เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ยาแก้ปวดศีรษะไมเกรน Ergotamine ใช้อย่างไรจึงจะปลอดภัย


คณาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
อ่านแล้ว 887,748 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 09/05/2553
อ่านล่าสุด 1 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

ไมเกรน (migraine) เป็นโรคปวดศีระษะที่พบได้บ่อยทั้งเด็กและผู้ใหญ่ สาเหตุของโรคเชื่อว่าอาจเกิดจากพันธุกรรม หรือ ปัจจัยกระตุ้น (trigger factor)จากสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่งผลทำให้หลอดเลือดแดง (vasodilation) ทั้งด้านในและด้านนอกกระโหลกเกิดการขยายตัวได้มากและง่ายกว่าคนปกติ และทำให้เกิดอาการปวดศีรษะในที่สุด การค้นหาปัจจัยกระตุ้นให้พบและหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นเหล่านั้นเป็นการป้องกันอาการปวดศีรษะไมเกรนที่ดีและปลอดภัย แต่อย่างไรก็ดีการใช้ยารักษาอาการปวดศีรษะไมเกรนก็อาจมีความจำเป็นในผู้ป่วยบางราย เช่น ผู้ป่วยที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นได้ หรือเมื่ออาการกำเริบผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะที่รุนแรง เป็นต้น ยาที่ใช้ในโรคปวดศีรษะไมเกรนอาจแบ่งได้เป็นสองประเภทใหญ่ๆ คือ ยาที่ใช้รักษาอาการปวดศีรษะไมเกรนฉับพลัน (abortive drugs)และยาที่ใช้ป้องกันการเกิดไมเกรน (preventive drugs) ซึ่งยาที่พบว่ามีการใช้บ่อยและมีข้อควรระวังในการใช้ยาค่อนข้างมาก คือ ยา ergotamine ซึ่งเป็นยาประเภทที่ใช้รักษาอาการปวดศีรษะไมเกรนฉับพลัน

Ergotamine คืออะไร

Ergotamine เป็นยาที่ใช้สำหรับรักษาอาการปวดศีรษะไมเกรน ออกฤทธิ์ในการรักษาอาการปวดศีรษะโดยการกระตุ้นตัวรับของสารสื่อประสาทซีโรโทนิน (serotonin) ชนิด 1B และ 1D (5-HT1B และ 5-HT1D) ซึ่งส่งผลให้หลอดเลือดที่ขยายตัวผิดปกติเกิดการหดตัวลงและทำให้อาการปวดศีรษะหายไปในที่สุด นอกจากนี้ ergotamine ยังสามารถกระตุ้นตัวรับอื่นๆ ได้ ได้แก่ α-1 และ dopamine-2 (D2) ซึ่งการกระตุ้นตัวรับเหล่านี้จะทำให้เกิดผลข้างเคียงจากยา ergotamine (รายละเอียดจะกล่าวต่อไปในหัวข้อ ข้อควรระวังในการรับประทานยา ergotamine )

ในประเทศไทยยา ergotamine มีชื่อทางการค้า เช่น Cafergot®, Avamigran® Tofago® หรือ Poligot-CF® ซึ่งประกอบไปด้วยตัวยาสำคัญ คือ ergotamine tartrate ขนาด 1 มิลลิกรัม ผสมอยู่กับ caffeine 100 มิลลิกร้ม ส่วน Ergosia®จะประกอบไปด้วยตัวยาสำคัญ คือ ergotamine tartrate ขนาด 1 มิลลิกรัม เพียงอย่างเดียวเท่านั้น

การใช้ยา ergotamine ที่ถูกต้องเป็นอย่างไร

การใช้ยา ergotamine สำหรับรักษาโรคปวดศีรษะไมเกรนจะต้องใช้เฉพาะเวลาที่มีอาการปวดเท่านั้น ห้ามใช้ติดต่อกันทุกวันเพื่อป้องกันอาการปวดศีรษะไมเกรนเด็ดขาด ขนาดการรับประทานยาที่เหมาะสม คือ รับประทานเมื่อมีอาการปวดศีรษะไมเกรนในครั้งแรก 1 หรือ 2 เม็ด จากนั้นทุกๆ ครึ่งชั่วโมงหากอาการไม่ดีขึ้นสามารถรับประทานซ้ำอีกครั้งละ 1 เม็ด แต่ห้ามรับประทานเกิน 6 เม็ดต่อวัน และห้ามรับประทานยาเกิน 10 เม็ด ต่อสัปดาห์ เนื่องจากหากรับประทาน ergotamine ในปริมาณที่มากกว่านี้อาจทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น รวมทั้งมีอาการเจ็บหน้าอก คลื่นไส้ อาเจียนมากกว่าเดิมได้

