อ่านแล้ว 3,794 ครั้ง
ตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 2553
ภาควิชาชีวเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลนำโดย ผศ. ดร. วิเชษฐ์ ลีลามานิตย์ ร่วมกับศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์ สถาบันวิชาการป้องกันประเทศและสมาคมอาสาสมัครบรรเทาสาธารณภัยแห่งประเทศไทยจัดการประชุมวิชาการเรื่อง อาวุธทำลายล้างสูง (Weapon of Mass Destruction): ภัยจากอาวุธชีวภาพ
อาวุธที่มีอำนาจการทำลายล้างสูง (Weapons of Mass Destruction, WMD) คืออาวุธที่มีประสิทธิภาพในการทำลายล้างสูง ทำให้คนจำนวนมากและในสภาพพื้นที่กว้างได้รับบาดเจ็บ ป่วยและตาย ในปัจจุบันอาวุธทำลายล้างสูงสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภท อันได้แก่ อาวุธนิวเคลียร์ อาวุธชีวภาพ และอาวุธเคมี (Nuclear-Biological-Chemical Weapons, NBC Weapons) ในอาวุธทำลายล้างสูงทั้ง 3 ประเภทนี้ อาวุธชีวภาพเป็นอาวุธที่มีต้นทุนผลิตต่ำ แต่กระจายไปได้ไกล มีความคงทน ป้องกันได้ยากสุด สร้างความเสียหายในมุมกว้าง จึงเป็นอาวุธสงครามที่ทำให้เกิดความเกรงกลัวมากที่สุด ประเทศไทยแม้จะไม่ใช่เป้าหมายของภัยคุกคามนี้ แต่ก็ควรมีความจำเป็นเหมือนทุกประเทศที่จะต้องมีแผนจัดการ และความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภัยอาวุธชีวภาพ งานประชุมวิชาการนี้จัดขึ้นในวันที่ 19 มีนาคม 2553 เวลา 9.00 – 16.30 น. ณ ห้องประชุม 203 อาคารเทพรัตน์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการให้ความรู้แก่ ทหาร ตำรวจ แพทย์ เภสัชกร บุคคลากรด้านสาธารณสุขและผู้ที่เกี่ยวข้องให้เข้าใจถึงลักษณะของอาวุธชีวภาพ ทราบและตระหนักถึงอันตรายจากภัยอาวุธชีวภาพ ประสบการณ์และความพร้อมของประเทศไทยกับภัยอาวุธชีวภาพ ยาและแนวทางในการรักษาผู้ป่วยจากภัยอาวุธชีวภาพ ศักยภาพสมุนไพรในการพัฒนาเพื่อรักษาพิษจากอาวุธชีวภาพ และเป็นการระดมสมองในการรับมือกับภัยสงครามนี้ของประเทศไทย
งานนี้ได้รับเกียรติจากพลเอกสุกิจ ขมะสุนทร กองบัญชาการกองทัพไทย เป็นประธานในพิธีเปิดโดยมีวิทยากรจากภายนอกได้แก่
พลตรี มจ. เฉลิมศึก ยุคล ที่ปรึกษา กรมวิทยาศาสตร์ทหารบก
พลตรี สุรสิทธิ์ ถนัดทาง ผู้อำนวยการ ศึกษายุทธศาสตร์ สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ
พตท. มล. กิติบดี ประวิตร นายกสมาคมอาสาสมัครบรรเทาสาธารณภัยแห่งประเทศไทย
ผศ. นพ. ธีระ กลลดาเรืองไกร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
นายอัครพันธ์ ฝาเงิน สำนักข่าวกรองแห่งชาติ
พตท. อิทธิพล สุขยิ่ง โรงเรียนนายร้อยตำรวจ
สำหรับวิทยากรภายในได้แก่
รศ. ดร. อ้อมบุญ วัลลิสุต คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ผศ. ดร. วิเชษฐ์ ลีลามานิตย์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ดร. จิระพรรณ จิตติคุณ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
งานประชุมนี้ได้รับความสนใจอย่างสูงจากทั้งทหาร ตำรวจ แพทย์ เภสัชกรและบุคคลากรด้านสาธารณสุขอื่นจำนวนกว่า 160 คน และยังได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนระดับชาติกว่า 20 สถาบันอาทิ โทรทัศน์สีช่อง 7 โทรทัศน์สีช่อง 9 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ มติชน คมชัดลึก กรุงเทพธุรกิจ เป็นต้น
Photo Gallery