เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ร้อยไหมกระชับผิวหน้า .. ข้อควรระวัง


รองศาสตราจารย์.ดร.ภญ.พิมลพรรณ พิทยานุกุล และ ดร.ภญ.วรประภา ตรีศุภรัตน์ ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ภาพประกอบจาก: http://www.healioswoundsolutions.com/wp-...d-Lift.jpg
อ่านแล้ว 174,907 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 02/04/2560
อ่านล่าสุด 2 ช.ม.ที่แล้ว
https://tinyurl.com/yajxpw46
Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ https://tinyurl.com/yajxpw46
 

คนเราทุกคนอยากให้ตัวเองดูดีและอ่อนเยาว์อยู่เสมอ จึงทำให้เทคโนโลยีด้านเสริมความงามพัฒนาอย่างต่อเนื่องไม่หยุดยั้ง หนึ่งในเทคนิคเหล่านั้นที่กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน ก็คือ เทคนิคการร้อยไหมด้วยไหมละลาย ดังนั้นเราจึงควรรู้ถึงข้อเท็จจริง ข้อดีและข้อเสียของเทคนิคดังกล่าวก่อนที่จะตัดสินใจเลือกรับบริการ 
 
ภาพจาก : http://www.healioswoundsolutions.com/wp-content/uploads/2016/10/Korean-PDO-Thread-Lift.jpg 
การร้อยไหม คือ เทคนิคที่นำมาใช้ช่วยยกกระชับ ฟื้นฟูสภาพผิว ลดเลือนริ้วรอยและปรับรูปหน้าให้ดูเรียว ด้วยไหมละลายโดยไม่ต้องผ่าตัด ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากประเทศเกาหลี หลักการของเทคนิคนี้ คือ การใช้ไหมเส้นเล็กจำนวนมากมาร้อยเป็นเครือข่าย บริเวณใต้ผิวหนังที่ร้อยไหมเข้าไปจะถูกกระตุ้นให้เกิดการอักเสบ ทำให้เกิดการสร้างเส้นเลือดใหม่ มีผลทำให้เกิดการกระตุ้นเซลล์ที่มีหน้าที่สร้างเส้นใยคอลลาเจน ให้สร้างคอลลาเจนใหม่มาพันรอบแนวเส้นไหม มีผลให้เกิดการดึงรั้งผิวหน้า ทำให้ผิวหน้าเต่งตึงและกระชับ พร้อมทั้งช่วยกระตุ้นการไหลเวียนโลหิตมาเลี้ยงชั้นผิวหนังเพิ่มขึ้นด้วย 
ชนิดของเส้นไหมและอายุของผู้ที่จะเข้ารับบริการ 
ไหมชนิดที่นิยมใช้กันมากทำมาจากโพลีไดอ๊อกซาโนน (polydioxanone หรือ PDO) ซึ่งเป็นไหมที่นำมาใช้ในการทำศัลยกรรมเย็บเส้นเลือดหัวใจ ซึ่งมีโอกาสแพ้น้อยมาก ไม่มีปฏิกิริยาต่อผิวหนัง ผ่านการรับรองความปลอดภัยจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ทั้งในและต่างประเทศ เส้นไหมจะถูกดูดซับโดยผิวหนังภายหลังจากการร้อยไหมผ่านไปหลายๆเดือน ในขณะเดียวกันเส้นไหมจะสามารถสลายตัวได้เองภายใน 8 เดือน และจะให้ประสิทธิผลต่อผิวหนังในระยะเวลาประมาณ 2 ปี 
การร้อยไหม คือ เทคนิคที่นำมาใช้ช่วยยกกระชับ การร้อยไหมแบบนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีอายุระหว่าง 39?50 ปี และผู้ที่มีปัญหาการบกพร่องของผิวโดยที่ไม่มีเนื้อเยื่อยุบตัวมากเกินไป ถ้าอายุมากและมีผิวหย่อนคล้อยประกอบกับมีการยุบตัวของผิว การร้อยไหมอย่างเดียวอาจช่วยไม่ได้ต้องใช้วิธีอย่างอื่นร่วมด้วย สำหรับผู้ที่มีอายุน้อยยังไม่พบการหย่อนคล้อยจะได้ผลในแง่ของการปรับรูปหน้ามากกว่า โดยเฉพาะคนที่อายุต่ำกว่า 25 ปีลงไปไม่ควรทำเพราะไม่คุ้มค่าเงินที่เสียไป 
การร้อยไหม คือ เทคนิคที่นำมาใช้ช่วยยกกระชับ ชนิดของเส้นไหมที่นิยมใช้ในประเทศเกาหลี มี 3 แบบ

