโซเดียมคลอไรด์ (NaCl) ที่มาจากความเค็มของดิน(8) ดังนั้นผู้ที่ป่วยโรคความดันโลหิตสูงและโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจไม่ควรรับประทานใบขลู่ในปริมาณมาก 
แพทย์แผนโบราณใช้ใบขลู่สดพอกรักษาแผลที่เกิดจากอาการเนื้อตาย (gangreous ulcer)(9) หรือนำใบขลู่มาชงชาหรือต้มเพื่อใช้รักษาอาการนิ่วในไต (ยาขับปัสสาวะ) อาการอักเสบ อาการปวดหลัง และ อาการตกขาว(9,10) ในประเทศอินโดนีเซียมีรายงานถึงการดื่มน้ำต้มใบขลู่เพื่อช่วยทำให้เจริญอาหารและช่วยการย่อยอาหารนอกจากนี้ยังมีรายงานการใช้น้ำต้มใบขลู่เป็นยาต้านจุลชีพ ยาแก้ท้องเสีย และยาบรรเทาอาการไอ รวมทั้งมีการใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์บำรุงผิวพรรณช่วยทำให้ผิวนุ่ม(11) 
ใบขลู่มีสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพกลุ่มที่สำคัญคือกลุ่มฟีโนลิกและฟลาโวนอยด์ ใบขลู่ 100 กรัมมีกรดคลอโรจีนิก 20 มิลลิกรัม กรดคาเฟอิก 8.65 มิลลิกรัม และเคอร์ซิติน 5.21 มิลลิกรัม(11) ผลการวิจัยของ Andarwulan และคณะในปีพ.ศ. 2553 ได้แสดงให้เห็นว่าสารสกัดจากใบขลู่มีฤทธิ์ที่ดีในการต้านอนุมูลอิสระและสามารถยับยั้งการเกิดออกซิเดชั่นของลิปิดได้ดีมาก ซึ่งนอกจากนี้แล้วได้มีรายงานทางเภสัชวิทยาหลายฉบับยืนยันฤทธิ์ทางชีวภาพของใบขลู่ สรุปสาระสำคัญโดยย่อได้ดังนี้ สารสกัดจากใบขลู่ด้วยการแช่ในเอทานอลเข้มข้น 70% เป็นเวลา 2 วัน พบว่า มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ และลดการปวดในสัตว์ทดลอง(12) ซึ่งฤทธิ์ต้านการอักเสบได้รับการยืนยันซ้ำจากผลการศึกษาการใช้สารสกัดใบขลู่เฉพาะส่วนที่สามารถละลายได้ทั้งในเอทานอลและเอธิลอะซิเตต(13) สำหรับสารสกัดจากใบขลู่ด้วยการแช่ในเมทานอลเข้มข้น 80% เป็นเวลา 7-14 วัน พบว่ามีฤทธิ์ต้านโรควัณโรค(14) 
เมื่อเร็วๆนี้ ได้มีรายงานการวิจัย 2 ฉบับเกี่ยวกับน้ำต้มใบขลู่ที่น่าสนใจมาก เป็นการศึกษาฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งของสารสกัดที่ได้จากการต้มผงใบขลู่ในน้ำร้อน (75-80 oซ) แล้วทำให้ส่วนสกัดน้ำแห้งด้วยวิธีระเหิดเป็นไอ (freeze dry) พบว่ามีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งสมอง และเซลล์มะเร็งปากมดลูกในจานเพาะเลี้ยงเซลล์ เมื่อใช้ที่ระดับความเข้มข้น 100-300 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร(15) ทั้งนี้ฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งคาดว่ามาจากสารกลุ่มฟีโนลิกและฟลาโวนอยด์ที่พบในใบขลู่ เพราะรายงานศึกษาด้านเภสัชวิทยาในอดีตแสดงให้เห็นว่ากรดคลอโรจีนิกมีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งในลำไส้ใหญ่และตับในสัตว์ทดลองได้ดี(16) ส่วนกรดคาเฟอิกมีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งปากมดลูกในจานเพาะเลี้ยงเซลล์ทดลอง(17) ต่อมาในปี พ.ศ. 2556 ได้มีรายงานการวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์การต้านการอักเสบของส่วนสกัดน้ำจากชาใบขลู่ที่ผลิตในจังหวัดจันทบุรีโดยการต้มชาขลู่ในน้ำเดือดเป็นเวลา 30 นาทีแล้วนำส่วนสกัดน้ำได้มาทำแห้งด้วยวิธีระเหิดเป็นไอ พบว่า ที่ความเข้มข้น 25-400 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ส่วนสกัดน้ำจากใบขลู่มีฤทธิ์ในการยับยั้งการผลิตสารสื่อกลางการอักเสบไนตริกออกไซด์ (nitric oxide ,NO) และพรอสตาแกลนดิน E2 (prostaglandin E2 ,PGE2) ในเซลล์แมคโครฟาจ RAW264.7 ที่ถูกกระตุ้นด้วยไลโพพอลิแซกคาไรด์ (lipopolysachharide) และพบว่า ส่วนสกัดน้ำจากใบชาขลู่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่ดีเช่นกัน(18) 
สำหรับความเป็นพิษของสารสกัดจากใบขลู่นั้น เมื่อพิจารณาตามเกณฑ์องค์การอนามัยโลกจากค่า LD50 หรือค่าความเข้มข้นที่ทำให้สัตว์ทดลองตายลงครึ่งหนึ่งของจำนวนเริ่มต้น พบว่า จัดอยู่ในระดับอันตรายน้อย เนื่องจาก มีรายงานผลการทดสอบความเป็นพิษของสารสกัดจากแคลลัสของใบขลู่ที่ได้จากเลี้ยงในอาหารแข็งด้วยเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ (tissue culture) ด้วยเมทานอล ในหนูขาวใหญ่ มีค่า LD50 เท่ากับ 2.825 มิลลิกรัม/1 กิโลกรัมน้ำหนักตัวหนูทดลอง(19) 
