เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

เหตุการณ์สำคัญในเภสัชมหิดล


เภสัชฯ มหิดล ชู “โครงการยุทธศาสตร์การพัฒนาสมุนไพร” หวังผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ

อ่านแล้ว 3,531 ครั้ง   
ตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2554  
รองศาสตราจารย์ ดร.นพมาศ สุนทรเจริญนนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชวินิจฉัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะผู้ประสานงานโครงการยุทธศาสตร์การพัฒนาห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมสมุนไพรไทย เพื่อลดผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า AFTA ด้วยสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ พร้อมด้วยนายชวน ธรรมสุริยะ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมสมุนไพร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนายธนันทน์ อภิวันทนาพร ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ร่วมเสวนาเกี่ยวกับผลสำเร็จของโครงการฯ ที่ได้รับการช่วยเหลือจากกองทุน FTA ในงานสัมมนาเรื่อง “ทิศทางและอนาคตกองทุน FTA” เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 20 ตุลาคม 2554 ที่ผ่านมา ณ ห้องทิพวรรณ บอลรูม โรงแรมริชมอนด์ ในโอกาสที่โครงการดังกล่าว ได้รับการประเมินความคุ้มค่าของโครงการฯ เป็นอันดับหนึ่งจากโครงการทั้งหมดที่ได้รับการสนับสนุนโดยกองทุน FTA รวมทั้งสิ้น 31 โครงการ ด้วยคะแนน 3.5 จากคะแนนเต็ม 4 ตามเกณฑ์การพิจารณาของสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนับว่าเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก เหมาะสมที่จะเป็นโครงการอื่นๆ ต่อไปในอนาคต สำหรับโครงการสมุนไพรนี้ มีจุดเริ่มต้นมาจากความตกลงการเปิดการค้าเสรีในกรอบเขตการค้าเสรีภาพอาเซียน (AFTA) เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2553 ซึ่งมีกรอบระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2553 - 2558) จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบ ซึ่ง รศ.ดร.นพมาศ ได้กล่าวถึง อุตสาหกรรมที่คาดว่าจะเกิดผลกระทบเชิงลบอย่างแน่นอน คือ อุตสาหกรรมยาสมุนไพร โดยในระยะแรกคาดว่าจะมีผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรจากต่างประเทศเข้ามาแย่งส่วนแบ่งการตลาดในประเทศ ทั้งนี้ เนื่องมาจากผู้ประกอบการฯ ส่วนใหญ่ยังไม่พร้อมปรับตัวให้สอดรับกับกฏระเบียบทางการค้าของอาเซียนในด้านมาตรฐานของกระบวนการผลิต ตลอดจนการขาดความรู้ในเรื่องของการควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ (GMP) บรรจุภัณฑ์ไม่สามารถดึงดูดความสนใจจากผู้ซื้อ รวมไปถึงการที่แพทย์ผู้สั่งจ่ายยาส่วนใหญ่เป็นแพทย์แผนปัจุบัน ซึ่งไม่มีความรู้ ความเข้าใจสรรพคุณ และขาดความเชื่อมั่นในยาไทย ดังนั้น ในอนาคตหากไม่มีการพัฒนาสิ่งต่างๆ เหล่านี้ อุตสาหกรรมยาไทยอาจต้องปิดกิจการเนื่องจากการผูกขาดการใช้ยาแผนปัจจุบัน ซึ่งต้องพึ่งพิงการนำเข้าเวชภัณฑ์จากต่างชาติ ส่งผลให้ประเทศไทยขาดรายได้และเสียดุลทางการค้า นั่นยังไม่นับรวมถึงผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนในระดับรากหญ้า อาทิ เกษตรกรผู้ปลูกพืชสมุนไพร หรือชาวบ้านที่มีอาชีพรับจ้างเก็บสมุนไพร ที่จะต้องประสบปัญหาการขาดรายได้ การอนุรักษ์ป่าและพันธุ์พืชสมุนไพรก็จะค่อยๆ หมดไป