เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


สวยทันใจสวยสั่งได้ด้วยมือหมอ ก่อนไปพบแพทย์ ควรรู้อะไรบ้าง?


รศ.ดร.พิมลพรรณ พิทยานุกุล ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 25,620 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 31/07/2554
อ่านล่าสุด 1 วันที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 


กลายเป็นเรื่องค่อนข้างปกติแล้วสำหรับการเห็นดารานักร้องและบุคคลสำคัญที่ปรากฏในจอทีวีล้วนแต่เต่งตึง ไม่พบริ้วรอยบนใบหน้าแม้เพียงน้อยนิด คนที่มีอายุร่วม 60 กลับดูเหมือนเพียง 30 ปลายเท่านั้นเอง ดาราหรือนักร้องวัยรุ่นที่ไม่มีดั้ง คางสั้น กลับกลายเป็นมีดั้ง จมูกโด่ง คางแหลม คิ้วโก่ง ส่วนดาราสูงวัยกลับดูเด็กลงอย่างมากมาย ใบหน้าปราศจากริ้วรอยตีนกา ปราศจากร่องแก้มลึก หางตาไม่ตก และไม่มีร่องลึกใต้ตา แลดูสวยไปหมดเพียงชั่วข้ามคืน ภาพความสวยความสาวของดารานักร้องและสาวไฮโซไฮซ้อทั้งหลายในตู้ทีวี รวมถึงการโฆษณาคลินิคแพทย์ที่ให้ความหวังในการฟื้นฟูความสวยความสาวช่างยั่วยวนให้ผู้หญิงทั้งหลาย รวมถึงวัยรุ่นเข้ารับบริการอย่างมากมาย เพื่อเสริมแต่งใบหน้าให้ได้รูปตามที่ปรารถนา บทความนี้จึงอยากแนะนำข้อมูลสำคัญที่ควรรู้ก่อนเข้ารับบริการเสริมความงามจากแพทย์

สารเติมเต็ม (Fillers) คืออะไร 
สารเติมเต็ม ถูกจัดหมวดหมู่ให้เป็น ‘อุปกรณ์การแพทย์’ ชนิดหนึ่ง ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ทั้งของประเทศไทยและต่างประเทศรับรองและอนุญาตให้ใช้เพื่อฉีดเข้าใต้ผิวหน้าเพื่อไปเติมเต็มส่วนที่พร่องไปให้กลับเต่งตึงขึ้น ช่วยลบเลือนริ้วรอย ร่องลึกตามส่วนต่างๆบนใบหน้า ปัจจุบันมีการนำมาใช้ฉีดในบริเวณต่างๆของใบหน้า เพื่อเติมเต็มร่องลึกข้างจมูกและรอบริมฝีปาก เติมเต็มวงลึกใต้ตา ใช้ฉีดเข้าหางตาเพื่อยกหางตาและหางคิ้วไม่ให้ตก นอกจากนี้ยังนิยมใช้ฉีดเข้าปลายจมูกให้มีติ่งเป็นหยดน้ำ หรือฉีดเข้าปลายคางให้แหลม หรือฉีดเพื่อเสริมดั้งจมูกให้โด่งขึ้น บางคนฉีดเพื่อให้ริมฝีปากนูน เทคโนโยยีทางวิทยาศาสตร์การแพทย์เหล่านี้ ช่วยทำให้หญิงชายในยุคปัจจุบันสวยได้ทันใจ โดยไม่ต้องทำศัลยกรรมผ่าตัดเพื่อดึงหน้าหรือยกกระชับเหมือนสมัยก่อน อย่างไรก็ตาม ผู้ที่สนใจควรจะศึกษาข้อมูลประกอบ จะได้ทำความรู้จักกับสารหรือวัสดุที่คุณหมอจะฉีดให้ และควรคัดเลือกศุนย์บริการหรือแพทย์เฉพาะทางก่อนเข้ารับบริการ

