เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


หน้าสวยด้วย “ทานาคาของเมียนม่าร์หรือกระแจะของไทย”


รศ.พร้อมจิต ศรลัมพ์ สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 108,515 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 26/10/2555
อ่านล่าสุด 2 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 




 

 

ในบ้านของสาวชาวเมียนม่าร์จะต้องมีท่อนไม้ทานาคา (Thanakha)วางอยู่ทุกครัวเรือน ทานาคาเป็นเครื่องประทินผิวแบบโบราณที่ยังคงมีศักยภาพในสังคมปัจจุบันและได้พัฒนาต่อยอดเป็นเครื่องสำอางขายทั้งในประเทศเมียนม่าร์และประเทศใกล้เคียง พวกเธอจะฝนเนื้อไม้ที่มีสีขาวนวลจนถึงเหลืองกับน้ำเล็กน้อยบนแผ่นหินกลมที่มีร่องใกล้ขอบให้น้ำส่วนเกินไหลออกมา จะมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ใช้ทาผิวหนัง ทำให้ผิวเนียนสวยลดความมันบนใบหน้า แต่ไม่ทำให้ผิวหน้าแห้ง ลดรอยเหี่ยวย่น ป้องกันผิวหน้าจากแสงแดด ป้องกัน และรักษาสิว ฝ้าด้วย (1)

ต้นทานาคามีชื่อวิทยาศาสตร์ว่าHesperethusa crenulata(Roxb.) Roem.และมีชื่อพ้องว่า Naringi crenulata(Roxb.) Nicolson เป็นไม้ต้นขนาดเล็ก สูง 3 - 8 ม. วงศ์เดียวกับมะนาว คือ Rutaceaeชื่อไทยคือ กระแจะ ที่จังหวัดราชบุรีเรียกว่า พญายา ทางเหนือเรียก ขะแจะ ตะวันออกเฉียงเหนือเรียก ตุมตัง ชาวมอญเรียก ตะนาว(2)พบในเขตร้อนชื้นของเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยและเมียนม่าร์ ตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง ที่มี ความสูงจากระดับน้ำทะเล100 - 400 ม.มีดอกราวเดือนมีนาคม ถึงพฤษภาคมผลจะแก่ราวเดือนพฤษภาคม ถึง ตุลาคม(1)ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดปักชำด้วยกิ่งอ่อนหรือรากก็ได้

ตำรายาไทยใช้กระแจะเป็นยาใบแก้ลมบ้าหมูรากเป็นยาถ่ายผลเป็นยาบำรุงแก่นดองเหล้ากินแก้กษัย (การป่วยที่เกิดจากหลายสาเหตุทำให้ร่างกายเสื่อมโทรม ซูบผอม โลหิตจาง ซูบผอม) โลหิตพิการ ดับพิษร้อนยาพื้นบ้านใช้ต้นต้มน้ำดื่ม ครั้งละครึ่งแก้ววันละ 3 ครั้ง เช้า กลางวัน เย็น แก้ปวดตามข้อ ปวดเมื่อย เส้นตึง แก้ร้อนในแก้โรคประดง (อาการโรคผิวหนังมีผื่นคัน เป็นเม็ดขึ้นคล้ายผด คันมากมักมีไข้ร่วมด้วย)(2)

จากการวิจัยพบว่ามีสารสำคัญชื่อ marmesin เป็นสารกรองแสงอัลตร้าไวโอเลต (3) แสงอัลตร้าไวโอเลตก่อให้เกิดการเสื่อมของเซลล์ผิวหนังโดยกระตุ้นการสังเคราะห์
เอนไซม์แมทริกซ์-เมทัลโลโปรตีเนส-1(matrix-metalloproteinase-1, MMP-1) ซึ่งจะไปตัดเส้นใยโปรตีนคอลลาเจนที่ช่วยคงความแข็งแรงและยืดหยุ่นของเนื้อเยื่อผิวหนังและลดการสังเคราะห์โปร-คอลลาเจนพบว่าสารสกัดลำต้นกระแจะสามารถยับยั้งMMP-1และเพิ่มการสร้างโปร-คอลลาเจน จึงพิสูจน์ภูมิปัญญาที่ชาวเมียนมาร์ใช้ได้ดี (5)

