เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ไม้ประดับมีพิษ….คิดสักนิดก่อนจะปลูก


รองศาสตราจารย์ ดร.นพมาศ สุนทรเจริญนนท์ ภาควิชาเภสัชวินิจฉัย และสำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 193,295 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 17/02/2556
อ่านล่าสุด 35 นาทีที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

บ้าน เป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่มีความสำคัญกับการดำรงชีวิต ทุกคนอยากมีบ้านที่สวย น่าอยู่ และร่มรื่น ไม้ประดับที่สวยมีส่วนที่ทำให้บ้านน่าดู และสวยงามไม่เพียงแต่บ้าน ไม้ประดับที่มีดอกสีสวยงาม หรือมีรูปร่าง ทรงต้น และใบที่สวยงามสามารถจะนำไปประดับในสำนักงาน สนามเด็กเล่น หรือสวนสาธารณะ แต่ใครจะคิดว่าไม้ประดับที่สวยงามนั้นมีหลายชนิดที่มีพิษตั้งแต่ก่อเกิดพิษเล็ก ๆ น้อย ๆ จนถึงกับทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งความเป็นพิษจะขึ้นกับปริมาณที่สัมผัสหรือรับประทานเข้าไป และความทนทานต่อสารพิษของแต่ละบุคคล ซึ่งเด็กจะมีโอกาสเกิดพิษได้มากกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และความอยากรู้อยากเห็นของเด็ก นอกจากนี้ขนาดของสารพิษที่ก่อให้เกิดความเป็นพิษในเด็กก็มีค่าต่ำกว่าในผู้ใหญ่ สาเหตุความเป็นพิษที่เกิดขึ้นในเด็ก เนื่องจากไม้ประดับมีดอก และผลสีสวยดึงดูดใจให้ลิ้มลอง ส่วนในผู้ใหญ่มักเกิดจากการรับประทานหรือสัมผัสกับพืชที่ไม่รู้จักชื่อ หรือความเข้าใจผิดเนื่องจากพืชบางชนิดมีหลายชื่อ ชื่อพ้อง หรือการใช้สมุนไพรที่ไม่ถูกวิธีหรือเกินขนาดที่ควร ฉะนั้นพวกเราทุกคนควรจะต้องเรียนรู้ และศึกษาอย่างถ่องแท้ถึงชนิดและลักษณะของไม้ประดับมีพิษ สารสำคัญที่เป็นพิษ วิธีการป้องกันและรักษาขั้นเบื้องต้น เพื่อจะช่วยป้องกันการเกิดความเสียหาย และการสูญเสียที่จะเกิดขึ้น 
ไม้ประดับที่อาจจะก่อให้เกิดพิษได้ ได้แก่ 

1. พืชวงศ์ Agavaceae: 
เป็นพืชที่มีใบและทรงต้นที่สวย นำมาปลูกในสวนกันอย่างแพร่หลาย ส่วนใบมีสารแคลเซียมออกซาเลท ซึ่งจะทำให้ปากและลำคอเกิดการระคายเคืองได้ ถ้ารับประทานเข้าไป นอกจากนี้ขอบใบจะมีหนามแหลมถ้าสัมผัสถูกจะเป็นอันตรายต่อผิวหนังได้ 
ตัวอย่างพืชได้แก่ ป่านศรนารายณ์ (Agave americana L.), พระรามแผลงศร (A. americana L. var. marginata

2. พืชวงศ์ Amaryllidaceae: 
พืชวงศ์นี้มีสารพิษกลุ่มแอลคาลอยด์ เช่น lycorine, crinamine, criridine, narciclasine เป็นต้น พบได้ในส่วนหัวของพืช สารพิษเหล่านี้ถ้ารับประทานเข้าไปจะออกฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง และมีผลระคายเคืองเยื่อบุกระเพาะอาหาร ทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย 
ตัวอย่างพืชได้แก่ พลับพลึงดอกแดง (Crinum amabile), พลับพลึงดอกขาว (C. asiaticum
การรักษา 
ไม่แนะนำการทำให้อาเจียนเพราะคนไข้จะมีอาการอาเจียนอยู่แล้ว ควรจะล้างท้อง และใช้ถ่าน (activated charcoal) ในการดูดพิษแอลคาลอยด์ และควรให้เกลือแร่ป้องกันการสูญเสียน้ำ และแร่ธาตุ 
 

3. พืชวงศ์ Apocynaceae: 
พืชวงศ์นี้จะมีสารกลุ่มคาร์ดิแอคกลัยโคไซด์ ซึ่งมีผลกระตุ้นการเต้นของหัวใจ พืชกลุ่มนี้จะมีพิษเมื่อรับประทานเกินขนาด ส่วนใหญ่จะเกิดพิษกับเด็ก เนื่องจากรับประทานผลหรือดอกของพืชพิษเหล่านี้ ซึ่งมักจะมีสีสวย จะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุปาก และกระเพาะอาหาร เกิดอาการอาเจียน ท้องเดิน ปวดศรีษะและปวดท้อง หลังจากสารพิษถูกดูดซึมเข้าเส้นเลือด จะไปกระตุ้นหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นและเต้นผิดปกติ อาการดังกล่าวอาจอยู่ได้นานถึง 2-3 อาทิตย์ สารพิษนี้พบได้ในทุกส่วนของพืช โดยเฉพาะในส่วนเมล็ด 
ตัวอย่างพืช ได้แก่ ชวนชม (Adenium obesum), บานบุรีสีเหลือง (Allamanda cathartica), ยี่โถ (Nerium indicum), รำเพย (Thevetia peruviana), พญาสัตบรรณ (Alstonia scholaris
 
 

4. พืชวงศ์ Araceae: 
เป็นพืชพิษที่มีน้ำยางใส และแคลเซียมออกซาเลท ซึ่งถ้าสัมผัสทำให้ผิวหนังอักเสบ และถ้ารับประทานเข้าไปจะทำให้ปากและลิ้นพอง น้ำลายไหล ลิ้น เพดานปาก และหน้าบวมอย่างเห็นได้ชัด บางครั้งอาจมีอาการอาเจียนร่วมด้วย 
ตัวอย่างพืช ได้แก่ ใบ้สามสี (Aglaonema costatum), กระดาด (Alocasiaindica), กระดาดแดง (A. indicavar.metallica), กระดาดดำ (A. macrorhiza), บอนสี (Caladium bicolor), สาวน้อยประแป้ง (Dieffenbachia sequine), พลูฉีก (Monstera deliciosa
การรักษา 
ในกรณีที่สัมผัสกับน้ำยางให้ล้างด้วยน้ำและสบู่แล้วทาด้วยคาลาไมด์ และรับประทานยาแก้แพ้ ควรประคบบริเวณที่มีอาการด้วยน้ำเย็นจัดประมาณครึ่งชั่วโมง ถ้ายางเข้าตาควรล้างตาทันทีด้วยน้ำยาล้างตา หยอดตาด้วยยาหยอดตาที่มีตัวยาเป็นสเตียรอยด์ แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาล 
กรณีเพียงแต่เคี้ยวไม่ได้กลืนพืชลงไป รักษาโดยการใช้น้ำชะล้างปากและคอ เพื่อบรรเทาอาการปวดร้อนไหม้ที่ลิ้นและเยื่อบุช่องปาก รับประทานยาลดกรดครั้งละ 2 ช้อนโต๊ะทุกๆ 2 ชั่วโมง รับประทานยาแก้ปวดและยาแก้อักเสบอาการจะอยู่เพียง 2-3 วันก็สามารถรับประทานอาหารอ่อน ๆ ได้แต่ถ้าผู้ป่วยกลืนพืชพิษเข้าไปไม่ควรทำให้อาเจียน เพราะจะทำให้สารพิษสัมผัสเยื่อบุปากและคออีกครั้ง ควรส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว เพื่อล้างท้อง และให้การรักษาตามอาการ 

5. พืชวงศ์ Begoniaceae: 
เป็นไม้ประดับต่างถิ่นที่นำเข้ามา ใบและดอกมีสีสวยงาม แต่มีสารพิษ คือแคลเซียมออกซาเลท ซึ่งถ้ารับประทานเข้าไปจะระคายเคืองปากและลำคอ 
ตัวอย่างพืช ได้แก่ เบโกเนีย (Begonia semperflorencultorum

6. พืชวงศ์ Euphorbiaceae: 
เป็นพืชที่มีน้ำยางขาว ซึ่งมีสารพิษกลุ่ม phorbol ถ้าสัมผัสถูกจะมีอาการคัน ผิวหนังอักเสบ ถ้ารับประทานเข้าไปจะระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหาร ทำให้คลื่นไส้ อาเจียน และถ่ายท้องอย่างรุนแรง 
ตัวอย่างพืช ได้แก่ สลัดได (Euphorbia antiquorum), ส้มเช้า (E. ligularia), โป๊ยเซียน (E. milii), คริสต์มาส (E. pulcherrima),พญาไร้ใบ (E. tirucalli), สามเหลี่ยมญี่ปุ่น (E. trigona
หรือกลุ่มพืชที่มีน้ำยางใส และโปรตีนที่เป็นพิษ ถ้ารับประทานเข้าไปจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย อาจถ่ายเป็นเลือด ความดันโลหิตต่ำ 
ตัวอย่างพืช ได้แก่ ปัตตาเวีย (Jatropha integerrima), ฝิ่นต้น (J. multifida), หนุมานนั่งแท่น (J. podagrica
การรักษา 
ในกรณีที่สัมผัสกับน้ำยางใสให้ล้างด้วยน้ำและสบู่ แต่ถ้าถูกน้ำยางขาวซึ่งล้างด้วยน้ำและสบู่ไม่ออกให้ล้างหรือเช็ดด้วยแอลกอฮอล์ แล้วทาด้วยคาลาไมด์ และรับประทานยาแก้แพ้ ควรประคบบริเวณที่มีอาการด้วยน้ำเย็นจัดประมาณครึ่งชั่วโมง ถ้ายางเข้าตาควรล้างตาทันทีด้วยน้ำยาล้างตา หยอดตาด้วยยาหยอดตาที่มีตัวยาเป็นสเตียรอยด์ แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลกรณีกลืนกินพืชพิษ ทำให้คนไข้อาเจียนและรับประทานยาเคลือบกระเพาะอาหารและลำไส้ และรีบส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุดเพื่อล้างท้อง หรือให้รับประทานยาถ่ายเพื่อลดการดูดซึมสารพิษ 
 

7. พืชวงศ์ Liliaceae: 
พืชวงศ์นี้นิยมตัดดอกเป็นไม้ประดับ ได้แก่ ดอกลิลลี่ แต่ประเทศไทยจะมีต้นดองดึง (Gloriosa superba) ซึ่งดอกมีสีสวยงาม แต่ส่วนของเมล็ดและเหง้าจะมีสารโคชิซีน ซึ่งเป็นสารพิษ ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน ท้องเดิน อาจถ่ายเป็นน้ำ และมีเลือดปน ไตอาจจะถูกทำลาย กล้ามเนื้อเปลี้ย และระบบประสาทส่วนกลางเป็นอัมพาตทำให้ตายได้ 
การรักษา 
ไม่แนะนำการทำให้อาเจียนเพราะคนไข้จะมีอาการอาเจียนอยู่แล้ว ควรจะล้างท้อง และใช้ถ่าน (activated charcoal) ในการดูดพิษแอลคาลอยด์ และควรให้เกลือแร่ป้องกันการสูญเสียน้ำ และแร่ธาตุ 
 

8. พืชวงศ์ Meliaceae: 
พืชวงศ์นี้เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก-กลาง นิยมปลูกในสวนสาธารณะและหมู่บ้าน เนื่องจากมีทรงต้นและใบที่สวย ตัวอย่างเช่น สะเดา (Azadirachta indica var. siamensis)และเลี่ยน (Meliaa zedarach) เมล็ดสะเดามีสาร azadirachtins ซึ่งเป็นยาฆ่าแมลง ส่วนเมล็ดเลี่ยนมีสารพิษ(meliatoxin)ที่มีฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งอาจจะทำให้ชัก กล้ามเนื้อเกิดอาการเกร็ง กระตุก คนไข้อาจเสียชีวิตเนื่องจากระบบหายใจล้มเหลว 
 

9. พืชวงศ์ Solanaceae: 
พืชวงศ์นี้มีดอกที่สวย แต่ใบและเมล็ดจะมีสารพิษกลุ่มแอลคาลอยด์ ถ้าเป็นลำโพงจะมีสารพิษกลุ่มโทรเปนแอลคาลอยด์ ถ้ารับประทานเข้าไปจะทำให้ปากแห้ง คอแห้ง ลำไส้คลายตัว และมีผลต่อระบบประสาททำให้เกิดประสาทหลอนได้ที่เรียกว่า “บ้าลำโพง” แต่ถ้าเป็นราตรี (Cestrum nocturnum)จะมีสารพิษ solanine ซึ่งถ้ารับประทานเข้าไปจะระคายเคืองต่อทางเดินอาหาร เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน และท้องเดิน 
การรักษา 
ในกรณีที่รับประทานเข้าไปควรส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว เพื่อล้างท้อง ขัดขวางการดูดซึมสารกลุ่มโทรเปนแอลคาลอยด์หรือให้ผงถ่านแล้วให้ยาถ่าย และใช้เครื่องช่วยหายใจ ถ้าจำเป็น 
 

