เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

เหตุการณ์สำคัญในเภสัชมหิดล


ภาควิชาเภสัชวินิจฉัย คณะเภสัชศาสตร์ จัดประชุมวิชาการ เรื่อง การใช้ HPTLC เพื่อการควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์สมุนไพรในทัศนะระดับชาติและระดับสากล

อ่านแล้ว 2,093 ครั้ง   
ตั้งแต่วันที่ 02 เมษายน 2555  
ภาควิชาเภสัชวินิจฉัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดการประชุมวิชาการ เรื่อง การใช้ HPTLC เพื่อการควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์สมุนไพรในทัศนะระดับชาติและระดับสากล เมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2556 ณ ห้องประชุม 302 อาคารเทพรัตน์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีนักวิจัย นักวิชาการ อาจารย์จากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสมุนไพรและผลิตภัณฑ์และผู้สนใจทั่วไป เข้าร่วมการประชุมวิชาการจำนวนกว่า 160 คน สมุนไพรได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ตั้งแต่โบราณกาล ในซีกโลกตะวันตกนับตั้งแต่ยุคสมัยเมโสโปเตเมีย และอียิปต์ หรือ ในซีกโลกตะวันออก ได้แก่ ประเทศจีน และ อินเดีย ต่างก็มีวิธีการนำสมุนไพรมาใช้เป็นยารักษาโรค อาหารบำรุงสุขภาพ และเครื่องสำอาง ปัจจุบันมีการนำสมุนไพรมาใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลก รวมทั้งมีการค้าสมุนไพรระหว่างประเทศทั้งในรูปวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพิ่มขึ้น และจากความแตกต่างในแหล่งที่มาของสมุนไพรตลอดจนวิธีการผลิต การควบคุมคุณภาพวัตถุดิบสมุนไพรจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค ทั้งในด้านคุณภาพและประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์สมุนไพร นอกจากนี้การผลิตสมุนไพรให้ได้คุณภาพตามข้อกำหนดของเภสัชตำรับ (Pharmacopoeia) ภายใต้กฎเกณฑ์การผลิตที่ดี (Good Manufacturing Practice GMP) เป็นที่ยอมรับและนำมาปฏิบัติกันทั่วโลก ดังนั้นวิธีการควบคุมคุณภาพจึงต้องสอดรับกับกฎเกณฑ์เหล่านี้ ประเทศไทยมีผู้ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรจำนวนมากทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งจำเป็นต้องได้รับความรู้ในการควบคุมคุณภาพวัตถุดิบสมุนไพรและผลิตภัณฑ์ที่ทันสมัย รงคเลขแนวระนาบ (Planar Chromatography) หรือ ทีแอลซี (TLC) คือวิธีการแยกสารบนแผ่นที่เคลือบด้วยตัวดูดซับ เป็นเทคนิคที่ได้รับความนิยมสูงในห้องปฏิบัติการควบคุมคุณภาพสมุนไพร ปัจจุบันมีการพัฒนาทีแอลซีสมรรถนะสูง (HPTLC) ทำให้การแยกสารดีขึ้นและยังได้นำไปผนวกกับเครื่องวัดความหนาแน่น (Densitometer) ทำให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับสารเพิ่มขึ้นช่วยในการพิสูจน์เอกลักษณ์และใช้ในการวิเคราะห์หาปริมาณ ประกอบกับมีเทคนิคต่างๆช่วยในการตรวจสารที่ไม่สามารถวิเคราะห์ได้ด้วย HPLC และสามารถทำการวิเคราะห์ได้หลายตัวอย่างในเวลาเดียวกันจึงประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย ภาควิชาเภสัชวินิจฉัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้จัดการประชุมวิชาการ เรื่อง การใช้ HPTLC เพื่อการควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์สมุนไพรในทัศนะระดับชาติและระดับสากลนี้ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมมีความรู้ ความเข้าใจในการใช้ HPTLC ในการควบคุมคุณภาพวัตถุดิบสมุนไพรและผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพร และเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการควบคุมคุณภาพสมุนไพร สำหรับบรรยากาศในการประชุมวิชาการในวันแรก ประกอบด้วยการบรรยาย เรื่อง การควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์สมุนไพรในสถานประกอบการ โดย ภญ.มัณฑนา สุทธานุรักษ์ สมาคมผู้ผลิตยาสมุนไพร การขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สมุนไพรในประเทศไทย ปัจจุบันและอนาคต โดย ภก.วินิต อัศวกิจวิรี สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข การพิสูจน์เอกลักษณ์วัตถุดิบสมุนไพรอย่างรวดเร็ว: กรณีศึกษา Aristolochia spp. การวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติด้วย HPTLC ในทัศนะของนานาชาติ และการควบคุมคุณภาพแนวใหม่ของตำรับยาสมุนไพร โดย Dr.Eike Reich, Director of CAMAG Laboratory, Switzerland การวิเคราะห์สารสำคัญในสมุนไพรที่ปราศจาก Chromophore ด้วยการใช้ HPTLC-Densitometer โดย รศ.ดร.วันชัย ดีเอกนามกูล คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย งานบริการด้านควบคุมคุณภาพสมุนไพรของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย รศ.ดร.อ้อมบุญ วัลลิสุต คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล




Photo Gallery



บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


ยาหอม กับคนวัยทำงาน 3 วินาทีที่แล้ว
ว่านชักมดลูก 11 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้