Eng |
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภญ. จิราพร เลื่อนผลเจริญชัย ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านถือว่าเป็นผู้ช่วยสำคัญในชีวิตประจำวันของเรา และหนึ่งในเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีกันเกือบทุกครัวเรือน โดยเฉพาะครอบครัวสมัยใหม่ นั่นคือ “ไมโครเวฟ” หรือ “เตาอบไมโครเวฟ” เพราะเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้น ทำให้ประหยัดเวลาในการทำอาหาร โดยเฉพาะเมนูอาหารที่มีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก และสอดคล้องกับวิถีชีวิตในปัจจุบันที่ต้องเร่งรีบ เพื่อให้ทันกับสถานการณ์โลกที่หมุนไป
เตาอบไมโครเวฟเป็นเตาที่สร้างคลื่นไมโครเวฟจากพลังงานไฟฟ้ามาทำให้อาหารร้อน ไมโครเวฟที่ใช้กันทั่วไปเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (electromagnetic wave) มีความยาวคลื่นในช่วง 1 mm ถึง 1 m มีความถี่ของช่วงคลื่นในช่วง 300 MHz ถึง 300 GHz ซึ่งมีความถี่คลื่นสูงสุดประมาณ 2,450 ล้านรอบ/วินาที หรือ 2.45 GHz โดยคลื่นไมโครเวฟไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่สามารถสัมผัสได้ สามารถวัดได้โดยใช้เครื่องมือเฉพาะเท่านั้น โดยคลื่นไมโครเวฟมีคุณสมบัติ 3 ประการ ได้แก่ 1). การสะท้อนกลับ (reflection) เมื่อคลื่นไมโครเวฟไปกระทบกับภาชนะที่เป็นโลหะหรือภาชนะที่มีส่วนผสมของโลหะ คลื่นจะไม่สามารถทะลุผ่านภาชนะดังกล่าวได้ จะสะท้อนกลับหมด ดังนั้นอาหารที่ใส่ในภาชนะที่เป็นโลหะก็จะไม่สุก 2). การส่งผ่าน (transmission) โดยคลื่นไมโครเวฟสามารถทะลุผ่านภาชนะที่ทําจากแก้ว กระดาษ ไม้ เซรามิก และพลาสติกได้ ภาชนะดังกล่าวจึงเป็นภาชนะที่ใช้ได้ดีในเตาอบไมโครเวฟ 3). การดูดซึม (absorption) อาหารโดยทั่ว ๆ ไปจะประกอบด้วยโมเลกุลของน้ำในอาหารซึ่งจะสามารถดูดซึมคลื่นไมโครเวฟ ทําให้อาหารร้อนอย่างรวดเร็ว และเมื่อโมเลกุลของนํ้าดูดซึมคลื่นไมโครเวฟแล้ว คลื่นไมโครเวฟจะสลายตัวในทันทีไม่สะสมในอาหาร จึงไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์
ระบบการทำงานของเตาไมโครเวฟคือ คลื่นไมโครเวฟที่มีความถี่สูงจะพุ่งเข้าสู่อาหารจากทุกทิศทุกทางโดยรอบของผนังเตาด้านในแล้วแผ่กระจายไปสู่อาหาร เมื่อคลื่นไปกระทบอาหาร ทําให้โมเลกุลของน้ำในอาหารเกิดการสั่นสะเทือนและชนโมเลกุลอื่น ๆ ต่อไปจนเกิดเป็นพลังงานจลน์ และพลังงานจลน์นี้เองจะกลายสภาพเป็นพลังงานความร้อน จึงทําให้อาหารสุกอย่างรวดเร็ว และเร็วกว่าการประกอบอาหารด้วยระบบอื่น ๆ จึงเป็นการรักษาคุณค่าของอาหารไว้อย่างครบถ้วน
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์พลาสติกกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ในรูปแบบของใช้ในบ้าน เครื่องนุ่งห่ม วัสดุทางการแพทย์ วัสดุอาคาร รวมไปถึงการใช้เพื่อบรรจุอาหาร โดยผลิตภัณฑ์พลาสติกสามารถแบ่งตามชนิดของพลาสติกได้เป็น 7 ชนิด มีการแสดงไว้บนผลิตภัณฑ์เพื่อช่วยในเรื่องการคัดแยกพลาสติกสำหรับการรีไซเคิล ลักษณะสัญลักษณ์คือ ลูกศรวิ่งวนเป็นรูปสามเหลี่ยมด้านเท่า มีเลขกำกับอยู่ภายใน และมีตัวอักษรภาษาอังกฤษที่ฐานของสามเหลี่ยม ซึ่งเรียกว่า “รหัสชนิดพลาสติก” กำหนดโดย NA Society of the Plastics Industry ในปี ค.ศ. 1988 ดังแสดงในตารางที่ 1
ปัจจุบันพลาสติกที่สามารถนำเข้าไมโครเวฟได้มี 2 ประเภทด้วยกัน คือ 1). พลาสติก C-PET (Crystalline Polyethylene Terephthalate) และ 2). พลาสติก PP (Polypropylene) โดยมีรายละเอียดแต่ละพลาสติกดังนี้
อย่างไรก็ตาม เพื่อความมั่นใจและความปลอดภัย ก่อนจะนำบรรจุภัณฑ์หรือภาชนะพลาสติกเข้าไมโครเวฟทุกครั้ง แนะนำให้ดูที่บรรจุภัณฑ์หรือภาชนะพลาสติกนั้นว่ามีสัญลักษณ์ไมโครเวฟเซฟ (Microwave Safe) หรือ ไมโครเวฟเอเบิล (Microwavable) ดังภาพที่ 1 หรือไม่ ถ้ามีก็แสดงว่าเอาเข้าไมโครเวฟได้อย่างปลอดภัย นอกจากนี้ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) มีการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) เกี่ยวกับภาชนะพลาสติกบรรจุอาหารสำหรับเตาไมโครเวฟ โดยแบ่งออกเป็น 1). มอก. 2493 เล่ม 1-2554 สำหรับการอุ่นแบบใช้ซ้ำ และ 2). มอก. 2493 เล่ม 2-2556 สำหรับการอุ่นครั้งเดียว ซึ่งพิจารณาคุณลักษณะด้านความปลอดภัย เช่น สีที่ใช้พิมพ์ สีที่ผสมในเนื้อพลาสติก ปริมาณสารที่ละลายออกมาจากภาชนะ โลหะในเนื้อพลาสติก เป็นต้น ความคงทนของตัวภาชนะ ได้แก่ ความทนความร้อนของภาชนะ ความทนแรงกระแทก เป็นต้น ดังนั้นผู้บริโภคจึงควรเลือกใช้ภาชนะที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานที่กำหนด เพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน