เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ยารักษาโรคกระดูกพรุน ใช้อย่างไร?


รองศาสตราจารย์ ดร. ภ.ญ. บุษบา จินดาวิจักษณ์ ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 180,446 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 20/12/2553
อ่านล่าสุด 1 วันที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 


ทั้งผู้หญิงและผู้ชายมีโอกาสที่จะเป็นโรคกระดูกพรุนได้ โดยมักจะเป็นเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ แต่จะไม่ค่อยพบในเด็กๆ และคนหนุ่มสาว ยกเว้นแต่กรณีที่มีภาวะปัจจัยเสี่ยง เหตุผลที่เด็กและคนหนุ่มสาวไม่เป็นโรคกระดูกพรุน เนื่องจากวัยเด็ก ร่างกายจะเติบโต มีการสร้างเนื้อกระดูกอยู่ตลอดเวลา เด็กจึงตัวโตขึ้น สูงขึ้น การสะสมเนื้อกระดูกจะมากและเร็วในช่วงก่อนเข้าสู่วัยรุ่น หลังจากนั้นการสะสมของเนื้อกระดูกจะเริ่มช้าลง จนได้เนื้อกระดูกที่มีความหนาแน่นมากที่สุดเมื่ออายุประมาณ25-30 ปี เนื้อกระดูกจะคงที่อยู่เช่นนั้น จนถึงช่วงอายุประมาณ 35-40 ปี จากนั้นความหนาแน่นของเนื้อกระดูกจะเริ่มลดลงอย่างช้าๆ ประมาณ 0.5-1% ต่อปี ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย แต่ในผู้หญิงจะมีปัจจัยที่ทำให้เกิดการสูญเสียเนื้อกระดูกเพิ่มมากขึ้นนั่นคือ ภาวะหมดประจำเดือน เนื่องจากฮอร์โมนเพศหญิงที่มีชื่อว่า “เอสโตรเจน”มีส่วนสำคัญในการสร้างเนื้อกระดูก แต่ในภาวะหมดประจำเดือน ผู้หญิงจะมีฮอร์โมนเอสโตรเจนลดต่ำลงอย่างมาก จึงทำให้การสร้างเนื้อกระดูกทดแทนเป็นไปได้น้อยมาก และกลับมีการสูญเสียเนื้อกระดูกเร็วขึ้น กล่าวคือมีการลดลงของเนื้อกระดูกประมาณ 3-5% ต่อปีในช่วงอายุ 50-55 ปี หลังจากนั้นการลดลงของเนื้อกระดูกจะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ (0.5-1% ต่อปี) สำหรับผู้ชายยังมีฮอร์โมนเพศชายที่ชื่อว่า “เทสโทสเตอโรน” ซึ่งมีส่วนสำคัญในการสร้างเนื้อกระดูกเช่นกัน แต่ในช่วงอายุ 50-55 ปี การลดลงของฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนเป็นไปอย่างช้าๆ และมีเนื้อกระดูกลดลง 0.5-1% ต่อปี ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ตลอดชีวิต ซึ่งแตกต่างจากผู้หญิง ดังนั้นจึงเกิดโรคกระดูกพรุนขึ้นในผู้หญิงได้เร็วกว่าผู้ชาย แต่ในที่สุดทั้งผู้หญิงและผู้ชายต่างก็มีโอกาสเป็นโรคกระดูกพรุนได้ไม่แตกต่างกัน

 

ผู้ที่เป็นโรคกระดูกพรุนจะเสี่ยงต่อการมีกระดูกหัก บางครั้งเพียงแค่ไอ จาม ก็ทำให้กระดูกซี่โครงหัก การลื่นหกล้มแม้จะยั้งตัวได้โดยหัวไม่ฟาดพื้นก็อาจเกิดกระดูกข้อมือหักจากการใช้มือยันตัวไว้ หรือกระดูกสะโพกหักจากก้นกระแทกพื้นได้

รู้อย่างนี้แล้ว ทุกคนคงต้องการหาวิธีป้องกัน แต่ก็ยังไม่มีวิธีป้องกันการเกิดโรคกระดูกพรุน ทำได้แต่เพียงการพยายามลดปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคกระดูกพรุน ได้แก่

 

1. รับประทานแคลเซียมให้เพียงพอ คือ ประมาณวันละ 1,000 มิลลิกรัม แต่ผู้หญิงในช่วงวัยหมดประจำเดือน (อายุ 50-55 ปี) ควรรับประทานแคลเซียมวันละ 1,500 มิลลิกรัม โดยอาจเป็นการดื่มนม หรือรับประทานปลาตัวเล็กตัวน้อยทอดกรอบ กุ้งแห้ง กุ้งฝอย กะปิ เต้าหู้เหลือง เป็นต้น หรือรับประทานยาเม็ดแคลเซียม

 

