ในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรในรูปแบบต่างๆ มากมาย เช่น ยาเม็ด ยาแคปซูล ยาเม็ดเคลือบ ยาน้ำ และยาครีม เป็นต้น โดยยาเม็ดเป็นรูปแบบที่ได้รับความนิยมมาก เนื่องจากมีความคงตัวดีทั้งทางกายภาพและเคมี และสะดวกในการรับประทาน สำหรับสูตรตำรับของยาสมุนไพรที่สามารถตอกอัดเป็นเม็ดได้นั้น จำเป็นต้องมีคุณสมบัติที่สำคัญ2 ประการ คือ ความสามารถในการไหลที่ดี เพื่อให้แต่ยาเม็ดแต่ละเม็ดมีขนาดรับประทานที่สม่ำเสมอ และความสามารถตอกอัดเป็นยาเม็ดได้ดีโดยทั่วไปจะใช้เทคนิคการทำแกรนูลเปียก กล่าวคือผสมผงสมุนไพรกับตัวยาช่วยต่างๆ ชนิดและปริมาณที่เหมาะสม เตรียมเป็นแกรนูลเปียกจากการใช้สารยึดเกาะและตัวทำละลายที่เหมาะสม ได้แก่ น้ำ และหรือเอธานอล เป็นต้น โดยใช้เครื่องผสมเปียกและเครื่องแร่ง นำไปอบแห้ง แร่งให้ขนาดเล็กสม่ำเสมอ ผสมสารหล่อลื่นชนิดต่างๆ แล้วนำมาตอกด้วยเครื่องตอกยาเม็ด
ยาเม็ดสมุนไพร คือยาสมุนไพรที่ถูกตอกให้มีรูปร่างแบนกลม วงรี เหลี่ยม หรือลักษณะสวยงามอื่นๆ มีลักษณะแข็ง สำหรับรับประทาน สารช่วยต่างๆ ในตำรับยาเม็ดสมุนไพร ประกอบด้วย
- สารยึดเกาะช่วยให้ผงยึดเกาะกัน นิยมใช้ในการเทคนิคการทำแกรนูลเปียก โดยเตรียมเป็นสารละลายยึดเกาะ ได้แก่ พีวีพี (PVP: polyvinylpyrrolidone)อะเคเชีย เจลาตินปริมาณที่ใช้ประมาณ 2- 4% โดยน้ำหนักแห้งของตำรับ โดยเตรียมในความเข้มข้นที่เหมาะสม นอกจากนี้แป้งเปียกความเข้มข้น 10% โดยน้ำหนัก อาจเตรียมจากแป้งมันสำปะหลัง แป้งข้าวโพดโดยปริมาณน้ำหนักแห้งที่ใช้ประมาณ 6% ของผงสมุนไพร เป็นต้น ผ่านแร่งเพื่อเตรียมแกรนูลเปียกเสร็จแล้วนำไปอบแห้ง และผ่านแร่งให้แกรนูลเล็กลงและขนาดสม่ำเสมอโดยเครื่องแร่งที่เหมาะสม เช่น เครื่องออสซิลเลตติงแกรนูเลเตอร์(oscillating granulator)เรียกสั้นๆ ว่า ออสซิลเลเตอร์
- สารช่วยแตกตัว ช่วยให้ยาเม็ดแตกตัวได้ดีในทางเดินอาหาร มีให้เลือกใช้ 2 แบบ แบบแรกออกฤทธิ์โดยการชุ่มน้ำ ราคาค่อนข้างถูก ได้แก่ แป้งชนิดต่างๆ อาจใช้ในปริมาณ 8-10% โดยน้ำหนักของตำรับแบบที่สองออกฤทธิ์โดยการพองตัว ราคาค่อนข้างแพงได้แก่ ครอสคาร์เมลโลสโซเดียม(croscarmellose sodium) และ โซเดียมสตาร์ชกลัยโคเลต (sodium starch glycolate) เป็นต้น แต่ใช้ในปริมาณน้อยกว่า คืออาจใช้ในปริมาณ 5% โดยน้ำหนักของตำรับ
- สารช่วยตอกตรง(direct compression filler) ช่วยให้ยาเม็ดสมุนไพรบางตำรับมีความแข็งเพิ่มขึ้นและความกร่อนลดลง จากเดิมที่ตอกแล้วไม่ค่อยแข็ง ได้แก่ ไมโครคริสตอลลีนเซลลูโลส (microcrystalline cellulose)เป็นต้น ข้อดีนอกเหนือจากนี้คือยาเม็ดจะแตกตัวได้เร็ว เพราะการพองตัวของสารชนิดนี้
