เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ก่อนกินกลอย...ดูกันให้ดีๆ ก่อนนะ


ภญ. กฤติยา ไชยนอก สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 96,455 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 09/04/2559
อ่านล่าสุด 1 วันที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 


กลอย...คืออะไร? 
อ๋อ...ที่แปลว่าเพื่อนไง ฮึ!? นั่นมัน เกลอ!! 
อ๋อ...ที่ไว้เขียนตอนชั่วโมงภาษาไทยไง ฮึ!? นั่นมัน กลอน!! 
อ๋อ...ที่เป็นแล้วคันๆ ชอบขึ้นกลางหลังอะ ฮึ!? นั่นมัน เกลื้อน!! 
อ๋อ...ที่...พอๆ ชักไปกันใหญ่ มานี่ๆ ถ้าอยากรู้จะเล่าให้ฟัง วู้!! 
กลอย (Wild Yam) เป็นพืชชนิดหนึ่งค่ะ บางพื้นที่ก็เรียกว่า มันกลอย กลอยข้าวเหนียว กลอยหัวเหนียว กลอยนก กลอยไข่ ซึ่งคนทั่วไปก็มักจะรู้จักเมื่อมันถูกแปรรูปเป็นอาหารแล้ว เช่น กลอยทอด ข้าวเหนียวหน้ากลอย กลอยแกงบวด และข้าวเกรียบกลอย เป็นต้น กลอยมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dioscorea hispida Dennst. อยู่ในวงศ์ Dioscoreaceae เป็นไม้เถาล้มลุก ไม่มีมือเกาะ ลำต้นกลมมีหนาม หัวใต้ดินส่วนมากกลม บางทีเป็นพูหรือยาว เกิดใต้ผิวดิน เปลือกสีฟางหรือเทา เนื้อขาวหรือเหลืองอ่อนอมเขียว เป็นพิษ ใบเรียงสลับกัน มีใบย่อย 3 ใบ ดอกมีขนาดเล็ก สีเขียว ออกเป็นช่อตามง่ามใบ ดอกเพศผู้และเพศเมียอยู่ต่างต้นกัน เมล็ดกลมแบน มีปีกบางใสรอบเมล็ด สามารถพบกลอยได้ทั่วไปในเขตป่าฝนในเขตร้อน ในหัวกลอยมีแป้งเป็นส่วนประกอบหลัก และมีสารพิษที่ชื่อว่า ไดออสคอรีน (dioscorine) โดยปริมาณสารพิษจะขึ้นอยู่กับฤดูกาลที่เก็บ กลอยจะมีพิษมากในช่วงที่ออกดอก คือช่วงหน้าฝน ประมาณเดือนสิงหาคม - ตุลาคม และจะลดลงเมื่อกลอยเริ่มลงหัวในช่วงฤดูร้อน ประมาณเดือนเมษายน การเก็บกลอยนิยมทำกันในหน้าร้อน เพราะกลอยจะมีหัวใหญ่ โผล่พ้นดินและเถาแห้งตาย ทำให้เก็บง่าย กลอยที่เรานิยมนำมารับประทานมีอยู่ 2 ชนิด คือ กลอยข้าวเจ้า ที่ลักษณะของเถาและก้านใบมีสีเขียว เนื้อในหัวมีสีขาวนวลและหยาบ อีกชนิดคือ กลอยข้าวเหนียว ที่เถาจะมีสีน้ำตาลอมดำ เนื้อในหัวมีสีเหลืองอ่อนถึงเหลืองเข้ม เนื้อเหนียว กลอยข้าวเหนียวจะมีรสชาติดีกว่ากลอยข้าวเจ้าจึงได้รับความนิยมมากกว่า แต่กลอยทั้งสองชนิดก็มีพิษพอๆ กันค่ะ ดังนั้นเราต้องมีกรรมวิธีในการกำจัดพิษออกเสียก่อน 
สรรพคุณตามตำรายาไทยระบุว่า หัวใต้ดิน ใช้แก้เถาดาน (อาการแข็งเป็นลำในท้อง) หุงเป็นน้ำมันใส่แผล กัดฝ้า กัดหนอง หัวตากแห้งใช้ปรุงเป็นยาแก้น้ำเหลืองเสีย ขับปัสสาวะ แก้ปวดตามข้อ ฝีมะม่วง โรคซิฟิลิส ราก นำมาบดผสมกับน้ำมันมะพร้าว ใบยาสูบ ใบลำโพงหรือพริก ใช้ทาหรือพอกฆ่าหนอนในแผลสัตว์เลี้ยง 
การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของกลอยยังมีไม่มากนัก และส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การศึกษาผลจากการได้รับพิษของสารไดออสคอรีน โดยอาการพิษที่แสดงเมื่อได้รับเข้าไปคือ ใจสั่น วิงเวียน คันคอ คลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออก ซีด ตาพร่า อึดอัด เป็นลม ตัวเย็น อาจมีอาการกระตุกของกล้ามเนื้อ ระยะต่อมาคือกดระบบประสาทส่วนกลาง หากได้รับในปริมาณมากอาจทำให้เกิดอาการชักและเสียชีวิตได้ ดังนั้นก่อนที่จะนำกลอยมารับประทาน ต้องกำจัดสารพิษดังกล่าวออกก่อน โดยให้น้ำชะล้างสารพิษออกให้หมด เนื่องจากสารไดออสคอรีนละลายได้ดีในน้ำ ขั้นตอนการกำจัดพิษเช่น ปอกเปลือก ฝานเป็นแผ่นบางๆ นำไปตากแห้ง ซึ่งจะทำให้เก็บไว้ได้นาน และก่อนนำมาประกอบอาหาร ให้นำกลอยแห้งใส่ในภาชนะโปร่งแช่ในน้ำไหลประมาณ 1 วัน 1 คืน แล้วนำมานวดให้นุ่ม จากนั้นนำไปผึ่งแดดพอหมาดๆ นำกลอยไปใส่ภาชนะแช่น้ำเช่นเดิม ทำซ้ำๆ กัน 2 - 3 ครั้ง จนกลอยนุ่มดีแล้วจึงนำไปประกอบอาหาร หรือในพื้นที่ชายทะเล ก็นิยมหั่นกลอยเป็นแผ่นบางๆ แล้วแช่น้ำทะเลเพื่อให้เกลือช่วยทำลายพิษ แต่ต้องหมั่นเปลี่ยนน้ำ ส่วนใหญ่ใช้เวลาแช่และทับประมาณ 7 วัน นำไปตากแห้งจะเก็บไว้ได้นาน เมื่อจะนำมาประกอบอาหารก็แช่น้ำอีก 1 หรือ 2 คืน แล้วคั้นน้ำทิ้งก่อนนำมาประกอบอาหารค่ะ 
แหม...กว่าจะได้กลอยมากินแต่ละทีนี่มันก็ลำบากเหมือนกันนะ แต่อย่างไรก็ตามวิธีการกำจัดพิษดังกล่าวก็ควรทำโดยผู้ที่มีความชำนาญค่ะ อย่างเราๆ ที่กินเป็นอย่างเดียว อย่าริอ่านไปลองทำเองจะดีกว่า และเราควรเลือกซื้อเลือกกินจากผู้ผลิตที่มีความน่าเชื่อถือรวมทั้งมีแหล่งผลิตที่ได้มาตรฐานด้วย และอีกอย่างที่สำคัญไม่แพ้กันคือ หากรับประทานแล้วเกิดความผิดปกติกับร่างกาย ควรรีบพบแพทย์ทันทีค่ะ 
อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่จุลสารข้อมูลสมุนไพรปีที่ 15 ฉบับที่ 4