  1. เส้นไหมเรียบ (Mono threads) เป็นเส้นเรียบ ไม่มีเงี่ยงหรือปุ่มเหรือเกลียว ส่วนใหญ่จะใช้ร้อยไหมชนิดนี้บริเวณคอ หน้าฝาก และใต้ตา เส้นไหมชนิดนี้จะช่วยให้ผิวหนังเต่งตึงแต่ไม่ได้ช่วยยกชั้นผิวหนัง
  2. เส้นไหมเกลียว (Screw threads) เป็นเส้นไหมเส้นเดียวหรือสองเส้นเกลียวเข้าด้วยกัน เส้นไหมชนิดนี้มีประโยชน์ช่วยเพิ่มปริมาตรบริเวณผิวหนังที่ยุบตัวหรือเป็นแอ่ง เส้นไหมเกลียวจะให้ผลแข็งแรงกว่าไหมเส้นเรียบ ส่วนใหญ่ไหมเกลียวเหมาะกับการยกชั้นผิวหนังที่หย่อนยาน
  3. เส้นไหมที่มีเงี่ยง (Cog threads) เป็นเส้นไหมเส้นเดียวแต่มีเงี่ยงตลอดแนวไหม เพื่อทำหน้าที่ยึดเกาะด้านในชั้นผิวหนัง เงี่ยงมีประโยชน์ทำหน้าที่คล้ายโครงสร้างที่จะช่วยยกเนื้อเยื่อหรือผิวหนังที่หย่อนยาน คอลลาเจนจะถูกกระตุ้นให้มีการสร้างขึ้นใหม่รอบเส้นไหมและบริเวณเงี่ยง เส้นไหมชนิดนี้เหมาะกับการยกกระชับบริเวณคาง ปรับรูปหน้าให้เรียว

