เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ยาที่ไม่ควรกินร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์


อาจารย์ ดร.ภก. สุรศักดิ์ วิชัยโย ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ภาพประกอบจาก: https://www.sharp.com/health-news/images...-Sized.jpg
อ่านแล้ว 327,850 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 25/11/2563
อ่านล่าสุด 1 ช.ม.ที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 


เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงเคยได้ยินข่าวการเสียชีวิตจากการใช้ยาบางชนิดร่วมกับการดื่มแอลกอฮอล์ตามสื่อต่าง ๆ มาบ้าง เช่น กรณีถูกมอมด้วยยานอนหลับผสมในเหล้าหรือเบียร์แล้วทำให้เสียชีวิต เป็นต้น โดยเหตุการณ์นี้ทำให้ผู้ป่วยหลายคนมีความกังวลว่ายาที่ตนเองกำลังใช้อยู่สามารถกินร่วมกับเหล้าหรือเบียร์ได้หรือไม่ ซึ่งจริง ๆ แล้วอันตรายจากการใช้ยาร่วมกับแอลกอฮอล์มีหลายลักษณะ บทความนี้ขอนำเสนอตัวอย่างยา 5 กลุ่มที่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดังแสดงในตาราง โดยรายละเอียดของอาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้น มีดังนี้ 
 
ภาพจาก : https://www.memphisrecovery.com/wp-content/uploads/2019/12/types-of-addiction-1.jpg

  1. ยาที่มีฤทธิ์เหมือนยาเบื่อเหล้า 
    ในอดีตมีการใช้ยาเบื่อเหล้าชื่อว่า ได-ซัล-ฟิ-แรม (disulfiram) เพื่อช่วยเลิกสุรา โดยเมื่อรับประทานยานี้ร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะเกิดปฏิกิริยาทำให้มีอาการหน้าแดง ร้อนวูบวาบไปทั้งตัว คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ เหงื่อออกมาก และกระวนกระวาย จนไม่กล้าดื่มสุราอีก นอกจากนี้ บางรายอาจมีความดันเลือดต่ำ แม้ว่าปัจจุบันยานี้ถูกใช้น้อยลง แต่พบว่ามียาอื่นอีกหลายชนิด (ตาราง) ที่สามารถทำให้เกิดอาการคล้ายกับยาเบื่อเหล้าได้เช่นกัน
  2. ยาที่มีฤทธิ์กดการทำงานของสมอง 
    ยาที่มีฤทธิ์กดการทำงานของสมอง สามารถสังเกตได้ง่าย ๆ คือ หลังจากรับประทานแล้วมักทำให้รู้สึกง่วงนอน เช่น ยานอนหลับ เป็นต้น (ตาราง) ซึ่งยาเหล่านี้ไม่ได้กดเฉพาะให้หลับ แต่อาจกดการทำงานอื่น ๆ ของสมอง เช่น ทำให้สูญเสียความสามารถในการขับขี่ยานพาหนะหรือการใช้เครื่องจักร จนถึงกดการหายใจโดยเฉพาะเมื่อใช้ยาในขนาดสูง ยิ่งไปกว่านั้น การใช้ร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งมีผลกดการทำงานของสมองเช่นกัน ยิ่งเสริมฤทธิ์ยาเหล่านี้มากขึ้น เช่น ส่งผลกดการหายใจจนเสียชีวิตได้
  3. ยาที่มีผลลดน้ำตาลในเลือด 
    ในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่กำลังใช้ยาลดน้ำตาลในเลือดบางชนิด (ตาราง) พบว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มความเสี่ยงการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำจากยาเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น ซึ่งหากอาการไม่รุนแรงอาจพบ มือสั่น ใจสั่น เหงื่อออกมาก ส่วนกรณีน้ำตาลต่ำรุนแรง อาจทำให้หมดสติได้
  4. ยาที่ทำให้เกิดแผลในทางเดินอาหาร 
    เนื่องจากแอลกอฮอล์เองสามารถทำให้เกิดแผลในทางเดินอาหารได้ ซึ่งจะเห็นได้จากผู้ที่ติดสุราเรื้อรังหรือผู้ที่ดื่มหนักบางรายที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยอาการอาเจียนหรือถ่ายอุจจาระเป็นเลือด นอกจากนี้ การดื่มร่วมกับยาบางชนิด (ตาราง) ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดแผลในทางเดินอาหาร 
  5. ยาที่มีผลเสียต่อตับ 
    เป็นที่ทราบกันดีว่าการดื่มแอลกอฮอล์นั้นเป็นหนึ่งในสาเหตุของโรคตับแข็ง เนื่องจากแอลกอฮอล์ส่งผลทำลายตับโดยตรง และหากใช้ร่วมกับยาที่ทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่อตับ (ตาราง) เช่น การรับประทานยาแก้ปวด พา-รา-เซ-ตา-มอล ร่วมกับแอลกอฮอล์เป็นเวลานาน เป็นต้น ยิ่งเสี่ยงกับการเกิดพิษต่อตับมากขึ้น

ผู้อ่านคงเห็นแล้วว่ามียาหลายชนิดที่อาจก่อให้เกิดอันตรายเมื่อรับประทานร่วมกับแอลกอฮอล์ ซึ่งรายการยาที่กล่าวมานั้นเป็นเพียงตัวอย่างบางส่วน อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น ทุกครั้งที่แพทย์หรือเภสัชกรจ่ายยาเหล่านี้ให้แก่ผู้ป่วย มักจะแจ้งข้อมูลรวมทั้งเขียนคำเตือนในฉลากยาเกี่ยวกับผลของแอลกอฮอล์ต่อยานั้น นอกจากนี้ ตัวผู้ป่วยเองหากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับยาที่กำลังใช้อยู่ ควรสอบถามแพทย์และเภสัชกรให้แน่ชัด อีกทั้งไม่ควรซื้อยามารับประทานเองโดยไม่ได้รับคำแนะนำที่เหมาะสมจากแพทย์หรือเภสัชกร 
 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Weathermon R, Crabb DW. Alcohol and medication interactions. Alcohol Res Health. 1999;23(1):40-54.
  2. Strate LL, Singh P, Boylan MR, Piawah S, Cao Y, Chan AT. A Prospective Study of Alcohol Consumption and Smoking and the Risk of Major Gastrointestinal Bleeding in Men. PLoS One. 2016;11(11):e0165278.
  3. Saitz R, Horton NJ, Samet JH. Alcohol and medication interactions in primary care patients: common and unrecognized. Am J Med. 2003;114(5):407-10.


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


20 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้