เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ยาคุมฉุกเฉิน ... เรื่องจริงที่ผู้หญิงต้องรู้


ภญ. พิชญา ดิลกพัฒนมงคล ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 4,238,312 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 26/06/2554
อ่านล่าสุด 27 นาทีที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

ยาคุมฉุกเฉิน ชื่อนี้คุณผู้อ่านหลายท่านอาจไม่รู้จัก แต่ถ้าบอกว่าเป็น ยาคุมกำเนิดประเภทหนึ่ง หลายท่านคงร้อง อ๋อ แต่ช้าก่อน ท่านทราบหรือไม่ว่า ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน มีความเหมือนหรือแตกต่างจากยาคุมกำเนิดแบบปกติอย่างไร อีกทั้งยาคุมกำเนิดฉุกเฉินมีวิธีใช้ ประสิทธิภาพ และความปลอดภัย เป็นเช่นไร หากท่านไม่ทราบ การใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินก็จะเหมือนกับการใช้ยาอื่นๆ คือ มีประโยชน์หากใช้ถูกต้อง และก่ออาการข้างเคียงหรืออันตรายหากใช้ไม่ถูก

ยาคุมฉุกเฉินมีข้อบ่งใช้อย่างไร

ยาคุมฉุกเฉินมีข้อบ่งใช้ในการป้องกันการตั้งครรภ์ในกรณีฉุกเฉิน ขอย้ำว่าใช้ในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น คำว่า “ฉุกเฉิน” ในที่นี้หมายความถึง การมีเพศสัมพันธ์ในคู่สามีภรรยา ที่มีการวางแผนครอบครัว และทำการป้องกันการตั้งครรภ์ แต่เกิดความผิดพลาดจากวิธีคุมกำเนิดที่ใช้ เช่น การรั่วหรือฉีกขาดของถุงยางอนามัย การลืมรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดตั้งแต่ 2 เม็ดขึ้นไป เป็นต้น หรือใช้ในกรณีผู้หญิงที่ถูกข่มขืน

รับประทานยาคุมฉุกเฉินอย่างไร

ผลิตภัณฑ์ยาคุมฉุกเฉินที่จำหน่ายในประเทศไทย จำหน่ายเป็นกล่อง มียากล่องละ 1 แผง และแต่ละแผงมียาคุมฉุกเฉิน 2 เม็ด แต่ละเม็ดประกอบด้วยตัวยาที่เป็นฮอร์โมนขนาดสูง คือ ลีโวนอร์เจสเตรล (levonorgestrel) เม็ดละ 750 ไมโครกรัม การรับประทานยาที่ถูกต้องคือ รับประทานยาเม็ดแรกให้เร็วที่สุดหลังจากมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน โดยไม่ควรเกิน 72 ชั่วโมง และจะต้องรับประทานยาเม็ดที่สองหลังจากรับประทานยาเม็ดแรกไม่เกิน 12 ชั่วโมง หากมีการอาเจียนภายใน 2 ชั่วโมงหลังรับประทานยาแต่ละเม็ด ต้องรับประทานยาใหม่ และไม่แนะนำให้รับประทานยาเกิน 4 เม็ด หรือ 2กล่อง ต่อเดือน

การรับประทานยาเม็ดแรกภายใน 72 ชั่วโมง หลังการมีเพศสัมพันธ์ดังกล่าวตามด้วยยาเม็ดที่สอง จะให้ประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ได้ 75% แต่หากเริ่มยาภายใน 24ชั่วโมง หลังการมีเพศสัมพันธ์ จะให้ประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์เพิ่มขึ้นเป็น 85% ดังนั้นจึงควรรับประทานยาเม็ดแรกหลังการมีเพศสัมพันธ์ให้เร็วที่สุด

มีคำแนะนำด้วยว่า สามารถรับประทานยาคุมฉุกเฉิน 2 เม็ด พร้อมกันในครั้งเดียวได้ โดยที่ประสิทธิภาพและความปลอดภัย ไม่แตกต่างจากการแบ่งรับประทานเป็น 2 ครั้ง ซึ่งในสหรัฐอเมริกานิยมรูปแบบการรับประทานในครั้งเดียว และมีผลิตภัณฑ์จำหน่ายในรูปแบบยาที่มีความแรงเป็น 2 เท่า คือ มีตัวยาลีโวนอร์เจสเตรลเม็ดละ 1.5 มิลลิกรัม การรับประทานเพียงครั้งเดียว จะทำให้เกิดความสะดวกมากกว่าการแบ่งยารับประทาน อย่างไรก็ตามในบางรายอาจพบอาการคลื่นไส้ อาเจียนจากการรับประทานยาเพียงครั้งเดียวมากกว่าการแบ่งรับประทาน 2 ครั้ง

ความเข้าใจไม่ถูกต้องเกี่ยวกับยาคุมฉุกเฉิน

มีความเข้าใจไม่ถูกต้องเกี่ยวกับยาคุมฉุกเฉินหลายประการ ซึ่งขออธิบาย ดังนี้

  • มีความเข้าใจว่า ใช้ยาคุมฉุกเฉินเพื่อคุมกำเนิดระยะยาวได้ 
    ความเข้าใจนี้ไม่ถูกต้อง หากสามีภรรยาที่ยังไม่พร้อมมีบุตรแต่ต้องการคุมกำเนิดในระยะยาว มีวิธีคุมกำเนิดที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากกว่าเช่น การรับประทานยาคุมกำเนิดแบบปกติชนิดเม็ด โดยรับประทานทุกวันวันละ 1 เม็ด นอกจากนี้ การรับประทานยาคุมฉุกเฉินเป็นประจำจะพบอาการข้างเคียงสูง เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน เลือดออกกะปริดกะปรอย รวมทั้งพบความเสี่ยงในการเกิดอุบัติการณ์การตั้งครรภ์นอกมดลูกเพิ่มขึ้น
  • มีความเข้าใจว่า ยาคุมฉุกเฉินเป็นยาทำแท้ง 
    ความเข้าใจนี้เป็นความเข้าใจที่ผิด ยาคุมฉุกเฉินสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้เท่านั้น นั่นคือต้องได้ยาเข้าไปในร่างกายก่อนที่จะมีการฝังตัวของไข่ที่เยื่อบุโพรงมดลูก เแต่หากไข่ที่ผสมกับอสุจิได้ฝังตัวที่ผนังมดลูกไปแล้ว ยานี้จะทำอะไรไม่ได้ ดังนั้น ยานี้จึงไม่ใช่ยาทำแท้ง
  • มีความเข้าใจว่า ยาคุมฉุกเฉินป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ 
    ความเข้าใจนี้เป็นความเข้าใจที่ผิด การใช้ยาคุมฉุกเฉินนั้นไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่การใช้ถุงยางอนามัยเป็นวิธีการคุมกำเนิดที่สามารถคุมกำเนิด และป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้
  • มีความเข้าใจว่า ยาคุมฉุกเฉินอาจทำให้ทารกพิการได้หากรับประทานไปโดยไม่ทราบว่าตั้งครรภ์ 
    ความเข้าใจนี้ไม่ถูกต้อง ทั้งนี้มีรายงานว่า ไม่พบทารกพิการจากมารดาที่รับประทานยาโดยไม่ทราบว่าตนเองกำลังตั้งครรภ์

รับประทานยาคุมฉุกเฉินไปแล้วสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ที่ไม่ได้วางแผนได้จริงหรือ

ตัวยาลีโวนอร์เจสเตรลที่อยู่ในยาคุมฉุกเฉิน เมื่อรับประทานเข้าไปจะมีผลรบกวนกระบวนการตกไข่ รบกวนการที่อสุจิจะว่ายเข้าไปผสมกับไข่ รวมทั้งส่งผลเปลี่ยนแปลงเยื่อบุโพรงมดลูกเพื่อทำให้ยากแก่การฝังตัวของไข่ที่ผสมกับอสุจิแล้ว การรับประทานยาคุมฉุกเฉินจึงไม่ได้หมายความว่าจะไม่ตั้งครรภ์ แต่เป็นเพียงแค่การไปลดโอกาสตั้งครรภ์ลงจากเดิม ดังนั้นระยะเวลาที่เริ่มรับประทานยาจึงส่งผลต่อประสิทธิภาพของยาในการคุมกำเนิดด้วย โดยพบว่าระยะเวลาระหว่างการมีเพศสัมพันธ์กับการรับประทานยาเม็ดแรกที่นานขึ้น จะส่งผลให้ประสิทธิภาพการคุมกำเนิดลดลง

