อ่านแล้ว 3,388 ครั้ง
ตั้งแต่วันที่ 08 กรกฎาคม 2554
นายพิทักษ์ อุดมชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักสิทธิประโยชน์ทางการค้า กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และ รศ. ดร. จุฑามณี สุทธิสีสังข์ คณบดี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกันเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “กระบวนการผลิตยาสมุนไพรด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ในโครงการการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยาสมุนไพรไทย เพื่อลดผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า AFTA ด้วยสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ 2554” เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2554 เวลา 8.30 น. ณ ห้องประชุม 606 ชั้น 6 อาคารราชรัตน์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยโครงการดังกล่าวนี้เป็นหลักสูตรอบรมต่อเนื่อง 5 วัน ให้แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยาสมุนไพรไทย จำนวนกว่า 50 ราย ซึ่งจะจัดในระหว่างวันที่ 8 และ 11 - 14 กรกฎาคม 2554
โครงการนี้เริ่มต้นขึ้นจากการรวมตัวกันของกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสมุนไพร นำโดย นายชวน ธรรมสุริยะ ประธานกลุ่มสมุนไพร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งนับว่าเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่สำคัญกลุ่มหนึ่งที่จะได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าในกรอบของการเปิดเสรีทางการค้าอาเซียน เพื่อขอรับความช่วยเหลือในเรื่องการพัฒนาขีดความสามารถให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสมุนไพร ให้มีความเจริญทัดเทียมกับประเทศผู้นำอื่นๆ ในแถบอาเซียน ทางกระทรวงพาณิชย์ร่วมกับคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลจึงได้จัดทำโครงการการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมสมุนไพรไทยเพื่อลดผลกระทบจากการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ด้วยสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยประกอบด้วยกิจกรรมรวม 3 กิจกรรม คือ 1) การศึกษาพัฒนาระบบการจัดการห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมสมุนไพรไทย 2) การพัฒนาผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมผลิตยาสมุนไพรให้มีขีดความสามารถทางการแข่งขันสูงขึ้น และ 3) การพัฒนาโครงการนำร่องการใช้ยาสมุนไพรตามบัญชียาหลักแห่งชาติ 19 ตำรับของสถานพยาบาลภาครัฐ ซึ่งได้เริ่มดำเนินการในเฟสแรกในช่วงปี พ.ศ. 2552-2553
ความสำเร็จที่สำคัญของโครงการในเฟสแรกคือ การพัฒนาสูตรตำรับการเตรียมยาสมุนไพรตามรายการในบัญชียาหลักแห่งชาติในอยู่ในรูปแบบและมีมาตรฐานที่เป็นสากล ซึ่งนับเป็นการพัฒนามรดกภูมิปัญญาไทยสู่ระดับนานาชาติ และถ่ายทอดสูตรตำรับดังกล่าวให้แก่ผู้ประกอบการโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการโรงงานยาสมุนไพรไทยมีความสามารถที่จะผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ได้มาตรฐานและอยู่ในรูปแบบที่ใช้ง่ายและมีคุณภาพในระดับสากล เพื่อส่งเสริมการค้าทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศในอาเซียน
ด้วยความสำเร็จดังกล่าว ทางกระทรวงพาณิชย์ และคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลจึงได้จัดทำโครงการต่อยอดความสำเร็จดังกล่าวในเฟสที่ 2 โดยเน้น 3 กิจกรรมหลักได้แก่ 1) สนับสนุนการวิจัยพัฒนารูปแบบตำรับยาสมุนไพรให้มากขึ้นและขยายการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ผู้ประกอบการให้มากขึ้น 2) ส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวของตลาดยาสมุนไพรไทยให้กว้างขึ้น โดยเน้นการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการใช้ยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติให้แก่แพทย์ บุคลากรสาธารณสุข และประชาชนในทุกภาคส่วนเพื่อการพึ่งตนเองทางด้านยารักษาโรคและปกป้องตลาดยาภายในประเทศ และ 3) ดำเนินการศึกษาวิจัยทางคลินิกของสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติเพิ่มเติมเพื่อสร้างหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพในระดับสากลเพื่อสนับสนุนให้เกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงประโยชน์ของยา
Photo Gallery