วัสดุวิทยาศาสตร์ที่ใช้เป็นสารเติมเต็ม 
วัสดุวิทยาศาสสตร์ที่ใช้เป็นสารเติมเต็ม มีอยู่ 2 กลุ่ม คือ ชนิดให้ผลถาวร และชนิดให้ผลชั่วคราว

  • ชนิดถาวร 
    โพลีเมทฺธิลเมทาไคลเลต (Polymethylmethacrylate, PMMA) มีลักษณะเป็นเม็ดบีดส์หรือลูกบอลขนาดละเอียดและเรียบ สามารถเข้ากับเนื้อเยื่อของคนเราได้ดีและไม่ถูกดูดซับหรือดูดซึมโดยร่างกาย นิยมใช้ฉีดเพื่อเติมเต็มร่องแก้มรอบปากและข้างจมูก ข้อเสียคือเมื่อฉีดแล้ว หากไม่พอใจต้องให้แพทย์ผ่าเอาออก
  • ชนิดชั่วคราว 
    วัสดุวิทยาศาสตร์เหล่านี้ จะให้ผลเพียงชั่วคราวเท่านั้น มีคุณสมบัติคล้ายคลึงกับวัสดุธรรมชาติที่ร่างกายคนเรามีอยู่ ซึ่งเมื่อฉีดเข้าใต้ผิวหนัง เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งก็จะสลายไป สารเติมเต็มบางชนิดจะประกอบไปด้วยยาชา เช่น ลิโดเคน เพื่อช่วยลดความเจ็บปวดระหว่างการฉีดสารเข้าใต้ผิวหนัง ตัวอย่างของสารเติมเต็มที่ใช้ทั่วไป มี 4 ชนิด คือ
    1. คอลลาเจน (Collagen) คือโปรตีนชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของผิวหนังและเนื้อเยื่อส่วนอื่นๆของร่างกาย สารสกัดคอลลาเจนที่ถูกใช้เป็นสารเติมเต็ม ส่วนใหญ่มักจะสกัดจากวัวหรือเซลของคน ให้ผลระยะสั้นเพียง 3-4 เดือน นับเป็นวัสดุที่ให้ผลสั้นที่สุด
    2. ไฮยารูโลนิค แอซิด (Hyaluronic acid) หรือที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ ‘เรสไตเลน’ (Restylane) จัดเป็นน้ำตาลชนิดหนึ่ง (มีโครงสร้างทางเคมีคล้ายน้ำตาล) ซึ่งเป็นวัสดุธรรมชาติที่ร่างกายคนเรามีอยู่ในเนื้อเยื่อชนิดต่างๆ เช่น กระดูกอ่อน และผิวหนัง วัสดุชนิดนี้สามารถรวมกับน้ำหรือความชื้นได้ดีและบวมน้ำกลายเป็นเจลนุ่มๆ เมื่อนำมาฉีดเข้าใต้ผิวหนังที่มีริ้วรอยหรือร่องลึกข้างจมูก ทำให้ริ้วรอยเหี่ยวย่นเลือนหายไปทันตา ผิวหนังบริเวณนั้นจะเรียบขึ้น ร่องลึกจะถูกลบเลือนจนหมดหรือเกือบหมดทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณของสารเติมเต็มที่ถูกฉีดเข้าใต้ผิวหนัง วัสดุชนิดนี้มักจะถูกสกัดและเตรียมขึ้นจากไบโอเทคโนโลยีหรือใช้เชื้อแบคทีเรียเป็นสารตั้งต้นในการเตรียม ในปัจจุบันมีการดัดแปลงโครงสร้างโมเลกุลของสารกลุ่มนี้ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อให้สามารถมีอายุได้นานขึ้นใต้ผิวหนังประมาณ 6-12 เดือน
    3. แคลเซี่ยม ไฮดรอกซี่อปาไทด์ (Calcium hydroxylapatite) จัดเป็นวัสดุแร่ธาตุชนิดหนึ่งที่พบทั่วไปในฟันและกระดูก การใช้เป็นสารเติมเต็ม สารชนิดนี้จะถูกเตรียมโดยแขวนกระจายในน้ำยาคล้ายเจล และนำมาฉีดเข้าใต้ผิวหนังบริเวณที่ต้องการ ระยะเวลาที่ให้ผลประมาณ 1 ปีหรือ 1 ปีครึ่ง
    4. 4. โพลี่ แอล แลคติด แอซิด (Poly-L-lactic acid, PLLA) จัดเป็นวัสดุโพลีเมอร์ที่ย่อยสลายเองได้ในร่างกาย นับเป็นวัสดุวิทยาศาสตร์ที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นเพื่อให้เข้ากับร่างกายคนเราได้ดี ใช้มากในการช่วยละลายไหมเย็บแผลและสกรูกระดูกในศัลยกรรมกระดูก สารเติมเต็มชนิดนี้นิยมใช้กันมากในยุโรปและอเมริกา กลไกการทำงานของวัสดุชนิดนี้คือช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนใต้ผิวหนังขึ้นใหม่ เพื่อเติมเต็มล่องลึกและริ้วรอยเหี่ยวย่น มีอายุประมาณ 2 ปี

