เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ยาดมมีอันตรายหรือไม่


รองศาสตราจารย์ ยุวดี วงษ์กระจ่าง ภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 285,306 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 15/07/2555
อ่านล่าสุด 45 นาทีที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

ในปัจจุบันยาดม ซึ่งใช้บรรเทาอาการหวัด คัดจมูก หน้ามืดตาลาย วิงเวียนศีรษะ กำลังเป็นที่นิยมในท้องตลาด โดยผู้ใช้ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีอายุอานามเลยวัยกลางคนขึ้นไป อย่างไรก็ตามยาดมสมัยใหม่มีการปรับปรุงเพื่อให้มีความทันสมัยเป็นที่เตะตาของกลุ่มวัยรุ่นมากขึ้น จึงได้รับการออกแบบให้มีความทันสมัย ขนาดกะทัดรัดเหมาะมือ ผลิตภัณฑ์รูปแบบนี้สร้างสรรค์เพื่อคนยุคใหม่ วัยทำงาน เนื่องจากคนยุคใหม่มักมีกิจกรรมและการผ่อนคลายหลังการทำงานในเวลาที่ค่อนข้างจำกัด จึงมักผ่อนคลายด้วยกลิ่นบำบัด (Aromatic) ยาดมจึงเป็นหนึ่งทางเลือกที่นำเสนอ นอกจากนี้ผู้ที่ต้องการอดบุหรี่ก็นิยมที่จะหันมาใช้ยาดมทดแทนการสูบบุหรี่ ทำให้เกิดคำถามว่า ยาดมมีอันตรายหรือไม่ 
ผลิตภัณฑ์ยาดม ส่วนใหญ่ประกอบด้วย เมนทอล การบูร พิมเสน น้ำมันหอมระเหยและอื่นๆ เช่นน้ำมันสะระแหน่ น้ำมันเขียว น้ำมันกานพลู หรือน้ำมันยูคาลิปตัส และยังมีน้ำมันระเหยยากช่วยในการละลาย เช่น น้ำมันงา น้ำมันแร่ หรืออาจมีสารสกัดจากสมุนไพรบ้าง องค์ประกอบหลักของเมนทอลหรือเรียกว่าเกล็ดสะระแหน่ การบูรและพิมเสน รวมถึงน้ำมันหอมระเหยเหล่านี้จะทำให้เกิดความรู้สึกเย็น ซ่า ในโพรงจมูก รู้สึกสดชื่น ตื่นตัวได้บ้าง แต่การสูดดมสารเหล่านี้บ่อยๆ อาจทำให้เยื่อเมือกบุทางเดินจมูก ที่สัมผัสกับกลิ่นที่เข้มข้น เกิดการระคายเคืองได้ 
เมนทอลหรือเกล็ดสะระแหน่ มีลักษณะเป็นผลึกสีขาว มีกลิ่นหอมเย็น มีอยู่ในนํ้ามันหอมระเหยที่ได้จากใบมิ้นต์ หรือที่เรียกว่าใบสะระแหน่ฝรั่ง มีประโยชน์ในการขับลม มักใช้แต่งกลิ่นและรสยา เช่น ยาเคลือบกระเพาะอาหาร มีฤทธิ์เป็นยาชาเฉพาะที่อย่างอ่อนๆ ลดการบวมของหลอดเลือดที่จมูก และลดอาการปวด สารนี้เมื่อสัมผัสกับผิวหนังทำให้รู้สึกเย็น แต่ในความเข้มข้นสูงและใช้ติดต่อกัน สารนี้อาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองบริเวณทางเดินหายใจ เมื่อสูดดม และอาจทำให้เกิดปอดอักเสบ 