นอกจากนั้นผงกระแจะและสารสกัดน้ำยังแสดงฤทธิ์ต้านการออกซิเดชั่น ลดการเสื่อมของเซลล์ ต้านการอักเสบ และมีสาร suberosin ที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย (4) ช่วยป้องกันและรักษาสิวด้วย

สาวชาวเมียนมาร์ทำงานตากแดดแต่ผิวสวยใส เพราะพบว่าลำต้นกระแจะที่เก็บจากภาคต่าง ๆ และตัวอย่างที่ซื้อจากชายแดนแม่สอด มีสารอาร์บูติน (Arbutin) 1.711 -0.268 มคก./ก. (1)สารชนิดนี้มีฤทธิ์ยับยั้งกระบวนการสร้างเม็ดสีเมลานินได้ เมลานินเป็นต้นเหตุของฝ้า กระและรอยหมองคล้ำด่างดำของผิว กระแจะยังมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่กระตุ้นในเกิดเม็ดสีเมลานิน เรียกว่าร่วมด้วยช่วยกันในการออกฤทธิ์ทีเดียว (4)

ส่วนกลิ่นหอมของกระแจะมาจากสารกลุ่มคูมาลิน(coumarins)4 ชนิด (6) ที่สำคัญคือไม่มีความเป็นพิษต่อหน่วยพันธุกรรม และความเป็นพิษต่อเซลล์ด้วย (4)

ขณะนี้มีการพัฒนารูปแบบของทานาคาให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตคนยุคนี้มากขึ้น โดยจะเห็นผลิตภัณฑ์ผงบดละเอียดนำมาใช้ได้เลย ไม่ต้องฝนอย่างแต่ก่อน เป็นครีมก็มี อย่างไรก็ตามทุกสิ่งทุกอย่างมีประโยชน์ต่อคนหนึ่ง อาจทำให้อีกคนหนึ่งแพ้ก็ได้ก่อนใช้ควรทดลองใช้กับท้องแขนของเราก่อน ถ้าไม่มีอาการผิดปกติจึงใช้กับใบหน้า จะได้สวยใส ปลอดภัย และสบายใจ

 

 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Kanlayavattanakul M, Phrutivorapongkul A, Lourith N, Ruangrungsi N. Pharmacognostic specification of Naringi crenulata stem wood.J Health Res 2009;23(2):65-9.
  2. พร้อมจิต ศรลัมพ์ และคณะ, บรรณาธิการ. สมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. กรุงเทพฯ: บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งกรุ๊พ จำกัด, 2535.
  3. Joo SH, Lee SC,Kim SK.  UV absorbent, marmesin, from the bark of Thanakha, Hesperethusa crenulata L.J Plant Biol2004;47(2):163-5.
  4. Wangthong S, Palaga T, Rengpipat S, Wanichwecharungruang SP, Chanchaisak, P. and Heinrich, M. Biological activities and safety of Thanaka (Hesperethusa crenulata) stem bark. J Ethnopharmacol 2010;132(2):466-72.
  5. Amornnopparattanakul P, Khorana N, Viyoch J. Effects of Hesperethusa crenulata’s bark extract on production of pro-collagen type I and inhibition of MMP-1 in fibroblasts irradiated UVB. International Conference on Biological, Biomedical and Pharmaceutical Sciences (ICCEPS' 2012), Pattaya, 28-29 July, 2012.
  6. Nayar MNS, Bhan MK.  Coumarins and other constituents of Hesperethusa crenulata. Phytochemistry1972;11(11):3331-3.


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด



อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้