การใช้ยา ergotamine อย่างผิดวิธีส่งผลเสียอย่างไร

Ergotamine เป็นยาที่ใช้เฉพาะเวลาที่มีอาการปวดศีรษะกำเริบเท่านั้น แต่ผู้ป่วยบางรายกลับรับประทานยา ergotamine ติดต่อกันทุกวันเพื่อป้องกันไม่ให้มีอาการปวดศีรษะไมเกรน ซึ่งถือว่าเป็นการใช้ยาอย่างผิดวิธีที่อาจส่งผลเสียรุนแรงต่อชีวิตของผู้ป่วยได้ การรับประทานยา ergotamine ติดต่อกันไปเรื่อยๆ จะส่งผลทำให้ผู้ป่วยมีความดันโลหิตสูงขึ้น และเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดในสมองแตก หรือ หัวใจวายได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของหลอดเลือดหัวใจหรือหลอดเลือดสมองอยู่แล้ว นอกจากนี้ในระหว่างที่ผู้ป่วยรับประทานยา ergotamine ติดต่อกันทุกวันนั้น หลอดเลือดแดงที่ผิดปกติจะถูกยา ergotamine ทำให้หดตัวอยู่ตลอดเวลาซึ่งผู้ป่วยจะไม่มีอาการปวดศีรษะไมเกรนเลย แต่เมื่อใดที่หยุดรับประทานยาหลอดเลือดดังกล่าวจะขยายตัวอย่างมากและทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการปวดศีรษะไมเกรนอย่างรุนแรง (rebound headache )

ข้อควรระวังในการรับประทานยา ergotamine

ผู้ป่วยที่รับประทานยา ergotamine อาจมีอาการดังต่อไปนี้

- คลื่นไส้ อาเจียน:เป็นผลจากการกระตุ้นตัวรับ ชนิด D2 (D2-receptor) ซึ่งถ้าอาการรุนแรงสามารถแก้ไขได้โดยการรับประทานยาต้านอาเจียนกลุ่ม D2-receptor antagonist คือ domperidone

- ความดันโลหิตสูงขึ้น: เป็นผลจากการกระตุ้นตัวรับชนิด α1 (α1-receptor) ทำให้หลอดเลือดส่วนปลายหดตัว

- ปลายมือ-เท้าเย็น หรือ ชา(numbness):เป็นผลจากการกระตุ้น α1-receptorเช่นกัน หากมีอาการรุนแรงร่วมกับมีอาการปวดกล้ามเนื้อบริเวณแขน มือ ขา หรือเท้า ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีป

- ใจสั่น เจ็บหน้าอก: เป็นผลมาจากการกระตุ้นตัวรับ 5-HT1B ที่บริเวณหลอดเลือด coronary ที่หัวใจ หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบไปพบแพทย์

- ปฏิกิริยากับยาอื่นๆหรือ ยาตีกัน (drug interaction): ยา ergotamine ถูกทำลายโดยใช้เอนไซม์ที่มีชื่อว่า Cytochrome P450 ชนิด 3A4 (CYP 3A4) ดังนั้นอาจต้องระมัดระวังในการรับประทานร่วมกับยาที่มีผลยับยั้งเอนไซม์ดังกล่าว เช่น azithromycin, clarithromycin, ketoconazole, ritonavir หรือ verapamil เป็นต้น เนื่องจากการรับประทานยาร่วมกันจะส่งผลทำให้ระดับยา ergotamine ในกระแสเลือดสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้ป่วยอาจได้รับผลข้างเคียง หรือความเป็นพิษจากยาเพิ่มขึ้นได้ และเพื่อป้องกันการเกิด drug interaction ดังกล่าว ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งว่ายาที่ตนเองรับประทานอยู่มีอะไรบ้าง

ข้อห้ามใช้ของยา ergotamine

ผู้ป่วยที่ห้ามใช้ยา ergotamine ได้แก่

- ผู้ที่มีประวัติแพ้ยา ergotamine หรือสารที่เป็นอนุพันธ์ของ ergot alkaloid

- ผู้ป่วยที่มีประวัติหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน (peripheral arterial disease)

- ผู้ป่วยที่มีความบกพร่องในการทำงานของตับ และไต

- ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ (coronary artery disease) และกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (angina)

- ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่ยังควบคุมไม่ได้

- ผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือด (sepsis)

- ผู้หญิงตั้งครรภ์ (ทุกไตรมาส)


Ergotamineเป็นยารักษาอาการปวดศีรษะไมเกรนที่มีประสิทธิภาพดี แต่มีข้อควระวังและข้อห้ามใช้ค่อนข้างมาก ดังนั้น การรับประทานยาอย่างถูกต้อง และ การเฝ้าระวังผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น จึงเป็นหนทางที่จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากยา ergotamine ได้ดีที่สุด

บรรณานุกรม

  1. Ergotamine. In: DRUGDEX® Evaluations. [Online]. 2010 Jan 27. Available from: MICROMEDEX® Healthcare Series; 2010. [cited 2010 Apr 12].
แหล่งอ้างอิง/ที่มา
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


บวบขม 4 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้