และเมื่อประชาชนไม่เห็นความสำคัญและประโยชน์ของยาไทย อาจจะนำไปสู่การสูญเสียมรดกทางภูมิปัญญาไทยในด้านการใช้ยาสมุนไพรไทยอย่างถาวร จากผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นดังกล่าว จึงนำมาซึ่งการจัดตั้งโครงการเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสมุนไพร นำโดย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบโครงการ ร่วมด้วยหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอีกหลายแห่ง ในการเชิญคณาจารย์ และผู้เชี่ยวชาญจากสาขาต่างๆ มาร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ ตลอดจนเทคนิคต่างๆ ในทุกขั้นตอนของกระบวนการผลิต ตั้งแต่วิธีการเก็บเกี่ยวพืชสมุนไพรให้มีประสิทธิภาพทางด้านยาจริง การควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐานสากล ไปจนถึงวิธีการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้น่าสนใจ แก่ผู้ประกอบการและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาสูตรตำรับยาเพิ่มขึ้นจากเดิมอีกถึง 20 สูตร มีนวัตกรรมใหม่อย่าง “ยาเม็ดแคปซูลฟ้าทะลายโจร และยาจันทลีลา” ที่นอกจากจะสามารถนำไปจดสิทธิบัตรในเรื่องของแคปซูลขนาดเล็กที่ให้ปริมาณตัวยาได้เทียบเท่ากับยาลดไข้แผนปัจุบันทั่วไป นับว่าเป็นแนวทางส่งเสริมการป้องกันตลาดเดิมและขยายฐานการตลาดใหม่อีกด้วย ผลลัพธ์ที่ได้จากโครงการดังกล่าว ทำให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ให้ความสำคัญกับการแพทย์แผนไทย และรายการยาในบัญชียาหลักแห่งชาติมากขึ้น โดยได้เพิ่มงบประมาณสำหรับการแพทย์แผนไทยและยาไทย จาก 2 บาท/รายประชากร เป็น 6 บาท/รายประชากร ผลต่อเนื่องนี้ยังนำมาซึ่งการพัฒนาเครือข่ายห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมสมุนไพรเพื่อยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันอย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรม มีการกระตุ้นให้นักวิชาการด้านเภสัชศาสตร์มีความสนใจและค้นคว้างานด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับสมุนไพรเพิ่มขึ้น ทั้งยังสร้างทัศนคติเชิงบวกและความเชื่อมั่นในสรรพคุณของยาสมุนไพรให้กับบุคลากรทางการแพทย์ไทย สร้างความมั่นคงในการพึ่งพาตนเองในการรักษาสุขภาพ และการสาธารณสุขของประเทศ ลดการพึ่งพายาจากต่างประเทศ นำไปสู่การที่ประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภคเกิดความมั่นใจในการใช้ยาสมุนไพรไทย ส่งผลให้เกษตรกรได้รับการพัฒนาและมีรายได้จากการจ้างงานเพิ่มขึ้นตามลำดับ ดังนั้น รัฐบาลจึงควรเร่งผลักดันนโยบายการพัฒนากลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยาสมุนไพร และระบบนิเวศของอุตสาหกรรมรอบด้านเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้เกิดการสืบทอดและพัฒนาภูมิปัญญาการใช้ประโยชน์จากสมุนไพรอย่างยั่งยืน อันจะเป็นการดำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมการใช้ยาสมุนไพรในอนาคต “...หากสิ่งใดไม่มีการใช้ ไม่มีการสืบทอด สักวันหนึ่งข้างหน้าก็จะสูญหายไป” รศ.ดร.นพมาศ ได้กล่าวทิ้งท้ายไว้สั้นๆ ก่อนจะปิดการสัมมนาลงท่ามกลางเสียงปรบมืออย่างชื่นชมยินดีกับความสำเร็จอย่างท่วมท้นของโครงการต้นแบบนี้




Photo Gallery



บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


ออกกำลังกายอย่างไรดี ? 34 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้