หลักการร้อยไหม ผลข้างเคียง และข้อควรระวังหลังเข้ารับริการ 
ก่อนทำแพทย์จะทายาชาร่วมกับฉีดยาชาในบางตำแหน่งก่อนร้อยไหม หลังจากนั้น แพทย์จะนำเส้นไหมที่อยู่ตรงปลายเข็มเข้าไปยึดตามเนื้อเยื่อผิว โดยจะใช้วิธีการร้อยเรียงเส้นไหมและแพทย์จะพิจารณาตามโครงหน้าของคนไข้เป็นหลักในเวลาเพียง 20?40 นาที ขณะทำจะรู้สึกเจ็บเล็กน้อย อาจพบรอยช้ำตามแนวรอยไหมได้บ้าง ร่วมกับอาการบวม แต่จะหายไปเองโดยไม่ต้องพักฟื้นภายใน 1?2 สัปดาห์ และจะเห็นผลชัดเจนในช่วงประมาณ 2 เดือนหลังร้อยไหม และอาจจะเห็นผลต่อเนื่องนานประมาณ 1?2 ปี หลังจากนี้ก็ต้องมาทำการร้อยไหมใหม่อีกครั้ง เนื่องจากการร้อยไหมละลายไม่ได้เย็บไหมไว้ด้านในชั้นผิวหนัง SMAS (Superficial Musculo Aponeurotic System) ซึ่งอยู่ลึกกว่าผิวชั้นหนังแท้ จึงไม่อาจทำให้เกิดความแข็งแรงเทียบเท่าการผ่าตัดดึงหน้า 
ข้อควรระวังหลังจากทำร้อยไหม คือ ไม่ควรทำเลเซอร์หรือหัตถการใดๆกับใบหน้าประมาณ 2 สัปดาห์ และไม่ควรนวดหน้าแรงๆในตำแหน่งที่ร้อยไหมประมาณ 2 เดือน นอกจากนี้ อาจจะมีการเกิดผิวหนังบวมแดง หรือ ตุ่มแดงตามแนวที่ร้อยไหมได้เนื่องจากเกิดการแพ้ไหมละลาย มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้ออันมาจากการใช้เข็มสอดเส้นไหมจำนวนมากเข้าไปที่ผิวหนัง เช่นเดียวกับการฉีดโบท๊อกซ์และฟิลเลอร์ และอาจทำให้เกิดรอยบุ๋มของผิวหนัง หรือ ผิวหนังทั้งสองข้างยกกระชับไม่เท่ากัน อีกทั้งคอลลาเจนที่ถูกกระตุ้นโดยไหมลละลาย อาจเป็นคอลลาเจนชนิดเดียวกับที่พบในแผลเป็นลักษณะคล้ายพังผืด 
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าไหมละลายชนิด PDO จะได้การรับรองความปลอดภัยจาก อย. แต่นายกสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทยได้เปิดเผยว่า อย. ไม่อนุญาตหรือไม่รับรองวิธีการร้อยไหมเพื่อวัตถุประสงค์ของการกระชับผิว แต่อนุญาตให้ใช้ในการเย็บแผลเท่านั้น นอกจากนี้ การร้อยไหมเพื่อยกกระชับผิวยังไม่ได้รับการรับรองให้ใช้ในประเทศสหรัฐอเมริกาหรือประเทศในทวีปยุโรป เพราะยังไม่มีผลการศึกษาทางการแพทย์ที่แน่ชัดถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยในระยะยาว ดังนั้น ผู้ที่กำลังสนใจที่จะทำการร้อยไหมละลายเพื่อกระชับผิวหน้าควรพิจารณาไตร่ตรองให้ดีอีกครั้งถึงสิ่งที่จะได้มาว่าคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไปหรือไม่ และไม่ว่าคุณจะเลือกวิธีเสริมความงามวิธีใดก็ตาม แต่สิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม คือ การดูแลรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง จิตใจแจ่มใส ด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบทั้ง 5 หมู่ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ เป็นต้น ก็ช่วยให้คุณสวย สดใส ทั้งภายในและภายนอกร่างกาย โดยไม่ต้องเสียเงินมาก ไม่ต้องเจ็บตัว ถึงจะเรียกได้ว่าสวยอย่างฉลาดตัวจริง 
 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Cosmetic Surgery Today, Threadlift, 2012. (Access October 30, 2012, at http://www.cosmeticsurgerytoday.com/threadlift/)
  2. Dolphin Sutures, Information on Monofilament Polydioxanone Suture, 2012. (Access October 30, 2012, at http://www.dolphinsutures.com/information-on-polydioxanone.html)
  3. ไทยรัฐออนไลน์. แพทย์เผย อย. ไม่อนุญาตการร้อยไหมกระชับผิว. 30 ตุลาคม 2555. (Access October 30, 2012, at http://www.thairathco.th/content/edu/263402)
  4. American academy of aesthetic medicine: hands-on Korean thread lifting master course. http://cbbmed.com/newsview.php?title=Different_PDO_Threads_in_Thread_Lifting&id=19
  5. PDO Thread Lift. http://www.healioswoundsolutions.com/dermatology/pdo-thread-lift-tips-tricks-part-1/PDO Thread Lift.


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


8 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้