ความเสี่ยงของการฉีดสารเติมเต็ม 
เช่นเดียวกับขั้นตอนทางการแพทย์ทั่วไป สารเติมเต็มก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายได้ และมีข้อจำกัดในการใช้งานบางประการ ผู้บริโภคจึงควรทำความเข้าใจให้ดีก่อนเข้ารับการบริการ อาการข้างเคียงส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นทันทีภายหลังจากการฉีดเข้าใต้ผิวหนัง และมักจะเลือนหายไปเองภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่วัน ในบางกรณีอาจมีอาการข้างเคียงประมาณ 1-2 สัปดาห์ หรือเป็นปีได้ สารเติมเต็มทุกชนิดสามารถทำให้เกิดอาการข้างเคียงได้ในระยะยาว หรืออาการข้างเคียงถาวร หรือทั้งสองชนิดได้ อาการข้างเคียงที่พบได้ทั่วไป เช่น บวม แดง เป็นผื่น คัน เจ็บ ฟกช้ำ ส่วนอาการข้างเคียงที่พบได้ไม่บ่อยนัก เช่น ผิวหนังมีลักษณะเป็นเนื้อนูน ซึ่งต้องให้แพทย์ผ่าตัดออก, ความเสี่ยงในการติดเชื้อ, มีแผลเปิด, มีอาการแพ้, หรือเกิดเนื้อตายบริเวณที่ฉีดสารเติมเต็ม เป็นต้น 
นอกจากนี้ยังปรากฏพบอาการข้างเคียงที่มีรายงาน เช่น การเคลื่อนที่ของสารเติมเต็มจากตำแหน่งเดิม, การรั่วไหลของสารเติมเต็มออกสู่ผิวหนังชั้นบน ซึ่งกรณีนี้มักจะเกิดจากการอักเสบจากการติดเชื้อหรือเกิดจากปฎิกิริยาของสารเติมเต็มต่อผิวหนังบริเวณที่ฉีด หรือบางคนอาจมีอาการคล้ายเป็นไข้หวัดใหญ่หรือมีสายตาพร่าฟาง หากตัดสินใจจะเอาสารเติมเต็มออกเพราะไม่ถูกใจหรือไม่ถูกที่ที่ต้องการ ต้องให้แพทย์ผ่าตัดออก ซึ่งจะมีความเสี่ยงเช่นเดียวกับการผ่าตัดทั่วไป ดังนั้นจึงควรตัดสินใจก่อนเข้ารับบริการ เพราะข้อจำกัดและร่างกายแต่ละคนมีความอ่อนไหวและละเอียดอ่อนต่อสารเคมีหรือวัสดุวิทยาศาสตร์ไม่เท่ากัน คนส่วนใหญ่อาจจะไม่แพ้ ฉีดหลายๆครั้งก็ไม่เป็นไร แต่บางคนฉีดเพียงเล็กน้อยก็อาจสร้างปัญหาใหญ่หลวงได้

ข้อมูลสำหรับผู้บริโภคที่ต้องการรับบริการจากสารเติมเต็ม 
 

  • ควรจะรับบริการจากแพทย์เฉพาะทางด้านผิวหนัง หรือ ศัลยกรรมตกแต่งความงามโดยตรง
  • ควรเลือกแพทย์ที่ชำนาญและผ่านประสพการณ์การใช้สารเติมเต็มโดยตรง เนื่องจากการฉีดสารเติมเต็มจัดเป็นขั้นตอนของทางการแพทย์ ไม่ใช่การบำรุงรักษาด้วยวิธีทางเครื่องสำอางทั่วไป
  • ควรจะรู้ว่าผลิตภัณฑ์ที่แพทย์เลือกฉีดให้คืออะไร ชื่ออะไร และมีอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นกับเราเป็นอย่างไร
  • ควรจะข้อดูฉลากที่ขวดยาว่า เป็นชนิดที่ผ่านการรับรองจากอย.หรือไม่
  • ควรจะปรึกษาแพทย์ที่ให้บริการถึงผลคาดหวังที่จะได้รับ ว่าเราคาดหวังอย่างไร และแพทย์ผู้ให้บริการคาดหวังอย่างไร ตรงกันหรือไม่ เช่น ร่องแก้มที่ลึกมาก ควรฉีดสารมากน้อยเท่าไหร่ หรือให้ผลนานกี่เดือน รวมถึงราคาที่ตกลงกันในปริมาณของสารเติมเต็มที่ฉีด
  • นอกจากนี้ผู้บริโภคควรรู้ว่า สารเติมเต็มที่อย.รับรองให้ใช้นี้ เป็นผลที่ได้จากการศึกษาทดลองจากการศึกษาทางคลินิคบนผิวหน้า ส่วนการฉีดซ้ำหลายๆครั้งหรือบ่อยๆ ทุกๆระยะเวลาเมื่อสารเสื่อมสภาพนั้น ยังไม่ได้ผ่านการประเมินความปลอดภัย
  • ปัญหาที่เกิดขึ้นจากขั้นตอนการใช้สารเติมเต็มจะไม่ได้อยู่ครอบคลุมอยู่ในเงื่อนไขของการประกันสุขภาพ
  • ความปลอดภัยที่จะใช้ในคนท้องหรือหญิงที่อยู่ระหว่างให้นมบุตร และผู้รับบริการที่มีอายุต่ำกว่า 18 ยังไม่มีข้อมูล

ผู้ที่ไม่ควรเข้ารับบริการสารเติมเต็ม 
 

  • ผู้ที่ผิวหนังยังมีอาการติดเชื้อ หรืออักเสบ หรือพบตุ่ม ผื่นแดง ควรงดเว้น จนกว่าอาการดังกล่าวจะหายหมด
  • ผู้ที่มีผิวแพ้ง่ายผิดปกติหรือผิวอ่อนไหวหรือเป็นแผลง่าย
  • ผู้ที่มีเลือดไหลออกง่าย หรือมีปัญหาเลือดไหลไม่หยุดที่ผิดปกติ
  • ผู้ที่แพ้ไข่หรือคอลลาเจน หากสารเติมเต็มที่ใช้ได้มาจากไข่หรือคอลลาเจน
  • ผู้ที่แพ้ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากสัตว์ หากสารเติมเต็มที่ใช้ได้มาจากส่วนประกอบจากสัตว์ เช่น วัว
  • ผู้ที่แพ้ยาชา เช่น ลิโดเคน

 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. http://www.fda.gov/MedicalDevices/ProductsandMedicalProcedures/CosmeticDevices/WrinkleFillers/default.htm
  2. http://www.wisegeek.com/what-is-a-wrinkle-filller.htm
  3. http://www.fda.gov/consumer/updates/wrinklefillers062608.html
  4. http://www.fda.gov/ohrms/dockets/ac/08/briefing/2008-4391b1-01%20-%20FDA%20Executive%20Summary%20Dermal%20Fillers.pdf


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


ยาที่ผู้หญิงพึงระวัง 33 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้