เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


แพ้ยา?? คุณแน่ใจได้อย่างไร


เภสัชกร ธีรัตถ์ เหลืองมั่นคง ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 151,926 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 12/02/2555
อ่านล่าสุด 1 วันที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

“แพ้ยาอะไรหรือเปล่าครับ/ค่ะ” เป็นคำถามที่ได้ยินเสมอเวลาไปรับบริการจากบุคลากรทางสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาลหรือเภสัชกร คำตอบยอดนิยมของคำถามนี้ คือ แพ้เพนิซิลลิน แพ้ซัลฟา แต่บ่อยครั้งเมื่อถูกถามต่อว่าแพ้แล้วมีอาการอย่างไร หลายคนมักตอบว่า ท้องเสีย ง่วงนอน เวียนหัว คลื่นไส้ ซึ่งอาการเหล่านี้โดยมากไม่ใช่อาการแพ้ยา บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่ออธิบายความหมายที่แท้จริงของคำว่า “แพ้ยา” รวมทั้งข้อควรปฏิบัติเมื่อเกิดอาการแพ้ยาขึ้น 
“แพ้ยา” คือ ความผิดปกติของร่างกายที่มีต่อยาที่ใช้ ไม่ว่าจะด้วยการกิน ฉีด ทา หยอด สูด ความผิดปกติที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้เกิดกับทุกคน แต่เกิดขึ้นกับบางคนที่มีระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายไวต่อยามากกว่าปกติ คล้ายกับผู้ที่แพ้กุ้ง ปู ถั่ว เกสรดอกไม้ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนทั่วไปจะไม่แพ้กัน จะมีเพียงบางคนเท่านั้นที่แพ้ ซึ่งอาการแพ้ที่เกิดขึ้นจากอาหารหรือเกสรดอกไม้นี้คล้ายกับอาการแพ้ยา ไม่ว่าจะเป็นผื่นแดงที่ผิวหนัง ปากบวม ตาบวม หลอดลมตีบหายใจไม่ออก แน่นหน้าอก เนื่องจากทั้งสิ่งเหล่านี้และยา ล้วนแต่เป็นสิ่งที่กระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานไวมากกว่าปกติได้เหมือนกัน ดังนั้นการแพ้ยาจึงอาจถือได้ว่าเป็นความโชคร้ายเฉพาะตัว ไม่ใช่ยาตัวใดตัวหนึ่งจะทำให้แพ้เหมือนกันทุกคน แตกต่างกับ “อาการข้างเคียงของยา” ซึ่งหมายถึง ผลที่ไม่ใช่ผลการรักษาของยาที่จะต้องเกิดขึ้นกับทุกคนที่ได้รับยา เพียงแต่จะเกิดขึ้นมากน้อยแตกต่างกันไปขึ้นกับการรับรู้ของแต่ละบุคคล เช่น ยาแก้แพ้ลดน้ำมูกคอร์เฟน (chlorpheniramine) ทำให้เกิดอาการข้างเคียงคือง่วงนอน อาการนี้จะเกิดขึ้นกับทุกคนที่ทานยาลดน้ำมูก แต่บางคนง่วงนอนมากจนไม่สามารถขับรถหรือทำงานได้ บางคนอาจง่วงนอนนิดหน่อย แต่ยังสามารถขับรถและทำงานได้ตามปกติ้ เหตุที่แพทย์และเภสัชกร ต้องการแยกแยะให้ได้ว่าผลไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากยานั้นเป็นการ “แพ้ยา” หรือไม่ เนื่องจากมีการวิธีการปฏิบัติต่ออาการแพ้ยาและอาการไม่พึงประสงค์ของยาไม่เหมือนกัน ดังนี้ 
1. กรณี “แพ้ยา” แพทย์จะมุ่งรักษาอาการแพ้ยา พร้อมกับหายาที่เป็นสาเหตุของอาการแพ้ ซึ่งจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงและป้องกันไม่ให้แพ้ยาซ้ำอีก โดยผู้ที่แพ้ควรจดจำชื่อยาที่แพ้ให้ได้ (ไม่ควรจดจำเพียงชื่อกลุ่มยาหรือลักษณะยา เช่น ยาแก้ปวด แคปซูลแดงดำ) เพื่อแจ้งแก่ผู้ให้บริการทุกคนและทุกครั้งที่ไปรับบริการ รวมทั้งควรพกบัตรแพ้ยา (ซึ่งออกให้โดยเภสัชกรผู้ทำการประเมินหายาที่เป็นสาเหตุของการแพ้) ติดตัวไว้ด้วยเสมอ เพื่อป้องกันการแพ้ยาซ้ำ เนื่องจากการแพ้ยาที่เกิดขึ้นจะยังคงเกิดขึ้นซ้ำเสมอเมื่อได้รับยานั้นอีก แม้จะได้รับเพียงแค่ปริมาณเล็กน้อย อาการแพ้ยาที่กล่าวไปข้างต้น เช่น เป็นผื่นแดงที่ผิวหนัง ปากบวม ตาบวม ถือเป็นอาการแพ้ยาที่ไม่รุนแรง ในบางคนอาจมีการแพ้ที่รุนแรงหลังจากได้รับยาที่แพ้แม้เพียงแค่ครั้งแรก เช่น เป็นผื่นพุพอง ผิวหนังหลุดลอก ความดันโลหิตต่ำมากจนหมดสติ 
2. กรณี “อาการข้างเคียงของยา” แพทย์จะประเมินความรุนแรงของอาการข้างเคียงนั้น เพื่อดูว่ายาที่ใช้มีความจำเป็นต้องใช้ต่อไปมากน้อยเพียงใด จะมีคำแนะนำหรือวิธีใดที่จะช่วยลดอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นนั้นหรือไม่ เช่น ยาทำให้ง่วงนอนมาก อาจเปลี่ยนจากรับประทานตอนเช้าเป็นก่อนนอน ยาที่ทำให้คลื่นไส้มาก อาจเปลี่ยนจากรับประทานตอนท้องว่างเป็นรับประทานพร้อมอาหาร เนื่องจากยาบางชนิดมีความจำเป็นต้องใช้มากและอาจไม่มียาอื่นที่สามารถทดแทนได้อย่างเหมาะสม การหยุดใช้ยานั้นเนื่องด้วยอาจเข้าใจผิดว่าเป็นการแพ้ยา จะทำให้เสียโอกาสในการได้รับยาที่ดีและเหมาะสมที่สุดไป 
จากที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น การแพ้ยาถึงแม้จะไม่สามารถคาดเดาล่วงหน้าได้ แต่ความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้องในเรื่องการแพ้ยานี้จะช่วยทำให้ป้องกันการแพ้ยาซ้ำ ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้จากความร่วมมือและใส่ใจของทุกคน 
หมายเหตุ อาการแพ้ยาและอาการข้างเคียงของยาที่ยกตัวอย่างในบทความ เป็นเพียงอาการที่พบได้บ่อยเท่านั้น อาจพบอาการอื่นๆ นอกเหนือจากที่ได้ยกตัวอย่างไว้

 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Tisdale JE, Miller DA, editors. Drug-induced diseases: prevention, detection, and management. American Society of Health-System Pharmacists; 2010.
  2. Volcheck GW. Clinical allergy: diagnosis and management. Totowa, NJ: Springer; 2009.
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


โรคไข้เลือดออก 1 วินาทีที่แล้ว
ดอกคาโมมายล์ 7 วินาทีที่แล้ว
ยาไอซ์ (Ice) 26 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้