- สารกลบรสกลบกลิ่น ในบางกรณี เช่น ยาเม็ดแก้ไอประสะมะแว้ง ผู้เขียนเคยใช้เจลาติน และอะเคเชีย กลบรสขมและกลบกลิ่นยาสมุนไพร รวมทั้งใช้เป็นสารยึดเกาะสองชนิดนี้ในอัตราส่วนที่เหมาะสม
- สารแต่งรสหวานหรือสารแต่งกลิ่น ช่วยกลบรสกลบกลิ่นตัวยาสำคัญและสีช่วยให้ยาเม็ดมีสีที่จูงใจผู้บริโภคสารแต่งรสหวานที่ใช้ได้แก่ ซูคาร์โลส เป็นต้น สารแต่งกลิ่นอาจเป็นกลิ่นผลไม้ และสีที่ใช้ จะต้องได้รับการยอมรับจาก อย. ว่าปลอดภัยและไม่เป็นพิษปัจจุบันสารแต่งกลิ่นผลิตในรูปผงกลมที่ง่ายต่อการเตรียมตำรับ แต่ต้องใส่ในปริมาณเล็กน้อย เพื่อไม่ให้ขัดขวางการไหลหรือการตอกยาเม็ด เนื่องจากมีคุณสมบัติค่อนข้างเหนียว
- สารหล่อลื่น/แท้ช่วยให้ตอกยาเม็ดได้ง่าย ผิวเรียบเป็นมันลดแรงเสียดทานขณะตอกยาเม็ด เช่น แมกนีเซียมสเตียเรตในปริมาณ 0.5 - 1.0% ของตำรับ เป็นชนิดหนึ่งของสารหล่อลื่น
- สารช่วยไหล ช่วยให้ผงไหลดี ได้แก่ fumed silicon dioxide ในปริมาณ 0.25% ของตำรับ เป็นต้น เป็นชนิดหนึ่งของสารหล่อลื่นเช่นเดียวกัน
- สารกันติด ช่วยให้ยาเม็ดไม่ติดสากและแม่พิมพ์ขณะตอก ได้แก่ แมกนีเซียมสเตียเรต fumed silicon dioxideในปริมาณที่กล่าวมา ทาลค์(talc) หรือแป้งชนิดต่างๆ ในปริมาณที่เหมาะสม เป็นต้นเป็นชนิดหนึ่งของสารหล่อลื่นเช่นเดียวกัน
วิธีการที่นิยมเตรียมกันคือ เทคนิคการทำแกรนูลเปียกดังกล่าว โดยใช้สารช่วยต่างๆ ลำดับ 1–4 ผสมกับยาสมุนไพรให้เข้ากันดีในเครื่องผสมแห้งที่เหมาะสม เช่นเครื่องผสมรูปตัววี หรือลูกบาศก์ และทำแกรนูลเปียกโดยใช้สารละลายยึดเกาะที่เหมาะสม เพื่อทำให้เกิดมวลชื้นในเครื่องผสมเปียก เช่น ซิกม่าเบลดมิกเซอร์ ดังแสดงในรูปที่ 1 ก. ข. และค. ตามลำดับและสามารถผ่านเครื่องทำแกรนูลเปียก เช่น เครื่องออสซิลเลเตอร์ เป็นต้น เข้าเครื่องอบแห้งในเวลาที่กำหนดโดยอบให้เหลือปริมาณความชื้นไม่เกิน3.5% โดยน้ำหนัก ดังแสดงในรูปที่ 2 ก. และ ข. และผ่านออสซิลเลเตอร์ให้ได้แกรนูลขนาดเล็กและสม่ำเสมอ ต่อมาก่อนตอกยาเม็ดให้ผสมแกรนูลแห้งกับสารช่วยลำดับ 5–8 ผสมแห้งให้เข้ากันดีในเครื่องผสมที่เหมาะสมเช่นเครื่องผสมรูปตัววี เป็นต้น จึงนำมาตอกยาเม็ดด้วยเครื่องตอกโรตารี่ ดังแสดงในรูปที่ 2 ค. ทำการควบคุมมาตรฐานต่างๆ ได้แก่ น้ำหนักยาเม็ดที่สม่ำเสมอไม่แปรปรวน มีความแข็งประมาณ 4-5 กิโลกรัม หรือมากกว่า ความกร่อนยาเม็ดไม่เกิน 1.0% มีความหนาสม่ำเสมอ และยาเม็ดแตกตัวในเครื่องทดสอบการแตกตัวภายในเวลาที่กำหนด(ไม่เกิน 30 นาที) เป็นต้น