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. ปิยะ เฉลิมกลิ่น. ไม้ดอกหอม เล่ม 1. กรุงเทพฯ: บ้านและสวน, 2542: 160 หน้า.
  2. ชยันต์ พิเชียรสุนทร. คู่มือเภสัชกรรมแผนไทย เล่ม 1 น้ำกระสายยา. กรุงเทพฯ: บริษัทอมรินทร์ พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), 2556: 94 หน้า.
  3. Boskabady MH, Shafei MN, Saberi Z, Amini S. Pharmacological effects of Rosa damascena. Iran J Basic Med Sci 2011; 14(4) :295-307.
  4. ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน. ระบบข้อมูล ทาง วิชาการ: กุหลาบมอญดอกสีแดง [อินเทอร์เน็ต]. 2557 [เข้าถึงเมื่อ 14 ก.พ. 2557]. เข้าถึงได้จาก http://clgc.rdi.ku.ac.th/index.php/fragrant2/250-rosa
  5. Bradley B F, Starkey N J, Brown S L, Lea R W. The effects of prolonged rose odor inhalation in two animal models of anxiety. Physiol Behav 2007; 92: 931–8.
  6. Rakhshandah H, Hosseini M, Dolati K. Hypnotic effect of Rosa damascena in Mice. Iran J Pharm Res 2004; 3: 181.
  7. Senol FS, Orhan IE, Kurkcuoglu M, Khan MTH, Altintas A, Sener B, Baser KHC. A mechanistic investigation on anticholinesterase and antioxidant effects of rose (Rosa damascena Mill.). Food Res Int 2013; 53: 502–9.

-->



บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


กัญชากับการรักษาโรค 14 วินาทีที่แล้ว
ทานตะวัน 1 นาทีที่แล้ว
โรครองช้ำ 1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้