Eng |
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อรสา สุริยาพันธ์ ภาควิชาอาหารเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ต้นขลู่ (Khlu; Pluchea indica (Linn) Less) เป็นไม้พุ่มขนาดต้นสูง 0.5-2 เมตร มีใบเขียวตลอดปี ต้นขลู่ขึ้นตามธรรมชาติในป่าชายเลนของประเทศเขตร้อน เช่น ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ออสเตรเลีย และอินเดีย เป็นต้น(1, 2) ปัจจุบันมีการปลูกต้นขลู่เชิงเศรษฐกิจเพื่อจำหน่ายใบขลู่เป็นผักสมุนไพรเพื่อการบริโภคและใช้ผลิตชาขลู่(3) ซึ่งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551เป็นต้นมา สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) ได้ริเริ่มโครงการสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนในหลายจังหวัดเช่น สมุทรสงคราม เพชรบุรี นครราชสีมา อุดรธานี จันทบุรี และระยอง ให้มีการผลิตชาขลู่ที่มีคุณภาพสูงและถูกสุขลักษณะ(3)
ใบของต้นขลู่มีลักษณะเป็นใบเดี่ยว ก้านใบสั้น ใบติดตามข้อสลับกัน ลักษณะใบเป็นรูปไข่หัวกลับ มีขอบใบหยัก และมีขนาดกว้าง 1-5 เซนติเมตร ยาว 2-9 เซนติเมตร(1) ใบขลู่สดมีรสหวานและมีความฝาด (astringent) เล็กน้อย คนท้องถิ่นนิยมลวกใบขลู่กินกับน้ำพริกและใช้ปรุงอาหารพื้นบ้านเช่นยำและแกงคั่ว(4) ใบขลู่สด 100 กรัม มีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้(5) โปรตีน 1.8 กรัม ไขมัน 0.5 กรัม ใยอาหารแบบละลายน้ำ 0.5 กรัม ใยอาหารแบบไม่ละลายน้ำ 0.9 กรัม คาร์โบไฮเดรต 8.7 กรัม แคลเซียม 250 มิลลิกรัม เบต้า-แคโรทีน 1.2 มิลลิกรัม และ น้ำ 87.5 กรัม ทั้งนี้ปริมาณแคลเซียมและปริมาณเบต้า-แคโรทีนที่พบในใบขลู่สด 100 กรัมเป็นปริมาณที่ใกล้เคียงเคียงเทียบเท่ากับปริมาณแคลเซียมที่ได้จากการดื่มน้ำนม 1 แก้ว (8 ออนซ์)(6) และปริมาณเบต้า-แคโรทีนที่ได้จากการกินเนื้อฟักทองสุก 100 กรัม(7) ตามลำดับ เบต้า-แคโรทีนเป็นรงควัตถุสีเหลืองที่พบในพืชและมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่ดี อย่างไรก็ตามใบของต้นขลู่ที่ขึ้นตามธรรมชาติในป่าชายเลนอาจมีปริมาณโซเดียมสูงมากเนื่องมาจากต้นขลู่ได้รับเกลือโซเดียมคลอไรด์ (NaCl) ที่มาจากความเค็มของดิน(8) ดังนั้นผู้ที่ป่วยโรคความดันโลหิตสูงและโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจไม่ควรรับประทานใบขลู่ในปริมาณมาก
แพทย์แผนโบราณใช้ใบขลู่สดพอกรักษาแผลที่เกิดจากอาการเนื้อตาย (gangreous ulcer)(9) หรือนำใบขลู่มาชงชาหรือต้มเพื่อใช้รักษาอาการนิ่วในไต (ยาขับปัสสาวะ) อาการอักเสบ อาการปวดหลัง และ อาการตกขาว(9,10) ในประเทศอินโดนีเซียมีรายงานถึงการดื่มน้ำต้มใบขลู่เพื่อช่วยทำให้เจริญอาหารและช่วยการย่อยอาหารนอกจากนี้ยังมีรายงานการใช้น้ำต้มใบขลู่เป็นยาต้านจุลชีพ ยาแก้ท้องเสีย และยาบรรเทาอาการไอ รวมทั้งมีการใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์บำรุงผิวพรรณช่วยทำให้ผิวนุ่ม(11)
ใบขลู่มีสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพกลุ่มที่สำคัญคือกลุ่มฟีโนลิกและฟลาโวนอยด์ ใบขลู่ 100 กรัมมีกรดคลอโรจีนิก 20 มิลลิกรัม กรดคาเฟอิก 8.65 มิลลิกรัม และเคอร์ซิติน 5.21 มิลลิกรัม(11) ผลการวิจัยของ Andarwulan และคณะในปีพ.ศ. 2553 ได้แสดงให้เห็นว่าสารสกัดจากใบขลู่มีฤทธิ์ที่ดีในการต้านอนุมูลอิสระและสามารถยับยั้งการเกิดออกซิเดชั่นของลิปิดได้ดีมาก ซึ่งนอกจากนี้แล้วได้มีรายงานทางเภสัชวิทยาหลายฉบับยืนยันฤทธิ์ทางชีวภาพของใบขลู่ สรุปสาระสำคัญโดยย่อได้ดังนี้ สารสกัดจากใบขลู่ด้วยการแช่ในเอทานอลเข้มข้น 70% เป็นเวลา 2 วัน พบว่า มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ และลดการปวดในสัตว์ทดลอง(12) ซึ่งฤทธิ์ต้านการอักเสบได้รับการยืนยันซ้ำจากผลการศึกษาการใช้สารสกัดใบขลู่เฉพาะส่วนที่สามารถละลายได้ทั้งในเอทานอลและเอธิลอะซิเตต(13) สำหรับสารสกัดจากใบขลู่ด้วยการแช่ในเมทานอลเข้มข้น 80% เป็นเวลา 7-14 วัน พบว่ามีฤทธิ์ต้านโรควัณโรค(14)
