เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


คำแนะนำการเลือกใช้ครีมกันแดด


รศ. ดร. พิมลพรรณ พิทยานุกุล ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 34,214 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 02/09/2555
อ่านล่าสุด 1 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

บทนำ 
หน้าร้อนปีนี้ร้อนกว่าปีก่อนๆ อย่างชัดเจน อุณหภูมิขึ้นไปสูงสุดถึงกว่า 41° ซ แสงแดดจัดและจ้ามากตั้งแต่เช้าตรู่ อบอ้าวจนอึดอัด ผู้คนที่ต้องเดินทางบนท้องถนนต้องได้รับทั้งรังสีความร้อนและรังสีอุลตร้าไวโอเลตอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก สภาวะโลกร้อนแผ่กระจายไปทั่วทุกมุกโลก ชั้นบรรยากาศของโลกถูกทำลายมากขึ้น ทำให้รังสีดวงอาทิตย์สามารถทะลุทะลวงพื้นโลกมากขึ้น อันตรายที่เกิดจากรังสีดวงอาทิตย์ก็ยิ่งน่ากลัว ความจำเป็นในการเลือกใช้ครีมกันแดดเพื่อปกป้องผิวหน้าและผิวกายนอกร่มผ้าจึงสำคัญต่อสุขภาพกายอย่างยิ่ง 
ข้อมูลจากต่างประเทศพบว่าผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการป้องกันอันตรายจากรังสีดวงอาทิตย์มาก มีสถิติค่อนข้างสูงในการใช้ครีมกันแดดเป็นประจำทุกวัน วัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการเกิดริ้วรอยก่อนวัยสูงถึงร้อยละ 50 ในสหรัฐอเมริกา และร้อยละ 35 ในยุโรป ส่วนผู้ที่ใช้ครีมกันแดดเป็นประจำทุกวันเพื่อป้องกันมะเร็งผิวหนังสูงถึงร้อยละ 80สำหรับประชากรในสหรัฐอเมริกา และเฉลี่ยประมาณร้อยละ 50 สำหรับในยุโรป 
ในปี 2555 ตั้งแต่เดือนมิถุนายนนี้เป็นต้นไปนั้นสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาได้ออกข้อกำหนดสำหรับฉลากของครีมกันแดดที่จำหน่ายในท้องตลาด หากต้องการโฆษณาว่าสามารถป้องกันความเสี่ยงจากมะเร็งผิวหนังหรือป้องกันการเกิดริ้วรอยก่อนวัยต้องมีค่า SPF 15 หรือสูงกว่า และหากโฆษณาว่าสามารถกันน้ำได้ (water resistant) ต้องระบุให้ชัดเจนบนฉลากว่ากันน้ำได้ 40 หรือ 80 นาที ซึ่งหมายถึงความถี่ที่ผู้บริโภคต้องทาครีมกันแดดซ้ำทุกทุก 40 หรือ 80 นาทีเมื่อลงว่ายน้ำหรือสำหรับผู้ที่เหงื่อออกง่ายหรือสำหรับผู้ที่ออกกำลังกายและมีเหงื่อออกมากซึ่งจำเป็นต้องทาครีมกันแดดซ้ำเป็นระยะ ส่วนนิตยาสารดังคือ Reader’s Digest แนะนำให้ผู้บริโภคทาครีมกันแดดเป็นประจำหรือให้บ่อยที่สุดเพื่อป้องกันอันตรายจากรังสีดวงอาทิตย์และแนะนำให้ใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF 30 หรือสูงกว่า แนะนำให้ผู้ที่มีผิวแพ้ง่ายให้เลือกใช้ครีมกันแดดที่ปราศจากน้ำหอมและปราศจากการเติมแต่งสี พร้อมทั้งแนะนำให้เลือกใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนผสมของสารกรองรังสียูวีชนิดฟิสิคอล คือ ไทเทเนี่ยม ไดออกไซด์ซึ่งจะปลอดภัยและไม่ทำให้เกิดอาการแพ้หรือระคายเคืองต่อผิวหนัง 
จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้นจะพบว่าแม้ในประเทศทางตะวันตก จะมีความเข้มของรังสีดวงอาทิตย์น้อยกว่าประเทศไทยมากๆ แต่ประชากรมีความระมัดระวังต่ออันตรายจากรังสีดวงอาทิตย์มากโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะโลกร้อนที่ทำให้ปริมาณรังสีดวงอาทิตย์ตกกระทบพื้นโลกสูงขึ้นทุกวัน 
แสงแดดแม้จะมีคุณอนันต์ต่อสิ่งมีชีวิต และมนุษย์บนโลก แต่ก็แฝงอยู่ด้วยอันตราย เมื่อร่างกายถูกแสงแดดปริมาณมากเกินไป อาจทำให้เรามีอาการวิงเวียน หน้ามืด เป็นลม หรือในเวลาที่สะสมรังสีนานกว่านั้น จะทำให้ผิวคล้ำ แดดเผา และบางราย อาจถึงกับผิวหนังอักเสบปวดแสบปวดร้อน หรือ เป็นโรคมะเร็งที่บริเวณผิวหนังได้ มนุษย์เรารับความรู้สึกและสัมผัสได้กับรังสีจากดวงอาทิตย์ เพียง 2 ชนิด คือ รังสีของแสงสว่าง ที่สามารถรับได้ทางตา จากการมองเห็น และรังสีความร้อน จากความรู้สึกสัมผัส จากทางร่างกาย เรารู้สึกร้อนมาก 
เมื่อเราเดินอยู่ท่ามกลางแสงแดด และรู้สึกหนาว ในเวลากลางคืน ที่ไม่มีแสงอาทิตย์ ดวงตามนุษย์ มองเห็นแสงอาทิตย์เป็นสีขาว แต่นักวิทยาศาสตร์ใช้ปริซึม สามารถแยกรังสีแสงออกได้ถึงเจ็ดสี คือ สีของรุ้งกินน้ำ ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติ 
รังสีที่ตาคนเรามองไม่เห็นคือรังสียูวี คือ ตัวย่อของคำว่า รังสีอัลตราไวโอเลต นักวิทยาศาสตร์ สามารถแยกออก เป็นสามกลุ่มตามพลังงาน ได้แก่ UV-A, UV-B และ UV-C โดยที่ UV-C มีพลังงานสูงสุด รังสีชนิดนี้ จะถูกชั้นบรรยากาศของโลกกั้นไว้ ส่วนรังสี UV-A และ UV-B จะตกกระทบถึงพื้นโลก รังสียูวีมีอันตรายต่อคนเรามาก ในทางการแพทย์พบว่า เมื่อร่างกายได้รับรังสียูวีในปริมาณมาก จะเป็นผลทำลายดีเอนเอของเซลผิวหนัง ทำลายเลนส์และม่านตาทำให้เกิดต้อกระจกในตา และอาจเป็นบ่อเกิดมะเร็งผิวหนัง รังสี UV-A สามารถทะลุทะลวงลงสู่ผิวหนังชั้นล่างได้ ทำลายเนื้อเยื่อและดีเอนเอของเซลผิวอันเป็นสาเหตุให้ผิวหนังเหี่ยวย่น ส่วน UV-B นั้นสามารถทะลุถึงชั้นหนังกำพร้าเท่านั้น ดังนั้นอาการผิวไหม้จากแดดเผาจึงเกิดจากผลของรังสียูวีบี 
ข้อมูลที่รวบรวมมาให้นี้คงเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคไทยที่ต้องเล็งเห็นอันตรายจากรังสีดวงอาทิตย์ ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดจ้าโดยตรงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระหว่างเวลา 10 โมงเช้าถึง บ่าย 4 โมงเย็นซึ่งมีรังสียูวีมาก (สูงสุดช่วงเที่ยงถึงบ่ายโมง) การหลบแดดใต้ต้นไม้ใหญ่ การถือร่มบังแดด การใส่เสื้อผ้าแขนยาวกางเกงขายาว การใส่แว่นกันแดดชนิดกรองรังสียูวี รวมถึงการเลือกใช้ครีมกันแดดเป็นประจำอย่างน้อยมีค่า SPF 15 หรือสูงกว่าและควรเลือกครีมกันแดดที่สามารถกรองรังสีทั้งชนิดยูวีเอและยูวีบีได้ด้วยจึงจะปลอดภัย

แหล่งอ้างอิง/ที่มา


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


15 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้