การบูร มีลักษณะเป็นเกล็ดมันวาว สีขาว มีกลิ่นหอมเย็นฉุน เดิมสกัดจากต้นการบูร แต่ปัจจุบันเป็นสารสังเคราะห์ เนื่องจากทำได้ง่าย ราคาถูกกว่าสกัดจากพืช การบูรถูกดูดซึมทางผิวหนังได้ดี และรู้สึกเย็นเมื่อสัมผัสกับผิวหนังเช่นเดียวกับเมนทอล มีฤทธิ์เป็นยาชาและต้านจุลินทรีย์อย่างอ่อนๆ ใช้ทาเฉพาะที่แก้เคล็ดบวม ขัดยอก แพลง แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย และโรคผิวหนัง นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง อาจเกิดอันตรายจากการสูดดม เนื่องจากระคายเคืองทางเดินหายใจ เคยมีรายงานการชักในเด็กทารกเมื่อกินโดยบังเอิญ มีการนำการบูรมาใส่ในรถยนต์ เพื่อปรับอากาศ ทำให้หอมสดชื่น พบว่าการบูรเป็นสารระเหิดได้ เมื่อใส่ในรถยนต์ที่เปิดเครื่องปรับอากาศตลอดเวลา การบูรจะระเหิดไปเกาะที่ช่องแอร์ และหากจอดรถยนต์ทิ้งไว้ในที่อากาศร้อน อัตราการระเหิดก็จะเร็วยิ่งขึ้น ทำให้รู้สึกว่าการบูรลดจำนวนลง หากมีการใส่การบูรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่ได้เปิดประตู หรือหน้าต่าวทิ้งไว้ให้ระเหิดออกมาด้านนอก ความเข้มข้นของกลิ่นการบูรเพิ่มขึ้น และทำให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยเฉพาะปอดและตับได้ 
พิมเสน มีลักษณะเป็นเกล็ดเล็กๆ แบนๆ สีขาวขุ่นหรือแดงเรื่อๆ กลิ่นหอมเย็น พิมเสนบริสุทธิ์รูปร่างเป็นหกเหลี่ยม ได้จากการนำการบูรมาหุงกับยาอื่นๆ แต่ปัจจุบัน ได้จากสารสังเคราะห์ซึ่งจะมีรสเผ็ดกัดลิ้นถ้าเป็นของแท้จากธรรมชาติจะไม่กัดลิ้นแต่จะทำให้เย็นปากคอ ประโยชน์ทางยา ใช้สูดดมแก้ลมวิงเวียน ทาภายนอกแก้เคล็ดขัดยอก แต่อาจเป็นอันตรายหากสูดดม เนื่องจากสารนี้ทำให้เกิดอาการระคายเคืองบริเวณทางเดินหายใจ นอกจากนี้สารนี้ยังมีฤทธิ์กระตุ้นและสงบระบบประสาทส่วนกลาง 
ยาดมที่ประกอบด้วยสารหลัก 3 ตัวนี้ เมื่อสูดดมจะทำให้โล่งจมูก และทำให้เกิดความรู้สึกเย็น ซ่า สดชื่น ตื่นตัว มีประโยชน์ในขณะที่เป็นลมวิงเวียน หรือคัดจมูก แต่การใช้ยาดมที่ถูกต้อง ควรสูดดมใกล้ๆ แต่ไม่สัมผัสโดยตรง ไม่ควรให้หลอดยาเข้าไปค้างไว้ในจมูก เพราะสารทุกตัวอาจทำให้ระคายเคืองเมื่อสัมผัส ควรหลีกเลี่ยงการใช้หลอดยาดมที่สัมผัสจมูกผู้อื่นแล้ว เพราะอาจทำให้ติดเชื้อได้ อนึ่งยาดมมีฤทธิ์เพียงลดอาการเพียงชั่วคราว ถ้าเป็นมากควรไปพบแพทย์ ยาดมที่เป็นลักษณะยาน้ำ หรือ ยาขี้ผึ้ง ให้ป้ายสำลีหรือผ้าเช็ดหน้า หรือทาบางๆ ที่หน้าอก แล้วสูดไอระเหย หรืออาจทาด้านนอกของจมูกแต่ต้องใช้ยาปริมาณน้อยๆ และหากมีโรคของโพรงจมูกอยู่เช่น โพรงจมูกอักเสบจากการแพ้ ติดเชื้อในโพรงจมูกหรือไซนัสอักเสบควรหลีกเลี่ยงการใช้ เนื่องจากอาการแพ้ซึ่งอาจมีเยื่อบุโพรงจมูกเสียหายอยู่แล้ว หากสูดยาดมที่มีเข้มข้นมากๆ อาจระคายเคืองมากขึ้น อนึ่ง ยาสูดดมนี้อาจเกิดอันตรายกับเด็ก ดังนั้นควรเก็บรักษาไว้ให้ห่างมือเด็ก 
