เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


โควิด-19 กับ สัตว์เลี้ยง


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สพญ. นรรฆวี แสงกลับ ภาควิชาสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ภาพประกอบจาก: https://fmapetvet.com/wp-content/uploads...80x675.jpg
อ่านแล้ว 19,298 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 15/04/2563
อ่านล่าสุด 1 วันที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 


ปัจจุบันในขณะที่เรากำลังรับมือกับสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 (COVID-19) เราก็จะได้ข่าวรายงานการติดเชื้อโควิด-19ในสัตว์ที่เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสุนัข แมว และล่าสุดเสือที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ซึ่งอาจสร้างความกังวลให้กับคนรักสัตว์รวมถึงคนที่เลี้ยงสัตว์อยู่ไม่น้อย 
เริ่มจากข่าวรายงานการตรวจพบเชื้อไวรัสโควิด-19 ในสุนัขและแมวในฮ่องกง และในแมวที่มีอาการทางระบบทางเดินหายใจและทางเดินอาหารในประเทศเบลเยียมในช่วงเดือนกุมภาพันธ์และเดือนมีนาคมที่ผ่านนั้น เป็นสุนัขและแมวที่ใกล้ชิดกับเจ้าของที่ป่วยเป็นโควิด-19 และยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่ามีการแพร่เชื้อกลับจากสัตว์เลี้ยงสู่คน 
 
