Eng |
เมื่อวันเสาร์ที่ 24 สิงหาคม 2567 เวลา 12.00-18.00 น. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ จัดกิจกรรมบริการวิชาการ “Herbal Appreciation : Basic Botany for Plant Appreciation และ Herbal Walk สำรวจสมุนไพรในสวน ครั้งที่ 5” ณ สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ถนนกำแพงเพชร 2 แขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร โดยมีคณาจารย์ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์เป็นวิทยากรจัดกิจกรรมอบรมและให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไปที่สนใจเข้าร่วมจำนวน 30 คน
สำหรับกิจกรรมในโครงการดังกล่าว ประกอบด้วย หัวข้อบรรยายและปฏิบัติการพฤกษศาสตร์เบื้องต้นและสัณฐานวิทยาของพืช และกิจกรรมเดินสำรวจและเรียนรู้พืชสมุนไพรในสวนที่สำรวจ โดยมีวิทยากร 6 ท่าน ได้แก่ 1) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภก.ภานุพงษ์ พงษ์ชีวิน รองคณบดีฝ่ายบริหาร 2) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภญ.ธนิกา ปฐมวิชัยวัฒน์ หัวหน้าภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ 3) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภญ.นิศารัตน์ ศิริวัฒนเมธานนท์ 4) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภญ.เบญญากาญจน์ พงษ์กิจวิทูร 5) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เมธี พุ่มทุ่ม และ 6) อาจารย์ ดร.วัชระ อาจหาญ ซึ่งรูปแบบการจัดกิจกรรมได้อาศัยการเดินสำรวจและบันทึกพืชสมุนไพรที่พบในสวนสาธารณะ เพื่อเรียนรู้สรรพคุณของพืชสมุนไพรที่สำรวจพบ และอบรมเชิงปฏิบัติการ ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากประชาชนทั่วไป
ทั้งนี้ กิจกรรมบริการวิชาการ “Herbal Appreciation : Basic Botany for Plant Appreciation และ Herbal Walk” ดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับพืชสมุนไพรและพฤกษศาสตร์เบื้องต้นแก่ประชาชนทั่วไปที่สนใจ และเสริมสร้างความเข้าใจในการใช้พืชสมุนไพรเพื่อการดูแลสุขภาพอย่างถูกต้อง ซึ่งภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์เล็งเห็นว่าสวนสาธารณะในกรุงเทพมหานคร นอกจากจะเป็นสถานที่ที่ประชาชนนิยมไปออกกำลังกายและพักผ่อนหย่อนใจแล้ว ยังมีความหลากหลายทางชีวภาพและมีพืชสมุนไพรอยู่ด้วย จึงได้จัดกิจกรรมบริการวิชาการ เรื่อง “Herbal Appreciation : Basic Botany for Plant Appreciation และ Herbal Walk สำรวจสมุนไพรในสวน” ขึ้น โดยมุ่งเน้นการเผยแพร่องค์ความรู้ทางพฤกษศาสตร์เบื้องต้นของพืชสมุนไพร การจำแนกพืชสมุนไพรใกล้ตัวอย่างง่าย ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนได้เรียนรู้และรู้จักพืชสมุนไพรใกล้ตัว เกิดทัศคติที่ดีต่อการใช้พืชสมุนไพรอันเป็นภูมิปัญญาที่มีคุณค่าอย่างยิ่งของสังคมไทย
นอกจากนี้ กิจกรรมบริการวิชาการดังกล่าวยังสนับสนุนพันธกิจของคณะฯ ในการเป็นศูนย์กลางให้บริการวิชาการด้านยา สมุนไพร เครื่องสำอาง และอาหาร เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน และยังตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Goals) ในเป้าหมายที่ 3 สร้างหลักประกันว่าคนมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมสวัสดิภาพสำหรับทุกคน