เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากรา Exserohilum rostratum : ปรากฏการณ์ในปี 2555


รองศาสตราจารย์ แม้นสรวง วุฒิอุดมเลิศ ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 17,980 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 30/10/2556
อ่านล่าสุด 1 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

Exserohilum rostratum (E. rostratum) เป็นราชนิดเส้นใย (filamentous fungi) ในกลุ่มที่เรียกว่า dematiaceous fungi เนื่องจากสร้างเม็ดสีได้ ทำให้เห็นรากลุ่มนี้มีสีเข้ม เช่น น้ำตาล ดำ เขียวออกดำ เป็นต้น พบได้ในธรรมชาติทั่วโลก เช่นจากดิน หญ้า พืชต่างๆ โดยเฉพาะแหล่งที่มีการเพาะปลูกและมีการก่อโรคเกิดขึ้น เช่น การเกิดโคนเน่าของข้าวสาลีและพืชตระกูลหญ้า โรคขอบใบแห้ง เป็นต้น ด้วยเหตุนี้จึงสามารถตรวจพบรา exserohilum และพวกพ้องที่มีสีเข้มดังกล่าวปนเปื้อนในเศษซากพืช วัสดุสิ่งของ และบรรยากาศทั่วไป เมื่อนำมาเพาะเลี้ยง โคโลนีจะเจริญบนจานอาหารเลี้ยงเชื้อ เห็นเป็นปุย มีสีเทาเข้ม หรือออกน้ำตาล-ดำ ข้างใต้โคโลนีมีสีเขียว-ดำ เมื่อนำมาดูโดยใช้กล้องจุลทรรศน์ พบเส้นใยที่มีช่องกั้น สร้างสปอร์ที่เรียกโคนิเดีย (conidia) ลักษณะยาวเป็นแท่ง แบ่งเป็นช่อง 1- 12 ช่อง โครงสร้างดังกล่าวนี้ สามารถขยายพันธุ์ได้ต่อไปในธรรมชาติ เมื่อปลิวตกอยู่ในที่ที่มีอาหารและสภาวะที่เหมาะสม 
แม้ว่า E. rostratum เป็นเชื้อราที่ก่อโรคในพืชบางชนิด แต่วิทยาการการตรวจเชื้อก้าวหน้าไปมาก ทำให้พบว่า E. rostratum สามารถก่อโรคได้ในคนโดยเฉพาะกับคนกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ที่ภูมิคุ้มกันต่ำ มีโรคเรื้อรังอื่นอยู่ก่อน เช่น โลหิตจาง หรือมีสาเหตุเหนี่ยวนำ เช่น มีบาดแผล รอยขีดข่วน หรือการใช้ยาต้านจุลชีพเป็นระยะเวลานาน โดย E. rostratum ทำให้เกิดไซนัสอักเสบที่อาจลามไปถึงระบบประสาทส่วนกลาง กระจกตาอักเสบ การติดเชื้อที่กระดูก โรคราที่ผิวหนัง/ใต้ผิวหนังและที่ลึกลงไปอีก คือ chromoblastmy cosis, mycetoma และ phaeohyphomycosis 
ในปี 2555 พบการปนเปื้อนของเชื้อนี้ในผลิตภัณฑ์สเตียรอยด์ที่ฉีดให้ผู้ป่วย โดย Centers for Disease Control ที่เมืองแอตแลนตา มลรัฐจอร์เจีย ร่วมกับองค์การอาหารและยา FDA (Food and Drug Administration) ของสหรัฐอเมริกา ตรวจสอบการระบาดของปรากฏการณ์เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากราที่ปนเปื้อนในยาฉีดสเตียรอยด์ พบผู้ป่วยทั้งหมด 47 คน ที่ได้รับยา มีอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และขณะนั้นผู้ได้รับการฉีดบางรายเสียชีวิตแล้ว ทั้งนี้จะต้องเข้าใจว่า การระบาดหรือปรากฏการณ์ที่เพิ่มจำนวนผู้ป่วยเยื่อหุ้มสมองอักเสบอย่างรวดเร็วครั้งนี้ มีสาเหตุจากการได้รับการฉีด methylprednisolone ที่ข้อต่อ เช่น หัวเข่า ไหล่ ข้อเท้า เป็นต้น โดยสเตียรอยด์นั้นมีราปนเปื้อนอยู่ ทำให้เกิดอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ไม่ใช่เป็นการระบาดจากการติดต่อ เมื่อนำน้ำหล่อสมองไขสันหลังจากผู้ป่วยมาวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ ทำให้พิสูจน์ได้ว่า สาเหตุเยื่อหุ้มสมองอักเสบของผู้ป่วย 45 จาก 47 ราย เกิดจากรา E. rostratum อีกสองรายมีราชนิดอื่น 
เหตุการณ์การระบาดของเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากรา (Multistate fungal meningitis outbreak) ที่เริ่มตั้งแต่พฤษภาคม 2555 ใน 20 รัฐของสหรัฐอเมริกา เมื่อตุลาคม 2555 ผู้ผลิตได้เรียกคืน methylprednisolone acetate (PF) จำนวน 3 รุ่นการผลิต ผลการตรวจโดย CDC และ FDA ในผลิตภัณฑ์ที่ยังไม่ได้เปิดใช้ พบว่าผลิตภัณฑ์สองในสามล็อต ของ New England Compounding Center ตรวจพบรา E. rostratum ที่เชื่อมโยงได้กับอาการป่วยจากการติดเชื้อราดังกล่าว ส่วนยาฉีดอีก 2 ล็อต ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ จากเหตุการณ์ทั้งหมด CDC และหน่วยงานทางสาธารณสุขคาดว่า จำนวนผู้ที่ได้รับการฉีด methylprednisolone ประมาณ 14,000 ราย จะพัฒนาการเจ็บป่วยอย่างช้าๆ หลังฉีด 1-4 อาทิตย์ ดังนั้นเมื่อเริ่มมีอาการผิดปกติ ผู้ป่วยควรรีบแจ้งแพทย์โดยเร็ว ผู้ที่ได้รับการฉีดใกล้สันหลัง เมื่อมีอาการน่าสงสัยเช่น ไข้ ปวดศีรษะ คอแข็ง คลื่นไส้ อาเจียน อาการไวต่อแสง และการเปลี่ยนแปลงด้านจิตภาวะ สำหรับการติดเชื้อที่มีอาการร่วมอื่น เช่น มีไข้ ปวดบวม แดง ร้อนที่ตำแหน่งการฉีด การมองเห็นภาพไม่ชัดเจน ที่ตา-เจ็บ บวม แดง มีขี้ตา หรือกรณีที่ติดเชื้อที่ทรวงอก ทำให้เจ็บหน้าอก มีของไหลจากตำแหน่งผ่าตัด เหล่านี้ ผู้ป่วยตัองปรึกษาแพทย์โดยด่วน 
ข้อแนะนำด้านสาธารณสุขสำหรับผู้ที่ภูมิต้านทานอ่อนแอ หรือมีโรคปอด เมื่ออยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อก่อโรคต่างๆ มีดังนี้

