เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


โรคย้ำคิดย้ำทำ


รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ. จิรภรณ์ อังวิทยาธร ภาควิชาเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ภาพประกอบจาก: https://www.mind.plus/wp-content/uploads...92x470.jpg
อ่านแล้ว 7,137 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 12/01/2564
อ่านล่าสุด 1 วันที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 


เชื่อว่าหลายท่านก่อนออกจากบ้านมักจะกังวลว่า ปิดน้ำปิดไฟ ปิดเตาแก็ส ถอดปลั๊กไฟ ใส่กุญแจบ้านหรือยัง พฤติกรรมเหล่านี้ไม่ได้เป็นสิ่งที่ผิดปกติมากจนถึงกับจัดเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ ถ้าเช่นนั้นจะต้องมีอาการแค่ไหน เพียงใดจึงจะบอกได้ว่าเป็นอาการของโรคย้ำคิดย้ำทำ 
 
ภาพจาก : https://miro.medium.com/max/720/1*1-jdqBea7Hc8vSlOhwqQQA.jpeg 
โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive Compulsive Disorder หรือ OCD) นั้น อาการของโรคเป็นเหมือนชื่อโรค คือมีอาการคิดและทำซ้ำ ๆ เรื่องเดิม ๆ โดยไม่สามารถบังคับตัวเองให้หยุดคิดหรือหยุดทำได้ จนทำให้เกิดผลเสียต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน 
อาการย้ำคิด เช่น คิดวิตกกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของตัวเองอยู่ตลอดเวลา กลัวติดเชื้อโรคจนทำให้ไม่กล้าแตะต้องสิ่งของหรือถูกเนื้อต้องตัวผู้อื่น กลัวการออกนอกบ้าน อาการย้ำทำจะเป็นการกระทำซ้ำ ๆ เพื่อตอบสนองหรือกำจัดความกลัวหรือความวิตกกังวล เช่น กลัวเชื้อโรคจนต้องล้างมือ อาบน้ำ หรือทำความสะอาดสิ่งของต่าง ๆ บ่อยจนเกินไป ต้องคอยตรวจเช็คน้ำไฟ เตาแก๊ส หรือกลอนประตู จนบางครั้งออกจากบ้านไปแล้ว ยังต้องย้อนกลับมาตรวจดูอีก ต้องคอยตรวจนับจำนวน ต้องจัดวางสิ่งของต่าง ๆ ให้เป็นหมวดหมู่ หันไปในทิศทางเดียวกัน และต้องเป็นระเบียบมากเกินกว่าเหตุ อาการชอบดึงผม สะสมขยะ สะสมของที่ผู้อื่นทิ้งแล้วก็เป็นส่วนหนึ่งของอาการของโรคย้ำคิดย้ำทำ 
ผู้ที่เป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ ส่วนใหญ่รู้ตัวดีว่าคิดวิตกกังวลหรือจินตนาการไปเองโดยไม่มีเหตุผล ต้องเสียเวลาในแต่ละวันไปกับการย้ำคิดย้ำทำจนถึงกับทำให้เกิดความทุกข์ เกิดปัญหาด้านการเรียน การทำงาน การเข้าสังคม การปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันตามปกติได้ ส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิตโดยรวม บางรายมีความเครียด ซึมเศร้า สิ้นหวัง หรือสูญเสียความสนใจในสิ่งที่เคยชอบเคยทำ อาจมีอาการรุนแรงจนนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้ 
คนปกติบางครั้งอาจมีอาการย้ำคิดย้ำทำได้ เช่น บางวันอาจจะกังวลว่าลืมปิดน้ำปิดไฟ แต่เมื่อได้ตรวจดูและแน่ใจว่าปิดแล้วก็จะสบายใจ หยุดคิดและทำกิจกรรมอื่น ๆ ต่อไปได้ตามปกติ ซึ่งแตกต่างจากผู้ที่เป็นโรคนี้ แม้จะรู้ว่าไม่ได้ลืม ก็ยังต้องคิดวนเวียนซ้ำซากอยู่กับเรื่องนี้โดยไม่สามารถหยุดคิดได้ 
โรคย้ำคิดย้ำทำไม่ได้พบแต่ในผู้ใหญ่หรือผู้สูงวัย โรคนี้พบได้ตั้งแต่ในช่วงวัยรุ่นเป็นต้นไป ส่วนใหญ่จะเริ่มมีอาการก่อนอายุ 25 ปี อายุเฉลี่ยที่เริ่มมีอาการคือช่วง 20-22 ปี สาเหตุของโรคอาจเกิดจากการทำงานของสมองและระบบประสาทส่วนกลางบกพร่อง ซึ่งเกี่ยวข้องสารสื่อประสาทคือ serotonin อาจเกิดจากสาเหตุทางพันธุกรรมซึ่งพบไม่มากนัก ตลอดจนสาเหตุทางด้านสภาพแวดล้อมและประสบการณ์ชีวิตที่เลวร้ายตั้งแต่ในวัยเด็ก 
ถ้าพบว่าเริ่มมีอาการของโรคย้ำคิดย้ำทำ ควรรีบไปพบแพทย์ การรักษาต้องพิจารณาตามสาเหตุ อาการและความรุนแรงของโรค ซึ่งแพทย์จะไม่บอกให้ผู้ป่วยหยุดคิดหรือหยุดการกระทำซ้ำ ๆ นั้น การบอกให้หยุดมักใช้ไม่ได้ผล เนื่องจากก่อนจะมาพบแพทย์ผู้ป่วยส่วนใหญ่ได้พยายามมาแทบทุกวิธีแล้วแต่ไม่ได้ผล การรักษาด้วยยา จะใช้ยาในกลุ่ม Selective Serotonin Reuptake Inhibitors (SSRIs) ร่วมกับวิธีการบำบัดความคิดและพฤติกรรม ที่เรียกว่า Cognitive Behavioral Therapy (CBT) โดยการปรับความคิดและพฤติกรรมของผู้ป่วยทีละเล็กทีละน้อย ควบคุมความคิดและพฤติกรรมไม่ให้ตอบสนองความคิดซ้ำ ๆ อีก เป็นวิธีการที่ใช้เวลาแต่ให้ผลดีในระยะยาว 
นอกจากนี้ การหันเหความสนใจไปที่กิจกรรมอื่น ๆ ที่ผ่อนคลายความเครียด เช่น ดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือ รักษาสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทำงานและพบปะผู้คนตามปกติ หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้เกิดความกลัว แม้ว่าโรคนี้อาจไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การเข้ารับการบำบัดอย่างสม่ำเสมอ รับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด จะช่วยลดความรุนแรงของโรคและสามารถใช้ชีวิตอย่างปกติสุขได้ 
 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. https://www.psychiatry.org/patients-families/ocd/what-is-obsessive-compulsive-disorder.
  2. https://med.mahidol.ac.th/ramamental/generaldoctor/06052015-1417.


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


โรคย้ำคิดย้ำทำ 1 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้