อ่านแล้ว 546 ครั้ง
ตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2565
เมื่อวันอังคารที่ 25 ตุลาคม 2565 ผู้บริหารคณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล นำโดย รองศาสตราจารย์ ภก.สุรกิจ นาฑีสุวรรณ คณบดี พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภก.จตุรงค์ ประเทืองเดชกุล หัวหน้าภาควิชาจุลชีววิทยา และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภก.อาณัฐชัย ม้ายอุเทศ เข้าร่วมงาน “AI in Drug Discovery: Ahead Together for Future Healthcare” โดยมีผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วยผู้แทนจากส่วนงานต่างๆ เข้าร่วมงานดังกล่าว ซึ่งมี ศาสตราจารย์ ดร. นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานกล่าวเปิดงาน ณ ห้องฉัตรา 1 โรงแรม Siam Kempinski เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ
กิจกรรมภายในงานดังกล่าว ประกอบด้วย การเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในหัวข้อ ’การใช้เทคโนโลยี AI ในการคิดค้นยา’ โดยมีนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิร่วมเสวนา ได้แก่ (1) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภก.จตุรงค์ ประเทืองเดชกุล (2) รองศาสตราจารย์ ดร.ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (GBDI) (3) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรชัย บำรุงศรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล (4) ดร.ทิพาจินต์ ไทยพิสุทธิกุล คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ม.มหิดล และ (5) ดร.ภก.ณฐพล พรพุทธพงศ์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากนี้ ยังมีการบรรยายพิเศษ โดย ดร.คิม แบรนสัน Senior Vice President and Global Head of Artificial Intelligence and Machine Learning, GSK ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี AI ของ GSK ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วย
ทั้งนี้ โครงการ “AI in Drug Discovery: Ahead Together for Future Healthcare” เป็นความร่วมมือแบบพหุภาคีระหว่างสถาบันจากภาครัฐ และบริษัทจีเอสเค ซี่งเป็นบริษัทยาชั้นนำของโลก เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการนำเอาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ในกระบวนการคิดค้นยาใหม่ ซึ่งในปัจจุบันเทคโนโลยี AI ได้ก่อให้เกิดวิวัฒนาการในการพัฒนาวิทยาศาสตร์เป็นอย่างมาก อาทิ ในสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้มีการนำ AI มาช่วยในการวินิจฉัยโรคต่างๆ อาทิ มะเร็งเต้านม โรคจอประสาทตา เป็นต้น นอกจากนี้ AI ยังได้เข้ามามีบทบาทในกระบวนการคิดค้นยาและช่วยลดปัญหาที่พบกับแนวทางการคิดค้นยาแบบเดิมที่ต้องใช้เวลานาน มีความซับซ้อน การรวมพลังขับเคลื่อนให้เกิดแพลตฟอร์มการคิดค้นยาที่บูรณการศาสตร์ด้านปัญญาประดิษฐ์ในระดับประเทศ (Artificial intelligence-integrated drug discovery platform) จึงมีความเป็นไปได้สูง และหากทำสำเร็จจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาศักยภาพประเทศไทยให้สามารถคิดค้นยาและสารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เพื่อการสร้างเศรษฐกิจใหม่ เพิ่มความสามารถในการพึ่งพาตนเอง และเพื่อความมั่นคงทางสุขภาพของประเทศต่อไป
นอกจากนี้ กิจกรรมดังกล่าวยังช่วยสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Goals) ในเป้าหมายที่ 3 คือ สร้างหลักประกันว่าคนมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมสวัสดิภาพสาหรับทุกคนในทุกวัย เป้าหมายที่ 8 คือ ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่ มีผลิตภาพ และการมีงานที่เหมาะสมสำหรับทุกคน เป้าหมายที่ 9 คือ สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีความทนทาน ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมและยั่งยืน และส่งเสริมนวัตกรรม เป้าหมายที่ 10 คือ ลดความไม่เสมอภาคภายในประเทศและระหว่างประเทศ และเป้าหมายที่ 17 คือ เสริมความแข็งแกร่งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
ขอบคุณภาพกิจกรรมจาก งานสื่อสารองค์กร ม.มหิดล
Photo Gallery