เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ปี 2011/2012


คณาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 24,982 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 18/09/2554
อ่านล่าสุด 1 วันที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่เป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของทั่วโลก สาเหตุของโรคคือเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (influenza virus) ซึ่งแพร่กระจายได้ง่ายโดยการหายใจเอาเชื้อโรคนี้เข้าไป เชื้อไวรัสนี้มีทั้งหมด 3 ชนิด คือ A, B และ C โดยเชื้อที่เป็นสาเหตุของการระบาดมากที่สุดและรุนแรงที่สุดคือ ชนิด A อาการแสดงที่เกิดขึ้นจะมีความรุนแรงและบางรายอาจเสียชีวิตได้ ไวรัสนี้มีการระบาดอยู่เป็นประจำทุกปีทั่วโลก (seasonal flu) โดยช่วงเวลาที่มีการระบาดมากที่สุดคือช่วงฤดูหนาว ในอดีตนั้นเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่เคยมีการระบาดอย่างรุนแรงและทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากหลายครั้ง ครั้งที่ทำให้เกิดความสูญเสียมากที่สุด ได้แก่ Spanish flu ในปี พ.ศ. 2461 ซึ่งมีประมาณการว่ามีผู้เสียชีวิตถึง 40 ล้านรายทั่วโลก ล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2552 ได้มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่อีกครั้งหนึ่งซึ่งแม้จะมีรายงานจำนวนผู้เสียชีวิตไม่มากแต่ก็มีจำนวนผู้ติดเชื้อกว่า 620,000 ราย (1) และเสียชีวิต 18,000 รายทั่วโลก (2)

ไข้หวัดใหญ่แพร่กระจายทางอากาศ มักระบาดจากการที่ผู้ป่วยหายใจเอาเชื้อที่แพร่กระจายอยู่ในอากาศเข้าไป อาการแสดงของไข้หวัดใหญ่จะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย ส่วนมากจะมีอาการแสดงอย่างหนึ่งอย่างใดต่อไปนี้ ได้แก่ มีไข้ หนาวสั่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดหัว อ่อนเพลีย ในเด็กส่วนมากจะมีการอาเจียนหรือท้องเสียร่วมด้วย ซึ่งการป้องกันที่ดีที่สุดคือการฉีดวัคซีนป้องกันโรค วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่เป็นวัคซีนเชื้อตาย ประกอบด้วยเชื้อ 3 ชนิด เป็น ชนิด A 2 ชนิดและชนิด B 1 ชนิด เนื่องจากตัวเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่มีสารพันธุกรรมเป็น RNA สายสั้นๆ จำนวน 8 สาย ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ได้ง่าย สายพันธุ์ที่ระบาดในแต่ละปีจะแตกต่างกันไป จำเป็นต้องฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันทุกปี โดยในแต่ละปีผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลก (World Health Organization; WHO) และสถาบันวิจัยต่างๆ ได้แก่ Center for Disease Control and Prevention (USA) National Institute for Medical Research (London, UK) Victoria Infectious Diseases Reference Laboratory (Melbourne, Australia) National Institute for Infectious Diseases (Tokyo, Japan) และ National Institute for Viral Disease Control and Prevention (Beijing, China) จะทำการศึกษาสายพันธุ์ที่ระบาดและคาดการณ์ถึงสายพันธุ์ที่น่าจะระบาดในปีต่อไปแล้วจึงนำสายพันธุ์ดังกล่าวมาทำการผลิตวัคซีนต่อไป โดยในปี พ.ศ. 2554 ทาง WHO ได้คัดเลือกไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ที่จะนำมาผลิตวัคซีนสำหรับซีกโลกเหนือในปี พ.ศ. 2554/2555 ดังนี้ 
A/California/7/2009 (H1N1) – like virus
A/Perth/16/2009 (H3N2) – like virus
B/Brisbane/60/2008 – like virus

ซึ่งทั้ง 3 สายพันธุ์เป็นสายพันธุ์เดียวกับที่ใช้ผลิตวัคซีนในปี พ.ศ. 2553/2554 และเมื่อ 29 กันยายน 2553 ทางองค์การอนามัยโลกได้ประกาศสายพันธุ์ที่ใช้ผลิตวัคซีนสำหรับซีกโลกใต้ ดังนี้
A/California/7/2009 (H1N1) – like virus
A/Perth/16/2009 (H3N2) – like virus*
B/Brisbane/60/2008 – like virus
* A/Wisconsin/15/2009 and A/Victoria/210/2009 are A/Perth/16/2009 – like virus

โดยจะทำการฉีดเพียง 1 ครั้งในผู้ที่อายุมากกว่า 8 ปี ภูมิคุ้มกันจะสร้างภายใน 2 สัปดาห์หลังจากได้รับวัคซีน และแนะนำให้ฉีดแก่กลุ่มเสี่ยง เช่น บุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องใกล้ชิดกับผู้ป่วย ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก ผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เป็นต้น

บทความโดยดร. กฤษณ์ ถิรพันธุ์เมธี
 ภาควิชาจุลชีววิทยา 
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Pandemic (H1N1) 2009 – update 76. Global Alert and Response (GAR). World Health Organization. 27 November 2009.
  2. Pandemic (H1N1) 2009 – update 100. Disease Outbreak News (WHO). 14 May 2010.


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


สมุนไพรแก้ไอ 9 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้