เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ไซยาไนด์: ความเป็นพิษ อาการ และการแก้พิษเบื้องต้น


อ.ดร.ชัยวัฑฒน์ อ่อนศรี 

ภาควิชาเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 10,990 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 29/05/2566
อ่านล่าสุด 1 ช.ม.ที่แล้ว
https://tinyurl.com/2pxvcf6p
Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ https://tinyurl.com/2pxvcf6p
 

ข่าวสารที่ประชาชนให้ความสนใจในช่วงเดือนที่ผ่านมาหนึ่งคงหนีไม่พ้นกรณีฆาตกรรมต่อเนื่องด้วยสารพิษไซยาไนด์ ไซยาไนด์ (cyanide, CN-) จัดเป็นสารพิษอันตรายควบคุมชนิดที่ 3 ตามประกาศของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือครอบครองต้องได้รับใบอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม โดยทั่วไปไซยาไนด์สามารถพบได้ในรูปแบบเกลือของแข็งสีขาว เช่น โพแทสเซียมไซยาไนด์ (potassium cyanide; KCN) หรือ โซเดียมไซยาไนด์ (sodium cyanide; NaCN) ซึ่งเกลือดังกล่าวมีคุณสมบัติละลายน้ำได้ดี จึงอาจพบในรูปของสารละลายใสไม่มีสีได้เช่นกัน นอกจากนี้ยังอาจพบในรูปแก๊สไฮโดรเจนไซยาไนด์ (hydrogen cyanide; HCN) เมื่อผสมเกลือไซยาไนด์กับกรดเกลือ (hydrochloric acid; HCl) ซึ่งเป็นแก๊สที่ไม่มีสี แต่มีกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์คล้ายกลิ่นของถั่วอัลมอนด์ สารประกอบไซยาไนด์เหล่านี้มีการใช้ในอุตสาหกรรมหลายชนิด เช่น อุตสาหกรรมเหมืองทองคำ อุตสาหกรรมผลิตพสาสติก และเป็นองค์ประกอบในสารกำจัดแมลง ในพืชบางชนิด เช่น มันสำปะหลัง มันฝรั่ง เผือก หน่อไม้ ถั่วอัลมอนด์ สบู่ดำ เป็นต้น สามารถพบไซยาโนไกลโคไซด์ (cyanogenic glycoside) ซึ่งจะถูกย่อยด้วยเอนไซม์ในร่างกาย และปลดปล่อยไซยาไนด์อิสระที่เป็นพิษออกมา โดยไซยาโนไกลโคไซด์นี้จะถูกทำลายเมื่อโดนความร้อน ดังนั้นก่อนรับประทานพืชในกลุ่มนี้จึงควรปรุงให้สุก เพื่อป้องกันสารพิษของไซยาไนด์

ระดับของไซยาไนด์ที่จะแสดงความเป็นพิษในร่างกายมนุษย์ (lethal dose) คือ 0.5–3.5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมของน้ำหนักตัว เมื่อพิษไซยาไนด์เข้าสู่ร่างกายจะก่อให้เกิดอาการปวดศีรษะ ใจสั่น หน้าแดง หายใจติดขัด ชัก หรือหมดสติ หากได้รับในปริมาณมากอาจทำให้เสียชีวิตได้ เนื่องจากไซยาไนด์จะรวมตัวกับเฟอร์ริกไอออน (ferric ion; Fe3+) ของไมโอโกลบิน (myoglobin) ที่อยู่ในไมโตคอนเดรีย (mitochondria) ทำให้ขัดขวางกระบวนการหายใจระดับเซลล์ผ่านการยับยั้งกระบวนการลูกโซ่ของการถ่ายทอดอิเล็กตรอน (electron transport chain)

