เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


พลาสติกแบบไหนที่สามารถเข้าไมโครเวฟได้


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภญ. จิราพร เลื่อนผลเจริญชัย ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ภาพประกอบจาก: https://aumento.officemate.co.th/media/c...mwidth=640
อ่านแล้ว 96,434 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 16/07/2564
อ่านล่าสุด 1 ช.ม.ที่แล้ว
https://tinyurl.com/yhgswrgk
Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ https://tinyurl.com/yhgswrgk
 


เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านถือว่าเป็นผู้ช่วยสำคัญในชีวิตประจำวันของเรา และหนึ่งในเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีกันเกือบทุกครัวเรือน โดยเฉพาะครอบครัวสมัยใหม่ นั่นคือ “ไมโครเวฟ” หรือ “เตาอบไมโครเวฟ” เพราะเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้น ทำให้ประหยัดเวลาในการทำอาหาร โดยเฉพาะเมนูอาหารที่มีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก และสอดคล้องกับวิถีชีวิตในปัจจุบันที่ต้องเร่งรีบ เพื่อให้ทันกับสถานการณ์โลกที่หมุนไป 
เตาอบไมโครเวฟเป็นเตาที่สร้างคลื่นไมโครเวฟจากพลังงานไฟฟ้ามาทำให้อาหารร้อน ไมโครเวฟที่ใช้กันทั่วไปเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (electromagnetic wave) มีความยาวคลื่นในช่วง 1 mm ถึง 1 m มีความถี่ของช่วงคลื่นในช่วง 300 MHz ถึง 300 GHz ซึ่งมีความถี่คลื่นสูงสุดประมาณ 2,450 ล้านรอบ/วินาที หรือ 2.45 GHz โดยคลื่นไมโครเวฟไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่สามารถสัมผัสได้ สามารถวัดได้โดยใช้เครื่องมือเฉพาะเท่านั้น โดยคลื่นไมโครเวฟมีคุณสมบัติ 3 ประการ ได้แก่ 1). การสะท้อนกลับ (reflection) เมื่อคลื่นไมโครเวฟไปกระทบกับภาชนะที่เป็นโลหะหรือภาชนะที่มีส่วนผสมของโลหะ คลื่นจะไม่สามารถทะลุผ่านภาชนะดังกล่าวได้ จะสะท้อนกลับหมด ดังนั้นอาหารที่ใส่ในภาชนะที่เป็นโลหะก็จะไม่สุก 2). การส่งผ่าน (transmission) โดยคลื่นไมโครเวฟสามารถทะลุผ่านภาชนะที่ทําจากแก้ว กระดาษ ไม้ เซรามิก และพลาสติกได้ ภาชนะดังกล่าวจึงเป็นภาชนะที่ใช้ได้ดีในเตาอบไมโครเวฟ 3). การดูดซึม (absorption) อาหารโดยทั่ว ๆ ไปจะประกอบด้วยโมเลกุลของน้ำในอาหารซึ่งจะสามารถดูดซึมคลื่นไมโครเวฟ ทําให้อาหารร้อนอย่างรวดเร็ว และเมื่อโมเลกุลของนํ้าดูดซึมคลื่นไมโครเวฟแล้ว คลื่นไมโครเวฟจะสลายตัวในทันทีไม่สะสมในอาหาร จึงไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ 
ระบบการทำงานของเตาไมโครเวฟคือ คลื่นไมโครเวฟที่มีความถี่สูงจะพุ่งเข้าสู่อาหารจากทุกทิศทุกทางโดยรอบของผนังเตาด้านในแล้วแผ่กระจายไปสู่อาหาร เมื่อคลื่นไปกระทบอาหาร ทําให้โมเลกุลของน้ำในอาหารเกิดการสั่นสะเทือนและชนโมเลกุลอื่น ๆ ต่อไปจนเกิดเป็นพลังงานจลน์ และพลังงานจลน์นี้เองจะกลายสภาพเป็นพลังงานความร้อน จึงทําให้อาหารสุกอย่างรวดเร็ว และเร็วกว่าการประกอบอาหารด้วยระบบอื่น ๆ จึงเป็นการรักษาคุณค่าของอาหารไว้อย่างครบถ้วน 
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์พลาสติกกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ในรูปแบบของใช้ในบ้าน เครื่องนุ่งห่ม วัสดุทางการแพทย์ วัสดุอาคาร รวมไปถึงการใช้เพื่อบรรจุอาหาร โดยผลิตภัณฑ์พลาสติกสามารถแบ่งตามชนิดของพลาสติกได้เป็น 7 ชนิด มีการแสดงไว้บนผลิตภัณฑ์เพื่อช่วยในเรื่องการคัดแยกพลาสติกสำหรับการรีไซเคิล ลักษณะสัญลักษณ์คือ ลูกศรวิ่งวนเป็นรูปสามเหลี่ยมด้านเท่า มีเลขกำกับอยู่ภายใน และมีตัวอักษรภาษาอังกฤษที่ฐานของสามเหลี่ยม ซึ่งเรียกว่า “รหัสชนิดพลาสติก” กำหนดโดย NA Society of the Plastics Industry ในปี ค.ศ. 1988 ดังแสดงในตารางที่ 1 
 
ปัจจุบันพลาสติกที่สามารถนำเข้าไมโครเวฟได้มี 2 ประเภทด้วยกัน คือ 1). พลาสติก C-PET (Crystalline Polyethylene Terephthalate) และ 2). พลาสติก PP (Polypropylene) โดยมีรายละเอียดแต่ละพลาสติกดังนี้

  1. พลาสติก C-PET ผลิตจากเม็ดพลาสติกโพลีเอทิลีนเทเรฟทาเลต (PETE หรือ PET) พลาสติกประเภทที่ 1 ชนิดเดียวกับที่ใช้ผลิตขวดน้ำพลาสติก ขวดน้ำมันพืช ขวดน้ำปลา แต่พลาสติก C-PET มีการเติมสารเร่งตกผลึกที่เรียกว่า nucleating agents เช่น triglyceride oils ที่ไม่อิ่มตัวและมีองค์ประกอบของหมู่ hydroxyl เป็นต้น เพื่อปรับปรุงคุณสมบัติให้ดีขึ้น ทำให้วัสดุมีความยืดหยุ่น ทนทานต่ออุณหภูมิและแรงดึง รวมถึงป้องกันการซึมผ่าน ไม่ให้อากาศเข้า-ออกได้ง่าย นิยมนำมาใช้เป็นกล่องใส่อาหารสำเร็จรูปแช่แข็งอย่างที่เห็นกันในร้านสะดวกซื้อทั่วไป และสามารถนำเข้าไมโครเวฟหรือเตาอบได้ โดยสามารถทนความร้อนได้สูงถึง 230 องศาเซลเซียส
  2. พลาสติก PP พลาสติกรีไซเคิลได้ประเภทที่ 5 เป็นพลาสติกที่มีความเหนียว อากาศสามารถผ่านได้เล็กน้อย แต่น้ำไม่สามารถซึมผ่านได้ นอกจากจะใช้เก็บอาหารสด อาหารแปรรูป และอาหารแช่แข็งได้ดี ทนต่อสารเคมีและอาหารที่มีฤทธิ์กัดกร่อนได้เล็กน้อยแล้ว ยังทนความร้อนได้ถึง 110 องศาเซลเซียส ดังนั้นสามารถใช้ใส่อาหารเพื่ออุ่นร้อนในไมโครเวฟได้

อย่างไรก็ตาม เพื่อความมั่นใจและความปลอดภัย ก่อนจะนำบรรจุภัณฑ์หรือภาชนะพลาสติกเข้าไมโครเวฟทุกครั้ง แนะนำให้ดูที่บรรจุภัณฑ์หรือภาชนะพลาสติกนั้นว่ามีสัญลักษณ์ไมโครเวฟเซฟ (Microwave Safe) หรือ ไมโครเวฟเอเบิล (Microwavable) ดังภาพที่ 1 หรือไม่ ถ้ามีก็แสดงว่าเอาเข้าไมโครเวฟได้อย่างปลอดภัย นอกจากนี้ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) มีการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) เกี่ยวกับภาชนะพลาสติกบรรจุอาหารสำหรับเตาไมโครเวฟ โดยแบ่งออกเป็น 1). มอก. 2493 เล่ม 1-2554 สำหรับการอุ่นแบบใช้ซ้ำ และ 2). มอก. 2493 เล่ม 2-2556 สำหรับการอุ่นครั้งเดียว ซึ่งพิจารณาคุณลักษณะด้านความปลอดภัย เช่น สีที่ใช้พิมพ์ สีที่ผสมในเนื้อพลาสติก ปริมาณสารที่ละลายออกมาจากภาชนะ โลหะในเนื้อพลาสติก เป็นต้น ความคงทนของตัวภาชนะ ได้แก่ ความทนความร้อนของภาชนะ ความทนแรงกระแทก เป็นต้น ดังนั้นผู้บริโภคจึงควรเลือกใช้ภาชนะที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานที่กำหนด เพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน 
 
 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. ชวน คล้ายปาน. เตาอบไมโครเวฟ [อินเทอร์เน็ต]. 27 ธันวาคม 2545 [เข้าถึงเมื่อ 23 พฤษภาคม 2564]. เข้าถึงได้จาก: http://www.dss.go.th/images/st-article/pep_2_2546_microwave.pdf
  2. กิตติมา วัฒนากมลกุล. ผลิตภัณฑ์พลาสติกกับอาหาร [อินเทอร์เน็ต]. 8 มกราคม 2555 [เข้าถึงเมื่อ 23 พฤษภาคม 2564]. เข้าถึงได้จาก: https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/86/ผลิตภัณฑ์พลาสติกกับอาหาร/
  3. วลัยพร มุขสุวรรณ. รหัสชนิดพลาสติก. หน่วยข้อสนเทศวัตถุอันตรายและความปลอดภัย ศูนย์ความเป็นเลิศแห่งชาติด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและของเสียอันตราย [อินเทอร์เน็ต]. 31 มีนาคม 2551 [เข้าถึงเมื่อ 23 พฤษภาคม 2564]. เข้าถึงได้จาก: http://www.chemtrack.org/News-Detail.asp?TID=4&ID=18
  4. PACKAGING INTELLIGENCE UNIT. พอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลตประเภท C-PET [อินเทอร์เน็ต]. [เข้าถึงเมื่อ 23 พฤษภาคม 2564]. เข้าถึงได้จาก: https://packaging.oie.go.th/new/admin_control_new/html-demo/file_technology/9120834765.pdf
  5. ปวริศา สีสวย, ภัสสร พงษ์เสวี. การเลือกใช้ภาชนะพลาสติกสำหรับเตาไมโครเวฟ. วารสารกรมวิทยาศาสตร์บริการ. 2559; 201: 19-20.
  6. สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.). มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) 2493 เล่ม 1-2554, มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ภาชนะพลาสติกบรรจุอาหารสำหรับไมโครเวฟ เล่ม 1 สำหรับการอุ่น. กรุงเทพฯ : สมอ., 2554.
  7. สมอ. มอก. 2493 เล่ม 2-2556, มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ภาชนะพลาสติกบรรจุอาหารสำหรับไมโครเวฟ เล่ม 2 สำหรับการอุ่นครั้งเดียว. กรุงเทพฯ : สมอ., 2557.
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

งานประชุมวิชาการที่กำลังเปิดรับสมัคร


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


โรคไลม์ (Lyme disease) 25 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้