เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

เหตุการณ์สำคัญในเภสัชมหิดล


เภสัชฯ ม.มหิดล จัดสัมมนาบุคลากรทางการแพทย์เรียนรู้ยาสมุนไพร สู้ศึกในเวทีอาเซียน

อ่านแล้ว 2,656 ครั้ง   
ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2555  
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง “ยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ : มุมมองจากทฤษฎีการแพทย์ไทยและข้อมูลเอกสารทางวิชาการ” ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งภายใต้โครงการการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยาสมุนไพรไทยเพื่อลดผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าอาเซียน (AFTA) ด้วยสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ ระหว่างวันที่ 15 - 16 ตุลาคม 2555 ณ โรงแรมเดอะสุโกศล (โรงแรมสยามซิตี้ ) ถนนศรีอยุธยา เขตราชเทวี กทม. โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร. วราภรณ์ จรรยาประเสริฐ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนา ในโอกาสนี้ยังได้รับเกียรติจาก นายแพทย์ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และนายแพทย์ฉัตรชัย สวัสดิไชย จากโรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี เป็นวิทยากรร่วมกับคณาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล บรรยายให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาล หรือสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในภาคกลางและตะวันออก ที่เข้าร่วมโครงการฯ จำนวนทั้งสิ้น 109 คน และมีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยาสมุนไพรเข้าร่วมออกบูท 7 บริษัท การใช้ตำรับยาสมุนไพรในการดูแลสุขภาพเป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมายาวนานเป็นพันปี และเป็นรากฐานของการสาธารณสุขของประเทศ อาจเสื่อมถอยไปตามกระแสวัฒนธรรมตะวันตกที่เข้ามามีอิทธิพลในสังคมไทยกว่า 100 ปีที่ผ่านมา แต่บัดนี้ความชัดเจนในศักยภาพของภูมิปัญญาผ่านการวิเคราะห์วิจัยด้วยหลักวิทยาศาสตร์แผนใหม่ และตกผลึกความคิด ทำให้มุมมองต่อการใช้สมุนไพรเพื่อป้องกันและรักษาโรคเปลี่ยนไป และเป็นที่ยอมรับของสังคมโลกมากขึ้น จนกระทรวงสาธารณสุขประกาศรายการตำรับยาสมุนไพรที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม จำนวน 50 รายการ และสมุนไพรเดี่ยวจำนวน 21 รายการ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2554 แต่ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ทราบว่าตนเองจะได้รับสิทธิประโยชน์จากประกาศดังกล่าวอย่างไร บุคลากรสาธารณสุขยังขาดข้อมูลทางวิชาการที่จะทำให้เกิดความมั่นใจในการจ่ายยาสมุนไพรแก่ผู้ป่วย ทั้งยังไม่มั่นใจในมาตรฐานกระบวนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมด้วย ทำให้นโยบายการใช้สมุนไพรในสถานบริการของรัฐยังไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เห็นความสำคัญระหว่างผู้บริโภคกับความเชื่อมั่นในการใช้สมุนไพร ทั้งยังกังวลกับการเข้าสู่เขตการค้าเสรีอาเซียนหรืออาฟต้าในปี พ.ศ. 2558 ซึ่งอุตสาหกรรมการผลิตยาสมุนไพรน่าจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน ทั้งสองกรณีต้องแก้ไขด้วยการวิจัยและการพิสูจน์ภูมิปัญญาในทางวิทยาศาสตร์ กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เห็นชอบในข้อเสนอของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงอนุมัติงบประมาณจากกองทุนเอฟทีเอ ให้เป็นที่ปรึกษาในโครงการการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยาสมุนไพรไทยเพื่อลดผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า AFTAด้วยสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ 2554 โดยมีกิจกรรมการจัดทำสูตรตำรับมาตรฐานการผลิตยาสมุนไพรในบัญชียาหลักและถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่โรงงานผลิตยาสมุนไพรในประเทศ และมีกิจกรรมที่ส่งเสริมให้บุคลากรทางการแพทย์รู้จักใช้ตำรับยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยจัดการสัมมนาทางวิชาการเรื่อง ยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ: มุมมองจากทฤษฎีการแพทย์ไทยและข้อมูลเอกสารทางวิชาการ จำนวนปีละ 4 ครั้ง ได้ดำเนินการในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ไปเรียบร้อยแล้ว ผลของการสัมมนาที่ผ่านมามีแพทย์ เภสัชกร พยาบาลวิชาชีพ นักการแพทย์แผนไทย และนักการสาธารณสุขให้ความสนใจเข้าร่วมประชุม ทำให้เกิดการตื่นตัว ความเข้าใจและมั่นใจขึ้น ครั้งสุดท้ายของปีนี้ ได้จัดให้กับผู้เข้าร่วมโครงการจากจังหวัดในภาคกลางและตะวันออก โดยเน้นการนำเสนอผลงานวิจัยเพื่อพิสูจน์สรรพคุณตำรับสมุนไพรที่ดำเนินการโดยนักวิจัยไทย ได้แก่ ตำรับยาหอมนวโกฐและอินทรจักร ยาแก้ไข้จันทลีลา ยาเหลืองปิดสมุทรแก้ท้องเสีย พิกัดยาตรีผลาเป็นยาระบายอ่อน ๆ และปรับสมดุลธาตุในช่วงอากาศร้อน เป็นต้น ซึ่งพบว่าทุกตำรับมีฤทธิ์ตรงตามที่ภูมิปัญญาระบุไว้ และมีฤทธิ์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ เช่น ยาหอมช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงสมอง ซึ่งน่าจะช่วยอาการหลงลืมของผู้สูงอายุ จันทลีลา สามารถลดไข้ พร้อมกับลดอาการปวดและอักเสบ แต่ไม่ระคายกระเพาะอาหาร ทั้งช่วยป้องกันและรักษาโรคกระเพาะอาหารด้วย ตรีผลามีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และฆ่าเซลล์มะเร็งหลายชนิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งมะเร็งของผู้หญิง เช่น มะเร็งมดลูก และเต้านม ช่วยปกป้องตับจากสารพิษด้วย เป็นต้น




Photo Gallery


งานประชุมวิชาการที่กำลังเปิดรับสมัคร


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


ไวรัสอีโบลา 18 วินาทีที่แล้ว
ยาลดไขมันในเลือด 33 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้