การรักษาภาวะเป็นพิษจากไซยาไนด์จะใช้สารละลายโซเดียมไนไตรท์ (sodium nitrite; NaNO2) สำหรับฉีดหรือเอมิลไนไตรท์ (amyl nitrite) สำหรับการสูดดม เพื่อเปลี่ยนเฟอร์รัสไอออน (ferrous ion; Fe2+) ในฮีโมโกลบิน (hemoglobin) ให้เป็นเฟอร์ริกไอออนในรูปเมธฮีโมโกลบิน (methemoglobin) ซึ่งจะแย่งจับกับไซยาไนด์แทนไมโอโกลบิน จากนั้นจะให้โซเดียมไทโอซัลเฟต (sodium thiosulfate; Na2S2O3) เพื่อเปลี่ยนไซยาไนด์เป็นไทโอไซยาเนต (thiocyanate; SCN-) และถูกขับออกทางไตต่อไป อย่างไรก็ตามการรักษาภาวะเป็นพิษจากไซยาไนด์นี้ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์เท่านั้น เนื่องจากภาวะเมธฮีโมโกลบินที่เกิดขึ้นอาจส่งผลให้เกิดภาวะขาดออกซิเจนของเนื้อเยื่อ และอวัยวะภายในร่างกาย

แม้ว่าปัจจุบันยังไม่มีวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นอย่างจำเพาะเจาะจงสำหรับผู้ที่สัมผัสกับไซยาไนด์ มีเพียงข้อแนะนำให้รีบเคลื่อนย้ายออกจากบริเวณที่มีการรั่วไหล และนำส่งโรงพยาบาลโดยทันที หากสัมผัสทางผิวหนังควรลดการสัมผัสด้วยการถอดเสื้อผ้าที่ปนเปื้อนออก แล้วทำความสะอาดบริเวณผิวสัมผัสด้วยน้ำสะอาด และสบู่ ไม่ควรกระตุ้นให้ผู้ป่วยอาเจียนหากได้รับผ่านการรับประทาน หากผู้ป่วยหยุดหายใจหรือหัวใจหยุดเต้นให้ช่วยเหลือด้วยการนวดหัวใจผายปอดกู้ชีพ (cardiopulmonary resuscitation; CPR) ห้ามใช้วิธีเป่าปากเพื่อป้องกันการได้รับพิษของผู้ช่วยเหลือ

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย พ.ศ. 2538 กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม [อินเตอร์เน็ต]. กรุงเทพฯ; 2538  [เข้าถึงเมื่อ 21 พ.ค. 2566]. เข้าถึงได้จาก: http://eis.diw.go.th/haz/hazard/sub_ laws/ l_38_20.htm
  2. อมรรัตน์ พรหมบุญ, สุนันทา รัตนาโภ และทิพย์มนต์ ภัทราคร. พิษไซยาไนด์: อันตราจริงหรือ? [อินเตอร์เน็ต]. กรุงเทพฯ; 2550 [เข้าถึงเมื่อ 21 พ.ค. 2566]. เข้าถึงได้จาก: http://www3.rdi.ku.ac.th/ exhibition/50/plant/03_plant/03_plant.html
  3. จุฑารัตน์ อาชวรัตน์ถาวร. ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับไซยาไนด์. กรุงเทพฯ: สำนักอุตสาหกรรมพื้นฐาน; 2547.
  4. ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล. Cyanide อันตรายที่ไม่ไกลตัว [อินเตอร์เน็ต]. กรุงเทพฯ; 2538 [เข้าถึงเมื่อ 21 พ.ค. 2566]. เข้าถึงได้จาก: https://www. rama.mahidol.ac.th/poisoncenter/th/bulletin/bul95/v3n2/Cyanide
  5. สัมมน โฉมฉาย. ภาวะเมธฮีโมโกลบินนีเมียจากพิษของสารกำจัดวัชพืช. ใน: จารุวรรณ ศรีอาภา, บรรณาธิการ. ยาต้านพิษ 4. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: สมาคมพิษวิทยาคลินิก; 2557. หน้า 68-74.
  6. โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์. ไซยาไนด์ (Cyanide) สารพิษอันตรายควรระวัง!!. [อินเตอร์เน็ต]. กรุงเทพฯ; 2566 [เข้าถึงเมื่อ 21 พ.ค. 2566]. เข้าถึงได้จาก: https://www.siphhospital.com/th/news/ article/share/cyanide
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

งานประชุมวิชาการที่กำลังเปิดรับสมัคร


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


1 วินาทีที่แล้ว
บวบขม 19 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้