  • ใช้ผ้าปิดจมูก-ปาก (mask) เมื่อภาวะแวดล้อมเต็มไปด้วยฝุ่นละออง แถบที่มีการก่อสร้าง
  • เลี่ยงกิจกรรมที่ต้องสัมผัสดินหรือฝุ่นละออง เช่น การทำสวน พรวนดิน
  • พยายามปรับปรุงสภาวะอากาศที่แวดล้อม เช่น ใช้เครื่องกรองอากาศในห้อง
  • ในรายที่มีแพทย์ประจำตัว อาจมีการแนะนำยาที่ใช้ป้องกันการติดเชื้อจากรา
  • เมื่อมีบาดแผล รอยขีดข่วน ให้ล้างทำความสะอาดด้วยน้ำและสบู่ โดยเฉพาะเมื่อมีกิจกรรมที่ต้องสัมผัสดินโดยตรง หรืออยู่ในสภาวะที่มีคนทำสวน กวาดพื้น พรวนดิน เป็นต้น

 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Adler et al. Exserohilum: an emerging human pathogen. Eur J Clin Microbiol Infect Dis 2006; 25:247-253.
  2. Ahmadpour A. et al. Exserohilum rostratum causing sugarcane leaf in Iran. Australian Plant Dis Notes. 2013. DOI 10.1007/s13314-013-0105-y
  3. CDC official website: Multistate fungal meningitis outbreak (สืบค้นเมื่อ 31 กรกฎาคม 2556)
  4. Kauffman CA; et al. Fungal infections associated with contaminated methylprednisolone injections. N Eng J Med 2013;368:2495-500.
  5. Lin SH; et al. Characterization of Exserohilum rostratum, a new causal agent of banana leaf spot disease in China. Australian Plant Patho; 2011; 40:246-259.
  6. Revankar SG, Sutton Da. Melanized Fungi in Human Diseases. Clin Microbiol Rev 2010; 23(4):884-928.


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


หอมดอกปีบ 34 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้