ถึงแม้ว่าปัจจุบันได้มีรายงานการศึกษาที่แสดงถึงฤทธิ์ทางชีวภาพของสารสกัดจากใบขลู่ในด้านการต้านทานอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ และต้านเซลล์มะเร็ง แต่การบริโภคใบขลู่สดหรือดื่มชาขลู่ในปริมาณที่สูงอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานอาจมีผลเสียต่อสุขภาพของร่างกายได้เช่นกัน การดื่มชาขลู่อาจทำให้รู้สึกตัวเบาเนื่องจากใบขลู่มีฤทธิ์เป็นยาขับปัสสาวะมีผลทำให้ปัสสาวะบ่อย หลักการดื่มชาขลู่เพื่อเสริมสร้างสุขภาพก็คล้ายกับการดื่มชาจีน ชาเขียวและชาสมุนไพรชนิดอื่นๆ คือ ควรดื่มในปริมาณที่พอเหมาะสมควรต่อวัน (1-2 แก้วต่อวัน) ดื่มระหว่างมื้ออาหาร และไม่ดื่มชาที่เหลือค้างคืน ทั้งนี้ควรสังเกตการณ์ตอบสนองของร่างกายว่ามีอาการผิดปกติหรือไม่ ถ้ามีควรงดการดื่ม คำแนะนำเพิ่มเติมสำหรับชาขลู่ มีดังนี้

  1. ปริมาณการซื้อในแต่ละครั้งควรซื้อในปริมาณที่สามารถบริโภคหมดภายในสี่เดือนเพราะสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพเสื่อมสลายได้ตามระยะเวลาการเก็บ สังเกตได้จากสีของชาขลู่จะเปลี่ยนเป็นสีออกเหลืองเนื่องจากเกิดการสลายตัวของรงควัตถุสีเขียวคลอโรฟิลล์ทำให้เห็นสีเหลืองของรงควัตถุสีเหลืองกลุ่มคาร์โรทีนอยด์ที่มีความเสถียรมากกว่า
  2. ควรเก็บชาขลู่ในภาชนะทึบแสงและปิดสนิทเพื่อกันการสลายตัวของสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพเนื่องจากแสงและกันการได้รับความชื้นซึ่งอาจทำให้มีการเจริญของเชื้อราได้ การเตรียมชาขลู่จากใบชาขลู่สดหรือแห้งควรเป็นการต้มในน้ำใกล้เดือดและต้มนานอย่างน้อย 30 นาที เพื่อให้สามารถสกัดสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพให้ได้มากเพียงพอ
  3. การเตรียมชาขลู่จากใบชาขลู่สดหรือแห้งควรเป็นการต้มในน้ำใกล้เดือดและต้มนานอย่างน้อย 30 นาที เพื่อให้สามารถสกัดสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพให้ได้มากเพียงพอ

 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. ขลู่ (Khlu) [อินเทอร์เน็ต].(ม.ป.ป.) [เข้าถึงเมื่อ 19 ก.ย. 2557]. เข้าถึงได้จาก: http://www.phargarden.com/main.php?Action= viewpage&pid=24
  2. Pacific Island Ecosystems at Risk (PIER). Pluchea indica. C1999 [updated 2013 Jan 28; cited 2014 Aug 19] Available from: http://www.hear.org/pier/species/pluchea_indica.htm
  3. สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). โครงสร้างห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจชาขลู่. ใน:โครงการพัฒนาระบบและเครือข่ายฐานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพระดับประเทศ ปี 2555. [อินเทอร์เน็ต]2555.[ปรับปรุงข้อมูลเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2555; เข้าถึงเมื่อ 19 ก.ย. 2557] เข้าถึงได้จาก: http://www.thaibiodiversity.org/UploadFile/KMFile/TeaSCM
  4. อรทัย เนียมสุวรรณ, นฤมล เส้งนนท์, กรกนก ยิ่งเจริญ, พัชรินทร์ สิงห์ดำ. พฤกษศาสตร์พื้นบ้านของพืชกินได้จากป่าชายเลนและป่าชายหาด บริเวณคาบสมุทรสทิงพระ จังหวัดสงขลา. ว.วท.มข.2555;40(3): 981-991
  5. ยุทธนา สุดเจริญ.รายงานการวิจัยเรื่องการประเมินคุณประโยชน์ผักและสมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดสมุทรสงคราม.กรุงเทพฯ:ทุนอุดหนุนจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553. คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา. [อินเทอร์เน็ต] 2553.[ เข้าถึงเมื่อ 19 ก.ย. 2557] เข้าถึงได้จาก: www.ssruir.ssru.ac.th/bitstream / ssruir /320/1/049-53.pdf
  6. U.S. Department of Agriculture: Handbooks 8-1 to 8-21: Composition of food raw, processed, prepared. Washington, DC. 1972-1991. U.S. Government Printing Office.