10. พืชวงศ์ Verbenaceae: 
ต้นเทียนหยด (Duranta repens) เป็นพืชที่มีดอกและผลที่มีสีสวยดึงดูดใจ ส่วนผลมีสารกลุ่มซาโปนิน ถ้ารับประทานจะระคายเคืองต่อกระเพาะและถูกดูดซึม ทำให้เม็ดเลือดแตกได้ ส่วนผลของผกากรอง (Lantana camara) มีสารพิษกลุ่มไตรเทอร์ปีน ถ้ารับประทานจะทำให้อ่อนเพลีย กล้ามเนื้อไม่ประสานกัน มึนงง อาเจียน ม่านตาขยาย ตัวเขียว ท้องเดิน หมดสติ และตายในที่สุด 
การรักษา 
ทำให้พิษลดลงหรือได้รับการดูดซึมน้อยที่สุด ได้แก่ การทำให้อาเจียน และให้สารหล่อลื่น เช่น นม หรือไข่ขาว ขณะพักฟื้นให้ทานอาหารอ่อน ๆ ให้น้ำเกลือ ในกรณีมีการสูญเสียน้ำและเกลือแร่มาก 
จะเห็นได้ว่าไม้ประดับที่เป็นพิษที่ได้กล่าวมาข้างต้นยังเป็นไม้พิษที่มีปัญหาในประเทศไทย จึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่นักภูมิทัศน์ต้องพิจารณาถึงพิษของไม้ประดับด้วย มิใช่พิจารณาเพียงแต่ความสวยงามของพืชเท่านั้น ทั้งนี้จะได้เป็นการลดความเสี่ยงจากไม้ประดับที่เป็นพิษได้ 

 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. นพมาศ สุนทรเจริญนนท์. พืชพิษ (Poisonous Plants). ใน รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล และคณะ (บรรณาธิการ).สมุนไพร: ยาไทยที่ควรรู้. กรุงเทพมหานคร: บริษัทอมรินทร์พริ้นติ๊งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), 2542.
  2. ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันทน์. ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม. กรุงเทพมหานคร: บริษัทประชาชน จำกัด, 2544.
  3. Benezra C, Ducombs G, Sell Y, et al. Plant Contact Dermatitis. Philadephia: C.V. Mosby Company, 1985.
  4. Bruneton J. Toxic Plants: Dangerous to Humans and Animals. Paris: Lavoisier Publising Inc., 1999.
  5. Hart NK, Lamberton JA, Sioumis AA, et al. Triterpenes of toxic and non-toxic taxa of Lantana camara. Experientia 1976; 32: 412-3.
  6. Hiraoka N, Tashimo K, Kinoshita C, Hirooka M. Genotype and alkaloid contents of Datura metel varieties. Biol Pharm Bull 1996; 19(8): 1086-9.
  7. Lampe KF, Fagerstrom R. Plant Toxicology & Dermatitis. Baltimore: William & Wilkins Company, 1968.
  8. Mendis S. Colchicine cardiotoxicity following ingestion of Gloriosa superba tubers. Postgrad Med J 1989; 65(768): 752-5.
  9. Morton J. Plants Poisonous to People in Florida and Other Warm Areas. 3rd ed. Miami: Hallmark Press, 1995.
  10. Nagaratnam N, De Silva DP, De Silva N. Colchicine poisoning follow ingestion of Gloriosa superba tubers. Trop Geogr Med 1973; 25(1): 15-7.
  11. Sharma OP, Makkar HPS, Dawra RK.A review of the noxious plant Lantanacamara. Toxicon 1988; 26: 975-87.
  12. Walter WG, Khanna PN. Chemistry of the aroids I Dieffenbachia seguine, amoena, and picta. Econ Bot 1972; 26(4): 364-72.
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


ยาบ้า 41 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้