เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


หอมดอกปีบ


ภญ.กฤติยา ไชยนอก สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


ภาพประกอบจาก: https://medthai.com/wp-content/uploads/2...%B8%9A.jpg
อ่านแล้ว 45,523 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 08/12/2559
อ่านล่าสุด 1 วันที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

หอม...หอม...หอมจัง นี้มันกลิ่นอะไรกันนะ 
ช่วงปลายฝนต้นหนาวแบบนี้ หลายๆ ท่านคงได้มีโอกาสพบเจอกับเจ้าดอกไม้สีขาวที่บ้างก็ร่วงหล่นอยู่เต็มพื้นถนน บ้างก็บานเป็นช่อสีขาวเด่นอยู่บนต้น จนบางท่านอดใจกับความหอมของมันไม่ได้ เจอเมื่อไรเป็นต้องเก็บติดไม้ติดมือมาวางไว้ในบ้าน ในที่ทำงาน หรือในรถ เพราะกลิ่นหอมของมันช่วยให้เรารู้สึกผ่อนคลาย บรรเทาความเหนื่อยล้า และเพิ่มความรู้สึกสดชื่นรื่นรมย์ได้ดีทีเดียว ค่ะเรากำลังพูดถึงดอกปีบ ดอกไม้สีขาวๆ ก้านยาวๆ และมีกลิ่นหอมฟุ้งงงงง..... 
 
ภาพจาก : https://mynote2012.files.wordpress.com/2013/09/img_1076.jpg 
ปีบ (Millingtonia hortensis L.f.) มีชื่อเรียกอื่นๆ คือ กาซะลอง, กาดสะลอง, เต็กตองโพ่ และชื่ออังกฤษคือ cork tree, Indian cork tree เป็นพืชในวงศ์ BIGNONIACEAE ปีบเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ผลัดใบ ลำต้นตรง สูงได้ถึง 25 ม. ใบประกอบแบบขนนก 2-3 ชั้น ใบย่อยรูปไข่แกมรูปหอก ปลายใบแหลม ขอบใบหยักเว้า หรือหยักกลมๆ หรือเรียบ โคนใบกลมมีต่อมขนอยู่ตรงมุมระหว่างเส้นกลางใบและเส้นใบ ดอกออกเป็นช่อใหญ่ตั้งตรง มีขนสั้นๆ มีกลิ่นหอม ดอกมีสีขาว กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นท่อยาว ออกดอกราวเดือนกันยายนถึงธันวาคม ติดผลราวเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ ผลเป็นฝัก ภายในมีเมล็ดจำนวนมาก สรรพคุณตามตำรายาไทยระบุว่า ดอกมีสรรพคุณแก้ริดสีดวงจมูก ช่วยขยายหลอดลม แก้หืด ขับน้ำดี บำรุงกำลัง บำรุงเลือด ดอกใส่ปนกับยาไทย มวนสูบทำให้ปากหอม รากใช้รักษาวัณโรค บำรุงปอด แก้หอบ แก้ไอ แก้เหนื่อยหอบ และเปลือกช่วยแก้ไอ ขับเสมหะ 
สารเคมีที่พบในดอกคือสารในกลุ่ม Glycosides คือ scutallerin, scutellarein-5-galactoside, salidroside, 2-phenyl rutinoside, 2-(3,4-dihydroxy phenyl)-ethyl glucoside, acetoside, phenyl propanoid glucosides, p-coumaryl alcohol glucoside, isoeugenol glucoside, cornoside, rengyolone, rengyoside B, rengyol, rengyoside A, isorengyol, millingtonine และสารในกลุ่ม Flavanoids คือ scutellarein-5-glucuronide, hispidulin, scutellarein, hortensin, 3,4-dihydroxy-6,7-dimethoxyflavone ที่พบในใบคือ hispidulin, beta-carotene, dinatin, rutinoside ที่พบในผลคือ acetyl oleanolic acid ที่พบในเปลือกต้นคือ sitosterol, สารขมและ tannins ที่พบในรากคือ lapachol, beta-sitosterol, paulownin และสารสำคัญที่นิยมนำมาศึกษาฤทธิ์ขยายหลอดลมและบรรเทาอาการของโรคหอบหืดคือสาร hispidulin และ hortensin ซึ่งพบทั้งในส่วนของดอกและใบ 
เมื่อไม่นานมานี้มีงานวิจัยทางคลินิกที่พบว่าตำรับยาดอกปีบมีประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการของโรคหอบหืดได้ โดยการพ่นสารสกัดน้ำจากตำรับยาดอกปีบด้วยเครื่องพ่นออกซิเจน แก่อาสาสมัครชายหญิงที่เป็นโรคหอบหืดจำนวน 30 คน อายุเฉลี่ย 46 ปี วันละ 3 ครั้ง ครั้งละ 3 มล. ซึ่งแต่ละครั้งจะห่างกัน 15 นาที พบว่าอาสาสมัครมีค่า Peak Expiratory Flow rate (PEFR) ดีขึ้นเกือบ 30% ซึ่งค่าดังกล่าวเป็นตัวชี้วัดประสิทธิภาพการทำงานของปอด แสดงให้เห็นว่าตำรับยาพ่นดอกปีบมีประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการของโรคหอบหืดได้ และการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาอื่นๆ พบว่า ปีบมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ ต้านแบคทีเรีย กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ต้านการอักเสบ ต้านอนุมูลอิสระ ปกป้องตับจากสารพิษ ขับพยาธิ ฆ่าลูกน้ำยุง และต้านการชัก แต่ยังเป็นเพียงการศึกษาในระดับหลอดทดลองและสัตว์ทดลองเท่านั้น 
 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. นันทวัน บุณยะประภัศร, อรนุช โชคชัยเจริญพร (บรรณาธิการ). หนังสือสมุนไพรไม้พื้นบ้าน เล่ม 2. กรุงเทพฯ : คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, 2541.
  2. ปริ่มเฉนียน มุ่งการดี. ปีบ. จุลสารข้อมูลสมุนไพรปีที่ 8 ฉบับที่ 4. 2534:17-19.
  3. Kumari A, Sharma RA. A Review on Millingtonia hortensis Linn. Int J Pharm Sci Rev Res 2013;19(2):85-92.
  4. Nagaraja MS, Paarakh PM. Millingtonia hortensis Linn. - a review. Pharmacologyonline 2011;2:597-602.
  5. Surendra Kumar M, Astalakshmi N, Chandran J, Jaison J, Sooraj P, Raihanath T, et al. A Review on Indian cork tree - Millingtonia hortensis linn.F. World Journal of Pharmacy and Pharmaceutical Sciences 2014;3(10):256-71


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


หอมดอกปีบ 2 วินาทีที่แล้ว
โรคติดเกม 5 วินาทีที่แล้ว
แพ้ยา ป้องกันได้ 10 วินาทีที่แล้ว
โรคน้ำหนีบ (Decompression sickness) 18 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้