สำหรับยาหม่องน้ำซึ่งมีข้อบ่งใช้คือ ทาแก้อาการปวดเมื่อย มีตัวยาหลักคือ เมทิลซาลิซัยเลต นอกเหนือจาก เมนทอล การบูร พิมเสน ไม่ควรนำมาใช้สูดดม เพราะจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองบริเวณทางเดินหายใจ 
ยาดมยังอาจทำให้เกิดการเสพติดได้ เนื่องจากสารเคมีที่ใช้ผลิตบางชนิด เช่น เมนทอล และการบูร ซึ่งเป็นสารมีผลต่อระบบประสาทจึงอาจทำให้เกิดการเสพติดได้ แต่การ ”ติดยาดม” นั้นจะเป็นรูปแบบที่ใช้จนติดเป็นนิสัย คล้ายคลึงกับการที่เราชอบหมุนปากกา ต้องกอดหมอนข้างในเวลานอน โดยสังเกตว่าหากวันไหนที่เราลืมเอายาดมออกจากบ้าน ไม่ได้ดมยาดมตลอดวัน อย่างมากเราอาจรู้สึกอยากสูดยาดมบ้าง แต่เมื่อทำงานหรือเรียนในระหว่างวันเราก็ละเลยความคิดนั้นไปได้ 
จะเห็นได้ว่า ยาดมเป็นยาสามัญประจำบ้านที่มีประโยชน์ หากรู้จักใช้อย่างถูกวิธี ระมัดระวัง และไม่สูดดมต่อกันเป็นเวลานาน เมื่อมีอาการผิดปกติควรเลิกใช้ทันทีและรีบปรึกษาแพทย์ การมีไว้สำหรับคนที่จำเป็นใช้ ก็เป็นการป้องกันโรคบางอย่างได้ ทำให้สุขภาพดี โดยไม่ต้องพึ่งยา

 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Camphor overview information. http://www.webmd.com/vitamins-supplements/ingredientmono-709-CAMPHOR.aspx?activeIngredientId=709&activeIngredientName=CAMPHOR
  2. Galeotti Di Cesare Mannelli L, Mazzanti G, Bartolini A, Ghelardini C. Menthol: a natural analgesic compound. Neurosci Lett. 2002 Apr 12;322(3):145-8.
  3. India herbs - ancient remedies for modern times http://www.sherpa- strength.com/plant_phytochemistry.htm
  4. Menthol: Human effect, Toxnet http://toxnet.nlm.nih.gov/cgi- bin/sis/search/a?dbs+hsdb:@term+@DOCNO+5662
  5. Camphor: Human effect, Toxnet http://toxnet.nlm.nih.gov/cgi-bin/sis/search/r?dbs+hsdb:@term+@DOCNO+37
  6. Borneol : Human effect, Toxnet http://toxnet.nlm.nih.gov/cgi-bin/sis/search/a?dbs+hsdb:@term+@DOCNO+946


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


ยาดมมีอันตรายหรือไม่ 1 วินาทีที่แล้ว
การเดินเพื่อสุขภาพ 1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้