อ่านแล้ว 1,835 ครั้ง
ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2556
ศูนย์วิเคราะห์คุณภาพผลิตภัณฑ์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดการประชุมวิชาการระบบคุณภาพ ISO/IEC 17025:2005 ครั้งที่ 2 เรื่อง “มาตรฐานและการสอบเทียบสำหรับห้องปฏิบัติการ” เมื่อวันที่ 16-18 ตุลาคม พ.ศ. 2556 ณ ห้องประชุม 202 อาคารเทพรัตน์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีผู้ปฏิบัติงานที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับระบบคุณภาพ ISO/IEC 17025:2005 และบุคลากรที่สนใจเข้าร่วมการประชุมกว่า 100 คน
การประชุมวิชาการระบบคุณภาพ ISO/IEC 17025:2005 ครั้งที่ 2 เรื่อง “มาตรฐานและการสอบเทียบสำหรับห้องปฏิบัติการ” จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมทราบหลักเกณฑ์ที่เป็นปัจจุบันของระบบคุณภาพ ISO/IEC 17025:2005 สามารถตรวจสอบและยืนยันความถูกต้องของวิธีวิเคราะห์ที่นำมาใช้งานได้ และสามารถเตรียมสารมาตรฐานด้านสมุนไพรเพื่อใช้งานภายในห้องปฏิบัติการได้ ตลอดจนสามารถสอบเทียบมาตรฐานอุปกรณ์เครื่องแก้วที่ใช้ภายในห้องปฏิบัติการได้ บรรยากาศในการประชุมประกอบด้วยการบรรยายโดยวิทยากรจากทั้งภายในและภายนอกคณะฯ ในหลายหัวข้อที่น่าสนใจ อาทิ เรื่อง ISO/IEC 17025:2005 : Up-to-date guidelines การเตรียมสารมาตรฐานด้านสมุนไพรสาหรับห้องปฏิบัติการเดี่ยว การผลิตวัสดุอ้างอิงตามมาตรฐาน ISO Guide 34 การตรวจสอบและยืนยันความถูกต้องของวิธีวิเคราะห์ ความรู้ทั่วไปและความสำคัญของเครื่องแก้วปริมาตร วิธีการสอบเทียบเครื่องแก้วปริมาตร วิธีการคำนวณผลการสอบเทียบและค่าความไม่แน่นอน และฝึกปฏิบัติการสอบเทียบเครื่องแก้วปริมาตร เป็นต้น
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตระหนักถึงหลักเกณฑ์ที่เป็นปัจจุบันของระบบคุณภาพ ISO/IEC 17025:2005 สามารถตรวจสอบและยืนยันความถูกต้องของวิธีวิเคราะห์ที่นำมาใช้งานได้ จึงจัดการประชุมนี้เพื่อเผยแพร่ความรู้และความก้าวหน้าในระบบคุณภาพ ISO/IEC 17025:2005 เนื่องจาก ISO/IEC 17025:2005 เป็นระบบคุณภาพสากลสำหรับห้องปฏิบัติการที่ดำเนินงานเกี่ยวกับการวิเคราะห์ทดสอบและสอบเทียบมาตรฐานต่างๆ ผลวิเคราะห์ทดสอบที่มาจากห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองระบบ ISO/IEC 17025:2005 จะเป็นที่ยอมรับในระดับสากล รวมถึงผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ยา เครื่องสำอาง สมุนไพร ที่ผ่านการตรวจวิเคราะห์จากห้องปฏิบัติการดังกล่าว ก็จะเป็นที่ยอมรับว่ามีคุณภาพเชื่อถือได้และสามารถจำหน่ายได้ในระดับสากล และในการขอการรับรองระบบ ISO/IEC 17025:2005 ห้องปฏิบัติการต้องจัดระบบบริหาร และการดำเนินงานด้านวิชาการให้เป็นหลักเกณฑ์ของระบบคุณภาพดังกล่าว ในการดำเนินงานด้านวิชาการหรือด้านวิเคราะห์ทดสอบมีปัจจัยและข้อกำหนดที่สำคัญหลายประการ เช่น การใช้วิธีวิเคราะห์ทดสอบที่มีมาตรฐานหรือผ่านการตรวจสอบยืนยันความถูกต้องมาแล้ว (validation and verification) การใช้สารมาตรฐานที่เชื่อถืออ้างอิงได้ นอกจากนี้อุปกรณ์เครื่องแก้วเครื่องมือที่จะส่งผลต่อความถูกต้องของผลวิเคราะห์ก็ต้องผ่านการสอบเทียบมาตรฐาน (calibration) ตามระยะเวลาที่กำหนด ความเข้าใจในหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติงานให้เป็นไปตามข้อกำหนดจะช่วยทำให้ห้องปฏิบัติการสามารถดำเนินงานและรักษาระบบคุณภาพไว้ได้
Photo Gallery