เนื่องจากยาออกฤทธิ์ป้องกันไม่ให้ไข่ที่ผสมกับอสุจิแล้วฝังตัวที่เยื่อบุโพรงมดลูก ดังนั้นหากมีการฝังตัวของไข่ที่ผสมกับอสุจิที่ผนังมดลูกไปแล้วค่อยรับประทานยา ยาที่รับประทานเข้าไป ก็จะไม่สามารถเข้าไปป้องกันการตั้งครรภ์ และไม่สามารถทำให้เกิดการแท้งได้ นอกจากนั้นประสิทธิภาพของยาคุมฉุกเฉิน สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ในแต่ละครั้งของการมีเพศสัมพันธ์ ที่ไม่ได้วางแผนไว้เท่านั้น แต่ยาไม่มีประสิทธิภาพป้องกันการตั้งครรภ์ไปตลอดรอบเดือนที่เหลือ ดังนั้นระหว่างรอบเดือนที่เหลือ จึงควรมีการคุมกำเนิดแบบอื่นร่วมด้วย

ผลข้างเคียงจากการรับประทานยาคุมฉุกเฉิน

ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยจากการใช้ยาคุมฉุกเฉินมักเป็นอาการที่ไม่รุนแรง ได้แก่ ปวดท้อง มีเลือดออกกะปริดกะปรอย ประจำเดือนมาเร็วหรือช้ากว่าปกติ อาการข้างเคียงเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องใช้ยารักษา การรับประทานในช่วงเวลาสั้นๆ นั้นไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด แต่การใช้ยาติดต่อกันเป็นระยะเวลานานๆ นอกจากประสิทธิภาพที่ด้อยกว่า เมื่อเทียบกับการรับประทานยาคุมกำเนิดแบบปกติชนิดเม็ดแล้ว ยังอาจทำให้เกิดความผิดปกติที่รังไข่ เยื่อบุโพรงมดลูก รวมทั้งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูกถึง 2% เป็นต้น ดังนั้นการใช้ยานี้จึงควรใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น และไม่แนะนำให้รับประทานเกิน 4 เม็ด หรือ 2 กล่อง ต่อเดือน

หลังจากรับประทานยาคุมฉุกเฉินแล้วโดยทั่วไปจะมีประจำเดือนหลังจากรับประทานยาภายในเวลาไม่เกิน 1 สัปดาห์ (หากไม่มี ให้สงสัยว่าตั้งครรภ์ ควรไปพบแพทย์) หลังจากนั้นประจำเดือนของรอบเดือนนั้นจะมาในช่วงเวลาเดิม ในบางรายอาจพบประจำเดือนรอบต่อไปมาช้าหรือเร็วกว่าปกติได้

สรุป

ยาคุมฉุกเฉินเป็นยาที่ผลิตคิดค้นออกมาเพื่อใช้เฉพาะในเหตุการณ์ฉุกเฉินและจำเป็นเท่านั้น โดยจะเกิดผลดีหากใช้ในทางที่ถูกต้อง ในผู้ที่มีการวางแผนที่จะมีเพศสัมพันธ์ และยังไม่ต้องการมีบุตร สามารถเลือกใช้วิธีการคุมกำเนิดแบบอื่น ที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยต่อผู้ใช้มากกว่า เช่น การรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดแบบที่รับประทานติดต่อกันทุกวัน การใช้ถุงยางอนามัย การใส่ห่วงอนามัย การใช้ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะเป็นต้น

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


ตกขาว .. รักษาอย่างไร 19 วินาทีที่แล้ว
ยาหอม กับคนวัยทำงาน 26 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้