  7. กลุ่มวิเคราะห์อาหารและโภชนาการ กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. ตารางแสดงคุณค่าทางโภชนาการของอาหารไทย.พิมพ์ครั้งที่ 1.นนทบุรี: โรงพิมพ์องค์การทหารผ่านศึก; 2544.
  8. Shannon MC, Grieve CM. Tolerance of vegetable crop to salinity. Sci Hort 1999;78:5-38. doi: 10.1016/S0304-4238(98)00189-7.
  9. Ahem SA, Kamel EM. Phenolic constituents and biological activity of the genus pluchea. Der Pharma Chemica [Internet] 2013 [cited 2014 Sep 17];5(5):109-114. Available from: http://derpharmachemica.com/vol5-iss5/DPC-2013-5-5-109-114.pdf
  10. สำนักงานอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. พืชในป่าชายเลนของประเทศไทย. พิมพ์ครั้งที่ 1.นนทบุรี: โรงพิมพ์องค์การทหารผ่านศึก; 2552.
  11. Andarwulan N, Kurniasih D, Apriady RA, Rahmat H, Roto AV, Bolling BW. Polyphenols, carotenoids and ascorbic acid in underutilized medicinal vegetables. J Funct Foods 2012;4:339-347. doi:10.1016/j.jff.2012.01.003.
  12. Rosilda AH, Erazuliana AK, Zuraini N. Anti-inflammatory and antinociceptive activities of the ethanolic extract of Pluchea indica (L) Less. Leaf. Pharmacogyonline [Internet] 2008 [cited 2014 Sep 8];2:349-360. Available from http://pharmacologyonline.silae.it/files/archives/2008/ vol2/ 31_Hamid.pdf
  13. Buapool D, Mongkol N, Chantimal J, Roytrakul S, Srisook E, Srisook, K. Molecular mechanism of anti-inflammatory of Pluchea indica leaves in macrophages RAW264.7 and its action in animal models of inflammation. J Enthopharmacol 2012;146:495-504. doi.org/10.1016/j.jep.2013.01.0140
  14. Mohamad S, Zin NM, Wahab HA, Ibrahim P, Sulaiman SF, Zuhariluddin ASM,et al. Antituberculosis potential of some ethanobotanically selected Malaysian plants. J. Enthamopharmacol 2011;133:1021-1026. doi:10.1016/j.jep.2010.11.037.
  15. Cho JJ, Cho CL, Kao CL, Chen CM, Tseng CN, Lee Y-Z, et al. Crude aqueous extracts of Pluchea indica (L.)Less. inhibit proliferation and migration of cancer cells through induction of p53-dependent cell death. BMC Complement Altern Med [Internet] 2012 [cited 2014 Sep 8];12: 265-276. Available from http://www.biomedcentral.com/1472-6882/12/265
  16. Mori H, Tanaka T, Shima H, Kuniyasu T, Takahashi. Inhibitory effect of chlorogenic acid on methylazoxymethanol acetate-induced carcinogenesis in large intestine and liver of hamsters. Cancer Lett 1986;30:49-54
  17. Ye JC, Hsiao MW, Hsieh CH, Wu WC, Hung YC, Chang WC. Analysis of caffeic acid extraction from Ocimum gratissimum Linn. by High performance liquid chromatography and its effects on a cervical cancer cell line. Taiwan J Obstet Gynecol 2010;49(3):266-271.
  18. Srisook K, Buapool D, Boonbai R, Simmasut P, Charoensuk Y, Srisook K. Antioxidant and anti-inflammatory activities of hot water extract from Pluchea indica Less herbal tea. J Med Plants Res [Internet] 2012 [cited 2014 Sep 17];6:4077-4081. doi:10.5897/JMPR12.773. Available from http://www.academicjournals.org/JMPR
  19. Pramanik CH, Biswas R, Mitra A, Bandyopadhyay D, Mishra M, Chatterjee TK. Tissue culture of the plant Pluchea indica (L.) Less. and evaluation of diuretic potential of its leaves. Orient Pharm Exp Med 2007;7(2):197-204.


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด



อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้