เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


สิวเชื้อรา และการรักษา


เภสัชกร สุรศักดิ์ วิชัยโย ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 450,573 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 10/07/2558
อ่านล่าสุด 1 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 


สิว อาจเป็นปัญหากวนใจวัยรุ่นหลายๆคน หรือแม้แต่วัยผู้ใหญ่เองก็พบได้เช่นกัน โดยเฉพาะสิวบนใบหน้าที่อาจทำให้สูญเสียความมั่นใจได้ ด้วยเหตุนี้ บางคนตัดสินใจไปพบแพทย์ผิวหนัง ขณะที่บางคนเลือกที่จะค้นข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตซึ่งมักมีผู้มาเล่าประสบการณ์เกี่ยวกับสิว แล้วทดลองรักษาด้วยตัวเอง แต่หากผื่นที่เราเห็นว่าคล้ายสิวนั้นแท้จริงแล้วไม่ใช่สิวทั่วๆไปที่เราคุ้นเคย ยารักษาสิวแบบเดิมที่เราใช้อยู่อาจไม่ช่วยให้หายเป็นปกติ ซึ่งปัจจุบันในเว็บไซต์ต่างๆ มีการกล่าวถึงสิวชนิดหนึ่งเรียกว่า “สิวเชื้อรา” ทั้งในแง่ของการให้ความรู้และการตั้งกระทู้ข้อสงสัย เช่น เป็นสิวทำไมหมอจ่ายยาฆ่าเชื้อรา เป็นต้น เรามาดูกันว่า สิวแบบนี้มีจริงหรือไม่ แล้วจะรักษาอย่างไร 
สิวเชื้อราคืออะไร 
“สิวเชื้อรา” หรือ “สิวยีสต์” อาจเป็นคำที่สื่อความหมายให้ผู้ป่วยเข้าใจได้ง่าย เนื่องจากผื่นที่พบบนผิวหนังนั้นมีลักษณะคล้ายสิว และยังบ่งบอกถึงสาเหตุว่าเกิดจากเชื้อรา แต่แท้จริงแล้ว ในทางการแพทย์เรียกโรคนี้ว่า “รูขุมขนอักเสบจากเชื้อรา (Malassezia folliculitis เดิมเรียกว่า Pityrosporum folliculitis)” โดยอาจพบเดี่ยวๆ หรือพบร่วมกับสิวทั่วๆไปที่มีสาเหตุจากทั้งการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน หรือการติดเชื้อแบคทีเรีย (Propionibacterium acnes หรือ P. acnes) เป็นต้น 
 
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของการเกิดสิวเชื้อรา 
เชื้อที่มักเป็นสาเหตุของโรคนี้ ได้แก่ เชื้อราประเภทยีสต์ในกลุ่ม “มาลาสซีเซีย (Malassezia species)” โดยทั่วไปจะพบเชื้อชนิดนี้ที่ผิวหนังของทุกคน แต่หากเชื้อมีการเจริญเติบโตมากผิดปกติ จะเป็นสาเหตุให้เกิดโรคผิวหนังหลายชนิด เช่น เกลื้อน โรครังแคอักเสบ (seborrheic dermatitis) รวมทั้งโรครูขุมขนอักเสบ เป็นต้น ซึ่งผู้ที่มีผิวมัน เหงื่อออกง่าย ผู้ที่อาศัยในสภาพอากาศร้อนและอับชื้น หรือผู้ที่มีรูขุมขนอุดตันจากการใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ถือว่ามีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดรูขุมขนอักเสบจากเชื้อราได้ นอกจากนี้ ผู้ที่ใช้ยาปฏิชีวนะเป็นเวลานาน (ทั้งชนิดรับประทานและทา) โดยเฉพาะยากลุ่มเตตร้าซัยคลิน (tetracyclines) หรือใช้ยากดภูมิคุ้มกัน เช่น รับประทานยากลุ่มสเตียรอยด์ หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ อาจส่งเสริมให้เกิดรูขุมขนอักเสบจากเชื้อราได้ง่ายเช่นกัน 
ลักษณะและอาการของสิวเชื้อรา 
โรครูขุมขนอักเสบจากเชื้อรา หรือสิวเชื้อรา ส่วนใหญ่มักเกิดที่ผิวหนังบริเวณหน้าอก แผ่นหลัง แต่สามารถพบได้ที่ไหล่ คอ และใบหน้า เป็นต้น ซึ่งจะมีลักษณะเป็นผื่นเม็ดเล็กๆ (papules) มีขนาดใกล้เคียงกัน (เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-2 มิลลิเมตร) และจากการที่เชื้อรา มาลาสซีเซีย เจริญเติบโตมากผิดปกติบริเวณรูขุมขน (hair follicle) จะกระตุ้นให้เกิดการอักเสบเป็นตุ่มแดงและอาจมีตุ่มหนอง (pustules) ร่วมด้วย ดังแสดงในรูปภาพ แต่ไม่มีลักษณะของสิวอุดตัน (comedones) และผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการคันบริเวณที่เป็นผื่น โดยเฉพาะในช่วงที่อากาศร้อนชื้น หรือช่วงที่ต้องทำกิจกรรมมากขึ้น เช่น ออกกำลังกาย ซึ่งแตกต่างจากสิวทั่วไปที่ไม่ค่อยมีอาการคัน 
 