เมื่อเร็วๆนี้ ได้มีรายงานการวิจัย 2 ฉบับเกี่ยวกับน้ำต้มใบขลู่ที่น่าสนใจมาก เป็นการศึกษาฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งของสารสกัดที่ได้จากการต้มผงใบขลู่ในน้ำร้อน (75-80 oซ) แล้วทำให้ส่วนสกัดน้ำแห้งด้วยวิธีระเหิดเป็นไอ (freeze dry) พบว่ามีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งสมอง และเซลล์มะเร็งปากมดลูกในจานเพาะเลี้ยงเซลล์ เมื่อใช้ที่ระดับความเข้มข้น 100-300 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร(15) ทั้งนี้ฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งคาดว่ามาจากสารกลุ่มฟีโนลิกและฟลาโวนอยด์ที่พบในใบขลู่ เพราะรายงานศึกษาด้านเภสัชวิทยาในอดีตแสดงให้เห็นว่ากรดคลอโรจีนิกมีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งในลำไส้ใหญ่และตับในสัตว์ทดลองได้ดี(16) ส่วนกรดคาเฟอิกมีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งปากมดลูกในจานเพาะเลี้ยงเซลล์ทดลอง(17) ต่อมาในปี พ.ศ. 2556 ได้มีรายงานการวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์การต้านการอักเสบของส่วนสกัดน้ำจากชาใบขลู่ที่ผลิตในจังหวัดจันทบุรีโดยการต้มชาขลู่ในน้ำเดือดเป็นเวลา 30 นาทีแล้วนำส่วนสกัดน้ำได้มาทำแห้งด้วยวิธีระเหิดเป็นไอ พบว่า ที่ความเข้มข้น 25-400 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ส่วนสกัดน้ำจากใบขลู่มีฤทธิ์ในการยับยั้งการผลิตสารสื่อกลางการอักเสบไนตริกออกไซด์ (nitric oxide ,NO) และพรอสตาแกลนดิน E2 (prostaglandin E2 ,PGE2) ในเซลล์แมคโครฟาจ RAW264.7 ที่ถูกกระตุ้นด้วยไลโพพอลิแซกคาไรด์ (lipopolysachharide) และพบว่า ส่วนสกัดน้ำจากใบชาขลู่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่ดีเช่นกัน(18)
สำหรับความเป็นพิษของสารสกัดจากใบขลู่นั้น เมื่อพิจารณาตามเกณฑ์องค์การอนามัยโลกจากค่า LD50 หรือค่าความเข้มข้นที่ทำให้สัตว์ทดลองตายลงครึ่งหนึ่งของจำนวนเริ่มต้น พบว่า จัดอยู่ในระดับอันตรายน้อย เนื่องจาก มีรายงานผลการทดสอบความเป็นพิษของสารสกัดจากแคลลัสของใบขลู่ที่ได้จากเลี้ยงในอาหารแข็งด้วยเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ (tissue culture) ด้วยเมทานอล ในหนูขาวใหญ่ มีค่า LD50 เท่ากับ 2.825 มิลลิกรัม/1 กิโลกรัมน้ำหนักตัวหนูทดลอง(19)
ถึงแม้ว่าปัจจุบันได้มีรายงานการศึกษาที่แสดงถึงฤทธิ์ทางชีวภาพของสารสกัดจากใบขลู่ในด้านการต้านทานอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ และต้านเซลล์มะเร็ง แต่การบริโภคใบขลู่สดหรือดื่มชาขลู่ในปริมาณที่สูงอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานอาจมีผลเสียต่อสุขภาพของร่างกายได้เช่นกัน การดื่มชาขลู่อาจทำให้รู้สึกตัวเบาเนื่องจากใบขลู่มีฤทธิ์เป็นยาขับปัสสาวะมีผลทำให้ปัสสาวะบ่อย หลักการดื่มชาขลู่เพื่อเสริมสร้างสุขภาพก็คล้ายกับการดื่มชาจีน ชาเขียวและชาสมุนไพรชนิดอื่นๆ คือ ควรดื่มในปริมาณที่พอเหมาะสมควรต่อวัน (1-2 แก้วต่อวัน) ดื่มระหว่างมื้ออาหาร และไม่ดื่มชาที่เหลือค้างคืน ทั้งนี้ควรสังเกตการณ์ตอบสนองของร่างกายว่ามีอาการผิดปกติหรือไม่ ถ้ามีควรงดการดื่ม คำแนะนำเพิ่มเติมสำหรับชาขลู่ มีดังนี้