เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

เหตุการณ์สำคัญในเภสัชมหิดล


รองคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ แถลงข่าว “ความช่วยเหลือของคณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดลแก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วม”

อ่านแล้ว 3,061 ครั้ง   
ตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2554  
มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดงานแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ในเรื่อง “การจัดการด้านอาหารเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยในภาวะวิกฤต และการเฝ้าระวังโรคเล็ปโตสไปโรซิสและโรคชิคุนกุนยา” เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2554 เวลา 14.00 น. ณ ห้องประชุม 606 ชั้น 6 อาคารราชรัตน์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมี รองศาสตราจารย์ ทันตแพทย์พาสน์ศิริ นิสาลักษณ์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและสภามหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานในงานฯ ได้กล่าวถึงบทบาทของมหาวิทยาลัยมหิดลในการนำวิชาการของมหาวิทยาลัยตอบโจทย์ของสังคมในสภาวะที่มีปัญหาวิกฤต พร้อมกันนี้ รองอธิการบดีฯ ยังได้กล่าวแนะนำผู้ร่วมแถลงข่าว อีก 3 ท่าน ประกอบด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.วิสิฐ จะวะสิต ผู้อำนวยการสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่มาให้ข้อมูลความรู้ในเรื่องของการจัดการด้านอาหารเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยในภาวะวิกฤต อาจารย์แพทย์หญิงวิรงค์รอง เจียรกุล รองหัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้ชี้แจงถึงปัญหาการแพร่ระบาด และการเฝ้าระวังโรคเล็ปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) หรือที่รู้จักกันในนาม “โรคฉี่หนู” และรองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ดร.สุธี ยกส้าน หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาวัคซีน จากสถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้กล่าวถึงปัญหาการแพร่ระบาดและการเฝ้าระวังโรคชิคุนกุนยา (Chikungunya virus) และการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคชิคุนกุนยา ซึ่งเป็นโรคที่มียุงเป็นพาหะ อันเป็นผลกระทบมาจากสถานการณ์น้ำท่วมที่ประชาชนในหลายจังหวัดของประเทศไทยกำลังประสบปัญหาอยู่ในขณะนี้ ในโอกาสเดียวกัน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุรกิจ นาฑีสุวรรณ รองคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.พิมลพรรณ พิทยานุกูล รองศาสตราจารย์ ดร.ดวงดาว ฉันทศาสตร์ และ อาจารย์ ดร.อัญชลี จินตพัฒนากิจ อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชกรรม ก็ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในงานแถลงข่าวดังกล่าว และชี้แจงต่อสื่อมวลชนถึงความช่วยเหลือของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลแก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วม โดยได้นำทีมนักศึกษาและบุคลากรร่วมกันจัดทำผลิตภัณฑ์ ขี้ผึ้งรักษาโรคน้ำกัดเท้า (Whitfield’s Ointment) และโลชั่นกันยุงจากสารสกัดตะไคร้หอม จำนวนรวม 10,000 ชุด สำหรับขี้ผึ้งรักษาโรคน้ำกัดเท้าถือเป็นสิ่งที่จำเป็นในภาวะน้ำท่วมเรื้อรังอย่างยิ่ง เนื่องจากหากแผลจากโรคน้ำกัดเท้าไม่ได้รับการรักษาดูแลที่ดี อาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อที่รุนแรงได้ โดยเฉพาะในผู้ป่วยกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดส่วนปลายตีบและผู้ป่วยสูงอายุ สำหรับโลชั่นกันยุงจากสารสกัดตะไคร้หอม รศ.ดร.พิมลพรรณ พิทยานุกูล เป็นผู้คิดค้นสูตรตำรับโดยใช้วัตถุดิบเป็นน้ำมันสกัดจากตะไคร้หอมธรรมชาติ และนำมาพัฒนาคุณสมบัติของโลชั่นให้มีความสามารถในการติดอยู่ที่ผิวหนังและออกฤทธิ์กันยุงได้อย่างยาวนานถึง 6 ชั่วโมงต่อการทา 1 ครั้ง และได้มีการปรับสภาพคุณสมบัติของโลชั่นให้มีความระคายเคืองน้อยและใช้ได้แม้ในผู้ที่มีอาการแพ้ทางผิวหนังง่าย ในสภาวะที่น้ำท่วมขังเรื้อรังดังกล่าวประกอบกับการระบาดของโรคที่มียุงเป็นพาหะ ผลิตภัณฑ์นี้ถือว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการป้องกันโรคร้ายเหล่านั้น อนึ่ง การจัดทำผลิตภัณฑ์ทั้งสองชนิดได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากคณะเภสัชศาสตร์และบุคลากรของคณะ เพื่อนำไปบริจาคช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วมโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะถูกส่งไปรวมกับผลิตภัณฑ์และความช่วยเหลืออื่นๆ ของ มหาวิทยาลัยมหิดลเพื่อนำไปแจกจ่ายแก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วมในจังหวัดต่างๆ ต่อไป




Photo Gallery


งานประชุมวิชาการที่กำลังเปิดรับสมัคร


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด



อ่านบทความทั้งหมด

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้