ยาที่ใช้รักษาสิวเชื้อรา 
เนื่องจากสาเหตุของโรคเกิดจากเชื้อรา ดังนั้น ยาที่เหมาะสมในการรักษาจึงเป็นยาฆ่าเชื้อรา ซึ่งมีทั้งรูปแบบยาทาผิวหนัง และยารับประทาน โดยหากแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรครูขุมขนอักเสบจากเชื้อรา หรือสิวเชื้อรา การรักษามักเริ่มด้วยยารับประทาน เนื่องจากมีประสิทธิภาพสูงกว่ายาทา ทั้งนี้อาจเป็นเพราะยาสามารถแพร่กระจายไปยังรูขุมขนซึ่งอยู่ลึกลงไปในชั้นหนังแท้ได้ดี ขณะที่ยาทามักใช้เป็นยาเสริมร่วมกับยารับประทาน หรือใช้หลังจากที่ผื่นหายแล้ว เพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ ตัวอย่างยาที่มีการใช้รักษาโรครูขุมขนอักเสบจากเชื้อรา แสดงดังตาราง โดยทั่วไปจะใช้เวลารักษาประมาณ 1-2 เดือน แต่บางกรณีอาจใช้เวลารักษานานกว่านั้น เช่น กรณีที่เป็นซ้ำบ่อยๆ 
 
อาการข้างเคียงและข้อควรระวังของยาฆ่าเชื้อรา มีอะไรบ้าง 
กรณียาทาผิวหนังมักไม่ค่อยพบอาการข้างเคียงที่รุนแรง แต่อาจพบอาการระคายเคืองบริเวณที่ทายา เช่น ซีลีเนียม ซัลไฟด์ มีฤทธิ์ทำให้ผิวหนังลอก (keratolytic activity) ซึ่งอาจทำให้เกิดการระคายเคืองหรือผิวหนังถลอกได้ จึงควรทาทิ้งไว้เพียง 5-10 นาที แล้วล้างออก เป็นต้น ส่วนยาคีโตโคนาโซลชนิดรับประทาน ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาไม่แนะนำให้ใช้เป็นยาอันดับแรก (first-line drug) สำหรับรักษาโรคติดเชื้อรา เนื่องจาก 1) พบรายงานว่ายามีผลทำลายตับ ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต 2) ยากดต่อมหมวกไต ทำให้การสร้างฮอร์โมน คอร์ติโค-สเตียรอยด์ (corticosteroids) ลดลง ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อสมดุลน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย และ 3) ยามีผลรบกวนการออกฤทธิ์ของยาอื่นหลายชนิด (หรือยาตีกัน) ดังนั้น หากใช้ยานี้ ผู้ป่วยควรได้รับการติดตามเฝ้าระวังเหตุการณ์ข้างต้นจากแพทย์ผู้ทำการรักษา 
สำหรับยาฟลูโคนาโซล และไอทราโคนาโซล อาจทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง แต่ไม่พบในผู้ป่วยทุกคน นอกจากนี้ ยาทั้งสองชนิดอาจทำให้เกิดตับอักเสบได้เช่นกัน แต่พบน้อย อีกทั้งต้องระวังเรื่องยาตีกัน เช่น (1) เพื่อให้ยาถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายอย่างเพียงพอ ควรรับประทานยาไอทราโคนาโซล (แคปซูล) หลังอาหารทันที และห้ามใช้ร่วมกับยาลดกรดในกระเพาะอาหาร (2) ทั้งยาฟลูโคนาโซล และไอทราโคนาโซล มีผลรบกวนการออกฤทธิ์ของยาอื่นหลายชนิดที่อาจมีการใช้ร่วมกัน เป็นต้น 
จากข้อมูลที่นำเสนอมาทั้งหมด จะเห็นได้ว่าโรครูขุมขนอักเสบจากเชื้อรามีลักษณะคล้ายสิวมาก ดังนั้น ผู้ป่วยจึงควรได้รับการตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์ผิวหนัง ซึ่งจะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และบางกรณีอาจต้องนำเนื้อเยื่อหรือหนองจากบริเวณที่เป็นผื่นไปตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันว่าผื่นที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากเชื้อราชนิดดังกล่าวจริง นอกจากนี้ การใช้ยาแต่ละชนิด ควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกร ผู้ป่วยไม่ควรวินิจฉัยโรคหรือทดลองใช้ยาด้วยตัวเอง เพราะหากใช้ยาไม่ถูกต้อง อาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงจากยาได้ 
 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Rubenstein RM and Malerich SA. Malassezia (pityrosporum) folliculitis. J Clin Aesthet Dermatol. 2014;7(3):37-41.
  2. Ayers K, et al. Pityrosporum folliculitis: diagnosis and management in 6 female adolescents with acne vulgaris. Arch Pediatr Adolesc Med. 2005;159(1):64-67.
  3. Hald M, et al. Evidence-based Danish guidelines for the treatment of Malassezia-related skin diseases. Acta Derm Venereol. 2015;95(1):12-19.
  4. Sharquie KE, et al. Malassezia Folliculitis versus Truncal Acne Vulgaris (Clinical and Histopathological Study). J Cosmet Dermatol Sci Appl. 2012;2:277-282.
  5. Levin NA and Delano S. Evaluation and Treatment of Malassezia-Related Skin Disorders. Cosmet Dermatol 2011;24(3):137-145.
  6. FDA Drug Safety Communication: FDA limits usage of Nizoral (ketoconazole) oral tablets due to potentially fatal liver injury and risk of drug interactions and adrenal gland problems. Available from http://www.fda.gov/Drugs/DrugSafety/ucm362415.htm
  7. Br?ggemann RJ, et al. Clinical relevance of the pharmacokinetic interactions of azole antifungal drugs with other coadministered agents. Clin Infect Dis. 2009;48(10):1441-1458.
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


ยาไอซ์ (Ice) 1 วินาทีที่แล้ว
ยาลดไขมันในเลือด 15 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้