ภาพจาก : https://specials-images.forbesimg.com/imageserve/5e94815a892edc0006726ba3/960x0.jpg?fit=scale 
สำหรับการพบเชื้อไวรัสโควิด-19 ในสุนัขในฮ่องกงนั้น ยังไม่ถือว่าเป็นการติดเชื้อ เนื่องจากมีเชื้อไวรัสโควิด-19 อยู่ในระดับต่ำ ไม่มีการแพร่เชื้อกลับจากตัวสุนัขมายังคน และนอกจากนี้สุนัขดังกล่าวมีผลตรวจเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นลบในเวลาต่อมา 
และในช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมานี้ได้มีรายงานข่าวการตรวจพบเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเสือโคร่ง ซึ่งเป็นสัตว์ตระกูลแมว ที่มีการแสดงความผิดปกติทางระบบหายใจ ในสวนสัตว์ที่เมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยคาดว่าเป็นการติดเชื้อจากพนักงานดูแลสัตว์ที่มีผลบวกต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 ขณะยังไม่แสดงอาการยังคงปฏิบัติงานอยู่ แต่หลังจากทำการตรวจพนักงานดูแลสัตว์ดังกล่าวแล้วผลเป็นบวก สวนสัตว์ก็ปิดทำการ และพบว่าสัตว์กลุ่มที่ได้รับการดูแลโดยพนักงานคนนี้ได้แสดงอาการผิดปกติทางระบบหายใจในเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ต่อมา 
จากข้อมูลการตรวจพบเชื้อไวรัสโควิด-19 ในกลุ่มสัตว์ที่ได้กล่าวถึงไปนั้นจะเห็นได้ว่า สัตว์เหล่านั้นได้ใกล้ชิดกับเจ้าของหรือได้รับการดูแลจากผู้ดูแลที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นการติดจากคนสู่สัตว์ และยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่ามีการติดเชื้อกลับมาจากสัตว์เลี้ยงสู่คน 
จากงานเขียนทางวิชาการในช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีการเผยแพร่การศึกษาในจีนซึ่งเป็นการศึกษาความไวหรือความสามารถในการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในสัตว์ทดลอง 6 ชนิด ได้แก่ แมว สุนัข เฟอร์เร็ต สุกร เป็ด และไก่ ผลการศึกษาพบว่าแมวและเฟอร์เร็ตเป็นสัตว์สองชนิดที่มีความไวต่อการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั้งนี้อาจสรุปได้ว่าแมวและเฟอร์เร็ตเป็นสัตว์สองชนิดที่มีความไวต่อการติดเชื้อ แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าแมวสามารถติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในธรรมชาติหรือสามารถแพร่เชื้อดังกล่าวมาที่คนได้หรือไม่ เนื่องจากการศึกษาดังกล่าวเป็นการศึกษาในห้องทดลอง และยังจำเป็นต้องมีผลการศึกษาเพิ่มเติมอีก 
อีกการศึกษาหนึ่ง (Preprint) เป็นการศึกษาเพื่อหาความชุกของการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในแมว โดยมีการตรวจเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเลือดแมวก่อนและหลังการระบาดของโควิด-19 ในเมืองอู่ฮั่น พบว่า 14% ของตัวอย่างเลือดแมวที่ตรวจมีเชื้อของโควิด-19 ภายหลังการระบาดของโรค แสดงให้เห็นว่ามีการแพร่ของเชื้อเชื้อไวรัสจากคนสู่แมว แต่เราจะสังเกตได้ว่าจำนวนแมวติดเชื้อที่ตรวจพบไม่มากนัก และอีกหนึ่งข้อสังเกตที่สำคัญ คือ เมืองอู่ฮั่นนั้นเป็นศูนย์กลางของการแพร่เชื้อจึงมีปริมาณเชื้อไวรัสกระจายอยู่ในสิ่งแวดล้อมจำนวนมาก การศึกษานี้ยังรอการตรวจทานผลงานอยู่ 
จากประเด็นที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น สรุปได้ว่า มีการรายงานการพบเชื้อและการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จากคนในสัตว์เลี้ยง โดยแมวและเฟอร์เร็ตอาจมีความไวในการติดเชื้อมากกว่าสัตว์ชนิดอื่น แต่ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่ามีการแพร่เชื้อกลับจากสัตว์เลี้ยงสู่คน แต่ถึงอย่างไรก็ตามสัตว์เลี้ยงอาจนำพาเชื้อไวรัสมาให้เราหรือคนอื่น ๆ ได้อีกทอดหนึ่ง 
ดังนั้น วิธีปฏิบัติตนและดูแลสุขภาพสัตว์เลี้ยงในสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 คือ เราควรรักษาความสะอาดสุขอนามัยอย่างเคร่งครัด ควรล้างมือทั้งก่อนและหลังสัมผัสสัตว์หรือสัตว์เลี้ยง กลุ่มเสี่ยงที่ต้องกักตัวควรอยู่ห่างจากสัตว์หรือสัตว์เลี้ยงชั่วคราว หลีกเลี่ยงการปล่อยสัตว์เลี้ยงออกนอกบ้าน หากจำเป็นควรอาบน้ำสัตว์เลี้ยงก่อนเข้าบ้านทุกครั้ง และหากสัตว์เลี้ยงมีอาการทางระบบทางเดินหายใจร่วมกับระบบทางเดินอาหาร ควรปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อขอคำแนะนำในการหาสาเหตุของโรค และยังไม่มีความจำเป็นต้องตรวจหาเชื้อในสัตว์เลี้ยงทุกตัว และขอความร่วมมือไม่นำสัตว์เลี้ยงไปปล่อยในที่สาธารณะ 
 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. SARS-CoV-2 in animals, including pets. American Veterinary Medical Association (AVMA), https://www.avma.org/: updated on April 12, 2020.
  2. Shi J, Wen Z, Zhong G, Yang H, Wang C, Huang B, et al. Susceptibility of ferrets, cats, dogs, and other domesticated animals to SARS-coronavirus 2. Science. 8 Apr 2020. https://doi.org/10.1101/2020.03.30.015347
  3. Zhang Q, Zhang H, Huang K, Yang Y, Hui X, Gao J, et al. SARS-CoV-2 neutralizing serum antibodies in cats: a serological investigation. Posted 3 Apr 2020. (Preprint) https://doi.org/10.1101/2020.04.01.021196
  4. USDA Statement on the Confirmation of COVID-19 in a Tiger in New York, https://www.aphis.usda.gov/aphis/newsroom/news/sa_by_date/sa-2020/ny-zoo-covid-19?fbclid=IwAR09LbV5ZR8CIdIkjwOQfkiiGgEwtDXFf48uh4PzCsaGOc35mWqHq_aCQcA: updated on April 6, 2020.
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


โควิด-19 กับ สัตว์เลี้ยง 1 วินาทีที่แล้ว
มะระขี้นก 4 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คำเตือน บทความ/ข้อมูล/สื่อ ในรูปแบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ผลิตโดยมหาวิทยาลัยมหิดล มีจุดประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนและสังคม โดยไม่อนุญาตให้นำไปใช้ในเชิงพาณิชย์หรือประกอบการทำใดๆ อันผิดกฎหมาย หากหน่วยงานใดมีความประสงค์ใช้สื่อทุกรูปแบบของมหาวิทยาลัยมหิดลเพื่อเผยแพร่ในนามของหน่วยงาน ขอให้ติดต่อขออนุญาตมาที่ สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ploypann.chi@mahidol.edu , kulwadee.kit@mahidol.edu) หากมีข้อสงสัยประการใดโปรดสอบถามที่โทร. 02 849 6056 - 7

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้