อ่านแล้ว 3,942 ครั้ง
ตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2554
จากข่าวการระเบิดของโรงงานกัมมันตรังสีในประเทศญี่ปุ่นที่สร้างความตื่นตระหนกไปทั่วโลก เนื่องจากกัมมันตภาพรังสีหลายชนิดเช่น ซีเซียม 137 (Cesium 137) ไอโอดีน 131 (Iodine-131) มีการฟุ้งกระจายออกสู่ชั้นบรรยากาศของพื้นที่ใกล้เคียง ขณะนี้มีความสับสนเกี่ยวกับการใช้ผลิตภัณฑ์ยาที่มีสารไอโอดีนในการป้องกันผลเสียของสารกัมมันตรังสีผ่านทั้งอีเมลล์และเวบไซต์ต่างๆ ที่อาจทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ดังนั้นทางมหาวิทยาลัยมหิดลนำโดย รศ. ดร. จุฑามณี สุทธิสีสังข์ คณบดี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผศ. ดร. ดวงดาว จันทรศาสตร์ อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ รศ. ดร. มานัส มงคลสุข หัวหน้าภาควิชารังสีเทคนิค จากคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดแถลงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวแก่สื่อมวลชนจำนวนมากที่ห้อง K102 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
รศ. ดร. จุฑามณี สุทธิสีสังข์ คณบดี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลได้แถลงกับผู้สื่อข่าวว่า หากร่างกายได้รับสารกัมมันตภาพรังสีเช่น ไอโอดีน 131 (Iodine-131) เข้าไปในปริมาณสูง จะทำให้เนื่อเยื่อของต่อมไทรอยด์ถูกทำลาย และอาจพัฒนากลายไปเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ได้ในที่สุด ซึ่งผลเสียดังกล่าวอาจป้องกันได้ด้วยการใช้ยาโปแตสเซียมไอโอไดด์ (potassium iodide) ซึ่งได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาว่า เป็นยาที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการได้รับไอโอดีน 131 แต่ไม่มีผลป้องกันสารกัมมันตรังสีชนิดอื่นๆ กลไกในการป้องกันอันตรายจากไอโอดีน 131 ของโปแตสเซียมไอโอไดด์นั้นสามารถอธิบายได้จากการที่ต่อมไทรอยด์สามารถดักจับแร่ธาตุไอโอดีนได้ในทุกรูปแบบ อย่างไรก็ตามต่อมไทรอยด์มีความสามารถในการจับกับไอโอดีนได้ในปริมาณจำกัด ดังนั้นหากร่างกายได้รับแร่ธาตุไอโอดีนในปริมาณสูงจากการให้ยาโปแตสเซียมไอโอไดด์ จะทำให้เนื้อเยื่อของต่อมไทรอยด์อิ่มตัวจนไม่สามารถจับกับสารกัมมันตรังสีไอโอดีน 131 ได้อีก และทำให้สารดังกล่าวถูกขับออกจากร่างกายทางปัสสาวะในที่สุด ขนาดยาโปแตสเซียมไอโอไดด์ที่แนะนำให้ใช้คือ รับประทานวันละ 130 มิลลิกรัมต่อวัน โดยรับประทานก่อนที่จะเข้าเขตกัมมันตภาพรังสีอย่างน้อย 3-4 ชั่วโมง และแนะนำให้รับประทานต่อเนื่องทุกวันจนกว่าจะออกจากบริเวณพื้นที่ๆ มีความเสี่ยง อย่างไรก็ตามการใช้ยาดังกล่าวอย่างต่อเนื่องในปริมาณสูงอาจมีผลเสียต่อร่างกายได้ เช่น อาจทำให้เกิดอาการแพ้ โดยเฉพาะผู้ที่แพ้อาหารทะเล อาจทำให้ผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจเกิดอาการโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ และทำให้ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติได้ ดังนั้นการใช้ยาดังกล่าวจึงควรจำกัดอยู่ที่ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการสัมผัสสารกัมมันตภาพรังสีเท่านั้น และการใช้ยาควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์เท่านั้น
ผลิตภัณฑ์ยาที่มีสารไอโอดีนเป็นส่วนประกอบอีกชนิดหนึ่งที่มีกล่าวถึงผ่านทั้งอีเมลล์และเวบไซต์ต่างๆ ที่อาจทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ได้แก่ ยาเบตาดีน โดยเบตาดีน (betadine) เป็นชื่อการค้าของยาโพวิโดนไอโอดีน (povidone iodine) ซึ่งเป็นยาฆ่าเชื้อใช้ภายนอก (topical antiseptic) ที่มีส่วนประกอบของไอโอดีนเป็นหลัก และเนื่องจากไอโอดีนมีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา เชื้อไวรัส และโปรโตซัวได้ดี จึงนำมาใช้ในการทำความสะอาดแผลหรือผิวหนังก่อนการผ่าตัด อย่างไรก็ตาม ไม่แนะนำให้ใช้ยาโพวิโดนไอโอดีนในการป้องกันอันตรายจากสารกัมมันตภาพรังสีเนื่องจาก ปริมาณไอโอดีนที่ร่างกายได้รับจากการทายาโพวิโดนไอโอดีนบนผิวหนังน้อยกว่าการรับประทานยาโปแตสเซียมไอโอไดด์มาก ประกอบกับการดูดซึมยาผ่านผิวหนังอาจถูกรบกวนได้ด้วยปัจจัยต่างๆ จำนวนมากจนทำให้ความแน่นอนในด้านประสิทธิภาพอาจไม่สูงเท่ากับการรับประทานยาโปแตสเซียมไอโอไดด์ ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้ใช้ยาทาโพวิโดนไอโอดีนเพื่อป้องกันผลเสียจากสารกัมมันตรังสีไอโอดีน 131
Photo Gallery