Eng |
เมื่อวันพุธที่ 17 กรกฎาคม 2567 คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยงานการศึกษาเภสัชศาสตรบัณฑิต จัดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การพัฒนากระบวนการเรียนการสอนและการดูแลนักศึกษา” ณ โรงแรม Kantary Bay Sriracha จังหวัดชลบุรี โดยได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ภก.สุรกิจ นาฑีสุวรรณ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-19 กรกฎาคม 2567 โดยในการประชุมครั้งนี้ คณะฯ ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา ที่ปรึกษาคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ประธานคณะกรรมการศูนย์ความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ (TCELS) ประธานคณะกรรมการรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) เป็นวิทยากรบรรยายหัวข้อ "การบริหารการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาที่สำคัญ" สำหรับเนื้อหาการประชุมครอบคลุมประเด็นสำคัญ อาทิ 1. ผลจากภาควิชาฯ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของหลักสูตรเภสัชศาสตร์บัณฑิต (นายจ้าง ศิษย์เก่า อาจารย์ นักศึกษาปัจจุบัน เภสัชกรแหล่งฝึก) 2. ผลจากการรับการประเมิน AUN-QA ปี พ.ศ. 2565 3. แผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ พ.ศ. 2564 – 2570 ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2566 – 2570 อีกทั้งยังมีการแบ่งกลุ่มตามกลุ่มวิชา เพื่อระดมความคิดเห็นและร่วมกันพิจารณาการปรับปรุงหลักสูตรหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต ปีการศึกษา 2570 ในประเด็น รายวิชา จำนวนหน่วยกิต Sub-track ต่างๆ และ OSU ทั้งนี้ เพื่อกำหนดรูปแบบและแนวทางการปรับปรุงหลักสูตรเภสัชศาสตร์บัณฑิต ปีการศึกษา 2570
ทั้งนี้ โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการการพัฒนากระบวนการเรียนการสอนและการดูแลนักศึกษา จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บุคลากรสายวิชาการของคณะฯ ได้หารือและร่วมกันกำหนดแนวทางและรายละเอียดของการปรับปรุงหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิตฉบับ ปีการศึกษา 2570 และเตรียมความพร้อมสำหรับการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรนานาชาติ) อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาทักษะที่สำคัญสำหรับอาจารย์ในหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต ผ่านการประชุมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อย่อยต่างๆ เช่น 1. การใช้เครื่องมือออนไลน์ประกอบการสอนบรรยาย 2.การใช้งานโปรแกรม Smart Quiz Online 3. ความคืบหน้าของหลักสูตรเภสัชศาสตร์บัณฑิต (หลักสูตรนานาชาติ) และ 4. PYGE101 Herbs in Daily Life : กรณีศึกษา การเปิดรายวิชาศึกษาทั่วไปในตะกร้ากลาง การพัฒนาบทเรียนออนไลน์ และการจัดการเรียนการสอนแบบ GE Plus หลักสูตรควบรวม การทำ Active reflection และ Feedback แก่นักศึกษา
นอกจากนี้ การประชุมวิชาการดังกล่าวยังสนับสนุนพันธกิจของคณะฯ ด้านการสร้างบัณฑิต ที่มีคุณภาพได้มาตรฐานทัดเทียมกับสถาบันการศึกษาชั้นนำในเอเชีย มีคุณธรรม และตอบสนองความต้องการของสังคมผลิตและเผยแพร่งานวิจัยและนวัตกรรมที่มีมาตรฐานในระดับประเทศและนานาชาติ อีกทั้งยังสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Goals) ในเป้าหมาย4: สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป้าหมายที่ 10: ลดความไม่เสมอภาคภายในและระหว่างประเทศ และเป้าหมายที่ 17: เสริมความเข้มแข็งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูสภาพหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน