เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


อโรมาเธอราพี (Aromatherapy)


รองศาสตราจารย์ ดร. อ้อมบุญ วัลลิสุต ภาควิชาเภสัชวินิจฉัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 90,085 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 29/09/2557
อ่านล่าสุด 3 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

อโรมาเธอราพี (Aromatherapy) หรือ สุคนธบำบัด คือ ศาสตร์ในการใช้น้ำมันหอมระเหยที่ได้จากการสกัดพืชหอม (ขอย้ำว่าต้องเป็นน้ำมันหอมระเหยที่ได้จากการสกัดจากพืชเท่านั้น) เพื่อการบำบัดรักษาหลายอาการ ตั้งแต่ อาการติดเชื้อต่างๆ โรคผิวหนัง ไปจนถึงภูมิคุ้มกันบกพร่องและความเครียด มีการใช้น้ำมันหอมระเหยในยุโรปมากว่าร้อยปี และมีการใช้ในการแพทย์ตะวันออกมานานกว่าพันปี แต่ในประเทศฝรั่งเศสมีการ ใช้สุคนธบำบัดทางการแพทย์อย่างเป็นระบบ และมีการวิจัยกันอย่างกว้างขวางทั่วโลกในทุกๆ ด้าน ส่วนสหรัฐอเมริกานิยมใช้สุคนธบำบัดร่วมกับการแพทย์ทางเลือกอื่นๆ ในการรักษาโรคต่างๆ 
ในประเทศไทยก็มีการใช้แบบพื้นบ้านเช่น การเข้ากระโจมแก้หวัด ผู้เขียนจำได้ว่าตอนเป็นเด็กเล็กเมื่อเป็นหวัดคุณแม่จะให้นั่งอยู่หน้ากาละมังเคลือบที่มีสมุนไพรเปราะหอม หอมแดง ใบมะขาม และเทน้ำเดือดลงไปพร้อมกับเอาผ้าเช็ดตัวคลุมโปงครอบไว้ทั้งตัว ไอหอมระเหยเข้าจมูกเข้าไปบำบัดอาการหวัด สักพักเมื่อน้ำพออุ่นๆ คุณแม่ก็จะเอาน้ำนั้นรดศีรษะไล่หวัดอีกรอบ เป็นอันว่าไปโรงเรียนได้ อดหยุดอยู่กับบ้าน ความรู้ติดตัวนี้ได้เอาไปใช้เมื่อผู้เขียนได้ไปทำงานที่ประเทศภูฏานแล้วเกิดเป็นไข้หวัดอย่างแรง โดยตื่นขึ้นมากลางดึกมีอาการปวดหัวมาก มีไข้ ปวดเมื่อยเนื้อตัว หายใจไม่สะดวก ถ้าเป็นประเทศไทยก็ไปโรงพยาบาล หรือ ให้ลูกดูแล แต่ที่นี่ภูฏาน แถมพาราเซตามอลก็หมด ยาสมุนไพรแก้หวัดก็หมดเพราะใจดีแจกคนอื่นด้วย เลยเข้าครัว โชคดีที่เปราะหอมก็เป็นเครื่องเทศอย่างหนึ่งและเคยซื้อไว้ แต่ไม่มีหอมแดงใช้หอมฝรั่งแทน ใบมะขามหาไม่ได้ แต่สองอย่างนี้ก็เพียงพอที่จะขจัดอาการทั้งหมดนี้ได้และกลับไปนอนพักต่อ ไปทำงานวันรุ่งขึ้นได้ ยังมีอีกมากมายที่เราใช้สืบต่อกันมา ใครจะแบ่งปันก็ขอขอบคุณล่วงหน้า 
แม้แต่การแพทย์แผนปัจจุบันก็มีการใช้ทิงเจอร์กำยาน (Benzoin Tincture) มีขายที่โรงพยาบาลศิริราช ซึ่งคุณพ่อของผู้เขียนใช้ในการรมจมูกเพราะท่านเป็นไซนัสอักเสบ และผู้เขียนก็ใช้เป็นประจำเมื่อมีอาการหวัดคัดจมูกร่วมกับการรมเปราะหอมและหัวหอม วิธีการใช้คือ หากระป๋องผลไม้ขนาดเท่าแก้วกาแฟซึ่งเป็นกระป๋องอลูมิเนียมเคลือบด้านใน ทำกรวยขนาดพอดีครอบปากกระป๋อง ใช้กระดาษแข็งพอม้วนได้ ตัดปลายแหลมให้มีช่องพอให้ไอระเหยออกมาได้ ต้มน้ำเดือดจัดเทลงในกระป๋อง สัก 3/4 กระป๋อง เททิงเจอร์กำยานลงไปประมาณ 5 ซีซี หรือหนึ่งช้อนชา รีบเอากรวยครอบ และเอาจมูกไปสูดดมที่ช่อง ระวังไอร้อนลวกจมูกจากการสูดดมใกล้เกินไป ควรใช้หลังมือสัมผัสไอที่ระเหยออกมาก่อนว่าร้อนไปหรือไม่และระยะห่างแค่ไหนจึงพอดี เราต้องการกลิ่นหอมไม่ใช่ความร้อน เมื่อเย็นลงจะสามารถสูดดมได้ใกล้ขึ้นๆ เมื่อไม่มีไอระเหยออกมาแล้ว เทน้ำทิ้งแล้วสูดดมสารหอมที่เหลือติดก้นกระป๋องทำให้หายใจโล่ง กระป๋องนี้เก็บไว้ใช้ได้อีกไม่ต้องล้าง เพราะกำยานใช้เป็นยากันบูดในยาไทยและเครื่องสำอาง ถ้าอยากล้างต้องใช้แอลกอฮอลละลายสารเรซินที่ติดอยู่ออกไปก่อนจึงล้างตามปกติได้ 
ในด้านวิทยาศาสตร์ อโรมาเธอราพี เป็นศาสตร์แขนงหนึ่งของ Herbal Medicine เพราะเป็นการใช้น้ำมันหอมระเหย (essential oil) ที่ได้จากการกลั่นพืชหอม หรือ ด้วยการสกัดด้วยวิธีต่างๆ โดยน้ำมัน (essence) ของพืชเหล่านี้มีคุณสมบัติในการรักษา ส่วนของพืชอาจจะเป็น ดอก ใบ กิ่ง เปลือก แก่น ยาง ผล หรือ เมล็ดก็ได้ แต่เนื่องจากมีปริมาณน้อยจึงต้องใช้วัตถุดิบพืชจำนวนมาก และส่งผลให้มีราคาแพง จึงมีการใช้กลิ่นสังเคราะห์ปนปลอม จึงขอเตือนว่าผู้ที่ต้องการผลบำบัดต้องใช้น้ำมันหอมระเหยจากพืชเท่านั้น ที่จริงแล้วส่วนที่ทำการบำบัดคือร่างกายเราเอง แต่โมเลกุลเล็กๆ หลายๆ โมเลกุลในน้ำมันหอมระเหยเข้าสู่สมองของเราผ่านประสาทรับกลิ่นที่อยู่ในโพรงจมูกด้านบน ซึ่งส่วนนี้ใกล้สมองมาก และทำให้เกิดปฏิกิริยาตอบสนองทางเภสัชวิทยาของร่างกายมนุษย์ 
ในน้ำมันหอมระเหยมีโมเลกุลเล็กๆ นับร้อยโมเลกุล และทุกๆ โมเลกุลล้วนมีผลต่อการบำบัดรักษา มิใช่แต่เพียงสารที่มีมากเท่านั้น น้ำมันหอมระเหยหลายๆ ชนิดมีส่วนประกอบที่คล้ายๆ กัน อาจต่างกันบ้างในบางโมเลกุลและสัดส่วน แต่ให้ผลการรักษาที่ต่างกัน รวมทั้งกลิ่นซึ่งมีความเฉพาะเจาะจงกับพืชแต่ละชนิด (essence) เช่น กลิ่นมะลิ ก็จะไม่พบในดอกกุหลาบ เป็นต้น 
ผลต่อร่างกาย (Physiological Effects) ของน้ำมันหอมระเหย เกิดเมื่อโมเลกุลเล็กๆ นับร้อยเหล่านี้ไปถึงสมองส่วนลิมบิค (limbic system) ซึ่งควบคุมอารมณ์และความรู้สึกโดยจะมีความสัมพันธ์กับประสบการณ์และความจำ และเนื่องจากสมองส่วนนี้เชื่อมต่อโดยตรงกับสมองที่ควบคุมการเต้นของหัวใจ ความดัน การหายใจ ความจำ ระดับความเครียด สมดุลย์ฮอร์โมน ดังนั้นการสูดดมน้ำมันหอมระเหยจึงเป็นวิธีที่ให้ผลทางร่างกายและระบบประสาทที่เร็วที่สุดทางหนึ่ง เพราะหลังจากการสูดดมน้ำมันหอมระเหยจะเข้าสู่กระแสเลือดโดยทางเนื้อเยื่อของปอด และจากระบบประสาทรับกลิ่นจะไปมีผลต่อสมองส่วนต่างๆ เช่น สมองส่วนคอร์เท็กซ์ มีผลต่อการเรียนรู้ (intellectual process) ต่อมพิทิวทอรี (pituitary gland) ซึ่งควบคุมระบบฮอร์โมนทั้งหมด รวมทั้งฮอร์โมนจากต่อมหมวกไต และสมองส่วนไฮโปธาลามัสซึ่งควบคุมความโกรธและความรุนแรง

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. เฉลิมชัย สมมุ่ง วิเชษฐ์ ลีลามานิตย์ ไม้กฤษณา (ไม้หอม) แก้ปัญหาความยากจนของคนไทย บริษัท ดาต้า เปเปอร์ แอนด์ พริ้นท์ จำกัด กรุงเทพฯ

-->

เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


อโรมาเธอราพี (Aromatherapy) 1 วินาทีที่แล้ว
ยาดมมีอันตรายหรือไม่ 34 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้