อ่านแล้ว 3,600 ครั้ง
ตั้งแต่วันที่ 11 พฤษภาคม 2554
อีกครั้งแล้วนะคะ ที่ชาวบุคลากร MUPY ได้มาร่วมกันแบ่งปันความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ผ่านกิจกรรมดีๆ อย่าง KM Lunch หลังจากที่ทีมผู้จัดงานได้สร้างความประทับใจให้กับผู้เข้าร่วมในกิจกรรม ครั้งก่อน กลับมาคราวนี้ก็ไม่ทำให้ผู้เข้าร่วมฟังต้องผิดหวังเช่นเคย กับการบรรยายในหัวข้อ “สอนอย่างไรให้โดนใจนักศึกษา Gen.Y(ภาคต่อ) กับทีมป๋า” โดย สองวิทยากรอารมณ์ดี รศ. บุญเทียม คงศักดิ์ตระกูล และ ผศ.ปรีชา มนทกานติกุล ดำเนินรายการ โดย อ.จตุรงค์ ประเทืองเดชกุล ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2554 ณ ห้องประชุม 316 อาคารราชรัตน์ เวลา 12.00 - 13.00 น.
ก่อนหน้านี้ ถ้าพูดถึงคำว่า นักศึกษา Gen-Y หลายคนอาจยังสงสัยและคงไม่ค่อยเข้าใจนักว่าหมายถึงอะไร แต่หลังจากผ่านพ้นกิจกรรมในวันนี้ไป สิ่งที่ท่านวิทยากรทั้งสองท่านนำเสนออาจช่วยตอบคำถามค้างคาใจนี้ได้ไม่ยากเลยค่ะ
Gen-Y ย่อมาจากคำว่า Generation Y เป็นคำเรียกเด็กรุ่นใหม่ที่เกิดมาในช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยเครื่องมือเครื่องไม้ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ทันสมัย รวมไปถึงระบบการติดต่อสื่อสารรวดเร็วทันใจในรูปแบบดิจิทัล ทำให้คนวัยนี้มีจุดเด่นในเรื่องของ การกล้าซัก กล้าถาม กล้าคิด กล้าแสดงออก กล้าบุกประชิดในทุกเรื่องที่ตัวเองสนใจ ทั้งยังง่ายต่อการเปลี่ยนแปลงและยอมรับสิ่งใหม่ๆ
ในขณะที่บรรดาคณาจารย์ผู้สอนยังคงเป็นคนในยุค Baby Boomer และ Gen-X เสียเป็นส่วนใหญ่ บางครั้งความแตกต่างของช่องว่างระหว่างวัยนี้ จึงอาจทำให้อาจารย์และนักศึกษามีความคิดเห็นและความเข้าใจไม่ตรงกันบ้าง
ท่านวิทยากรทั้งสองจึงได้นำเสนอ เทคนิคและวิธีการการสอนในรูปแบบต่างๆ ที่จะทำให้นักศึกษา Gen-Y เหล่านี้ เรียนรู้ได้อย่างสนุกสนาน และมีความสุขกับการเรียน โดย ผศ.ปรีชา ได้ฝากข้อคิดเอาไว้ ดังนี้
1. อาจารย์ควรกำหนดวัตถุประสงค์ในการสอนให้ชัดเจน เน้นการให้ความรู้ที่สามารถนำไป
พัฒนาต่อยอดได้ การสอนให้ท่องจำแต่เพียงอย่างเดียวอาจไม่เหมาะกับเด็กในวัยนี้ แต่ควรสอนให้เขารู้ว่าจะสามารถนำความรู้ที่ได้ไปใช้ประโยชน์อย่างไร และที่สำคัญ ควรเลือกเรื่องที่มีหัวข้อน่าสนใจ และจะเป็นประโยชน์กับการประกอบอาชีพในอนาคตอย่างแท้จริง
2. ไม่ควรนำอารมณ์ส่วนตัวมาปะปนในการสอน เพราะจะทำให้บรรยากาศของการเรียนน่าเบื่อ
และไม่เป็นที่สนใจของเด็กอีกต่อไป อาจารย์ควรมีสมาธิและสามารถควบคุมตัวเองได้ ไม่ว่าจะอยู่ในอารมณ์ใดก็ตาม
3. ให้มองว่าเรากำลังสอนใคร ถ้ามองว่าเด็กเป็นลูกเป็นหลานก็จะพยายามถ่ายทอดความรู้ให้
และคอยดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดี และต้องไม่ลืมที่จะพิจารณาระดับเนื้อหาให้เหมาะสมกับระดับความรู้ของนักศึกษา คือ ไม่ง่ายหรือยากจนเกินไป
ส่วน รศ.บุญเทียม ได้เสนอแนะแนวทางการสอนที่น่าสนใจมากขึ้น ด้วยการใช้เทคโนโลยีหรือสื่อการสอนเข้ามาช่วย เช่น การทำเป็นภาพการ์ตูน Animation โดย เน้นว่าอาจารย์ควรสังเกตผู้เรียนอยู่เสมอ เมื่อเห็นว่านักศึกษาเริ่มไม่มีสมาธิหรือจับกลุ่มพูดคุย ก็ต้องหาวิธีการดึงความสนใจด้วยการสอดแทรกมุกตลกประกอบกับการสอนที่เต็มไปด้วยเนื้อหาสาระความรู้ เพื่อไม่ให้นักศึกษาเกิดความเบื่อหน่าย รวมทั้งการหยิบยกเรื่องที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ปัจจุบันมาเชื่อมโยงกับเรื่องที่สอน หรือการหากรณีศึกษาที่ตรงกับความต้องการของผู้ฟัง เป็นต้น
นอกจากนี้ในกลุ่มของผู้เข้าฟัง อาทิ รศ.พิสมัย กุลกาญจนาธร และ ศ.ลีณา สุนทรสุข ยังได้ร่วมกันเสนอแนะวิธีการสอนว่า ผู้สอนต้องมั่นใจในเนื้อหา และเตรียมตัวให้พร้อมก่อนที่จะทำการสอน รวมทั้งต้องคิดเสมือนว่าระหว่างอาจารย์กับนักศึกษานั้น เป็นเครื่องรับ-ส่งความรู้ หากสามารถจูนคลื่นความถี่ให้ตรงกันได้ ก็จะสามารถถ่ายทอดความรู้ได้อย่างเต็มที่
ในช่วงท้ายของกิจกรรมนี้ อ.จตุรงค์ ได้สรุปสิ่งที่วิทยากรและผู้เข้าฟังฯ ร่วมกันนำเสนอ โดยกล่าวว่า การสอนหนังสือให้เด็ก Gen-Y ควรให้เด็กได้จินตนาการกับเรื่องที่สอน จึงจะทำให้เด็กเข้าใจได้ง่าย มีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้อย่างสนุกสนาน และมีความสุขกับการเรียนในที่สุด
Photo Gallery