จากประสบการณ์การผลิตยาเม็ดสมุนไพร ยาเม็ดสมุนไพรอาจแบ่งเป็น 3 ประเภท ด้วยกันดังนี้
- ยาเม็ดสมุนไพรพัฒนาจากผงสมุนไพรของชิ้นส่วนของต้นพืชชื่อเดียวกัน เช่น ผงฟ้าทะลายโจร (จากใบและกิ่ง) ผงใบมะขามแขก (Sennaalexandrina P. Miller.) เป็นต้น สารยึดเกาะที่น่าใช้ ได้แก่ แป้งเปียกจากแป้งมันสำปะหลังหรือแป้งข้าวโพด ปริมาณที่ใช้ประมาณ 6% โดยน้ำหนักแห้งของตำรับ เป็นต้น
- ยาเม็ดสมุนไพรจากตำรับยาสมุนไพรไทย (Thai Herb Recipe) หรือยาแผนไทย ของชิ้นส่วนที่แตกต่างของต้นพืชต่างชนิดเช่น กรณีศึกษาแรกเป็นยาเม็ดแก้ไอประสะมะแว้ง ซึ่งเลือกใช้ส่วนผสมของเจลาตินและอะเคเชียในปริมาณและสัดส่วนที่เหมาะสมเป็นสารยึดเกาะและกลบรสกลบกลิ่นยาสมุนไพรไทยโดยไม่ใช้สารช่วยแตกตัว เพื่อทำให้อมยาเม็ดในปากได้นานขึ้น กรณีตัวอย่างต่อมาเป็นยาเม็ดแก้ไข้จันทลีลา อาจใช้สารยึดเกาะที่น่าใช้ ได้แก่ แป้งเปียกจากแป้งมันสำปะหลังหรือแป้งข้าวโพด ปริมาณที่ใช้ประมาณ 6% โดยน้ำหนักแห้งของตำรับ เป็นต้น และกรณีตัวอย่างสุดท้ายเป็นยาเม็ดสหัศธารา ซึ่งใช้บรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ จะคล้ายคลึงในการเลือกใช้ PVP K-90 เป็นสารยึดเกาะ และเลือกใช้ไมโครคริสตอลลีนเซลลูโลสช่วยเพิ่มความแข็ง และลดความกร่อนของยาเม็ด รวมทั้งทำให้ยาเม็ดแตกตัวได้เร็วขึ้น เป็นต้น
- ยาเม็ดสมุนไพรผงสกัดหยาบ (crude extract) ที่ได้จากการแปรรูปน้ำคั้นสมุนไพร ได้แก่ กรณีศึกษาแรกเป็นผงสกัดหญ้าปักกิ่งที่ได้จากการพ่นแห้ง(spray drying) น้ำคั้นหญ้าปักกิ่ง ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้สารละลายยึดเกาะ แต่ผสมเปียกด้วยเอธานอลความเข้มข้นค่อนข้างสูงโดยปริมาตรในน้ำ เพื่อไม่ให้มวลชื้นที่ได้ไม่เหนียวเกินไป เมื่อตอกยาเม็ดจะมีสารสกัดหญ้าปักกิ่งราว 670 มก. ได้ความแข็งประมาณ 6 กิโลกรัม ใช้รับประทานเพื่อต้านเซลล์มะเร็ง อีกกรณีศึกษาเป็นผงสกัดที่ได้จากการอบแห้งเยือกแข็ง (freeze drying) น้ำคั้นดอกกระบองเพชร จะมี PVP K-90 เป็นสารยึดเกาะในปริมาณ 1% ของตำรับ และยาเม็ดมีสารสกัดดังกล่าว 670 มก. เช่นกัน กรณีหลังยาเม็ดที่ได้มีปัญหาการแตกตัวในน้ำช้ามากแม้จะใช้สารช่วยแตกตัวชนิดต่างๆ แล้วก็ตาม สาเหตุเป็นเพราะว่าสารเมือกในดอกกระบองเพชรจะต้านการแตกตัวของยาเม็ดผู้เขียนจึงพัฒนาเป็นยาผงและปรับรสหวานด้วยซูคาร์โลสในปริมาณเล็กน้อยสำหรับชงกับน้ำดื่มในลักษณะ 1 ซองต่อแก้ว