ชนิดอาหารปริมาณที่บริโภคปริมาณแคลเซียม (มิลลิกรัม)
นมสดยูเอชที200 ซีซี (1 กล่อง)240
นมโยเกิร์ต150 ซีซี (1 ถ้วย)150
กุ้งแห้งตัวเล็ก1 ช้อนโต๊ะ145
ปลาสลิด1 ตัว106
กะปิ2 ช้อนชา156
ไข่ไก่1 ฟอง63
ไข่เป็ด1 ฟอง78
งาดำคั่ว1 ช้อนโต๊ะ116
เต้าหู้1 ก้อน240
ผักคะน้า1 ถ้วยตวง230
ใบยอ1 ถ้วยตวง469
มะเขือพวง1 ถ้วยตวง299

สำหรับการรับประทานยาเม็ดแคลเซียมนั้น พึงทราบด้วยว่าผลิตภัณฑ์ยาแคลเซียมมีความแตกต่างกันที่รูปเกลือ ซึ่งจะให้ธาตุแคลเซียมได้ไม่เท่ากัน โดยในรูปแคลเซียมคาร์บอเนตให้แคลเซียมได้มากที่สุดคือร้อยละ 40 แต่แคลเซียมกลูโคเนตให้แคลเซียมได้น้อยที่สุดคือร้อยละ 9 ดังนั้น จะต้องรับประทานผลิตภัณฑ์ยาแคลเซียมคาร์บอเนตวันละ 2,500 มิลลิกรัมจึงจะได้แคลเซียม 1,000 มิลลิกรัมตามความต้องการ หรือ จะต้องรับประทานผลิตภัณฑ์ยาแคลเซียมกลูโคเนตวันละ 11-12 กรัมจึงจะได้แคลเซียม 1,000 มิลลิกรัมตามความต้องการ

 

แคลเซียมในรูปเกลือต่างๆปริมาณแคลเซียมที่ได้จากเกลือแคลเซียม 100 มิลลิกรัม
แคลเซียมคาร์บอเนต40 มิลลิกรัม
แคลเซียมอะซิเตต25 มิลลิกรัม
แคลเซียมซิเตรต21 มิลลิกรัม
แคลเซียมแลคเตต13 มิลลิกรัม
แคลเซียมกลูโคเนต9 มิลลิกรัม

นอกจากรูปเกลือที่ต่างกันแล้ว ผลิตภัณฑ์ยาแคลเซียมยังมีหลายรูปแบบ ทั้งชนิดที่เป็นยาเม็ดแข็ง ยาเม็ดฟู่ และยาแคปซูล ซึ่งต่างก็ทำขึ้นมาเพื่อให้สะดวกแก่การรับประทาน เช่น ยาเม็ดฟู่มีรสชาติดีกว่ายาเม็ด โดยใส่ยาเม็ดฟู่ลงในน้ำและดื่มขณะยังมีฟองฟู่ ยาแคปซูลจะกลืนได้ง่ายกว่ายาเม็ดและไม่ละลายในปาก แต่ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดก็มีประสิทธิภาพเท่ากัน บางผลิตภัณฑ์มีการเติมวิตามินดี หรือวิตามินซี ด้วย ทั้งนี้เพื่อให้แคลเซียมถูกดูดซึมได้ดีขึ้นจากทางเดินอาหาร และวิตามินดียังช่วยเก็บแคลเซียมไม่ให้ถูกขับออกทางไตด้วย สำหรับยาวิตามินรวมที่มีแคลเซียมเป็นส่วนประกอบมักจะมีปริมาณแคลเซียมไม่พอสำหรับผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน หากจะรับประทานยานี้ก็ต้องรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมเสริม ไม่ควรเพิ่มขนาดยาวิตามินรวมนั้น เพราะแม้จะได้ปริมาณแคลเซียมตามต้องการ แต่จะได้ปริมาณวิตามินเพิ่มขึ้นไปด้วย ซึ่งวิตามินบางชนิดในขนาดสูงจะเป็นอันตรายได้

 

2. ออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมที่ใช้/ออกแรง อย่างสม่ำเสมอ เช่น การวิ่งหรือเดินเร็วๆ ที่มีการลงน้ำหนักบนกระดูก (ไม่วิ่งจ๊อกกิ้ง ไม่วิ่งบนพื้นปูนหรือซีเมนต์ และไม่เดินทอดน่อง) การยกน้ำหนัก การลีลาศ และฝึกการทรงตัว เช่น ยืนด้วยขาข้างเดียว


3. ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ไม่อ้วนหรือผอมเกินไป คือมีค่าดัชนีมวลกาย ระหว่าง 18-23 (คำนวณค่าดัชนีมวลกายได้โดยการนำน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัมหารด้วยความสูงเป็นเมตรยกกำลังสอง)


4. หยุดสูบบุหรี่


5. หยุดดื่มแอลกอฮอล์

 

สำหรับผู้ที่เป็นโรคกระดูกพรุนแล้ว ในปัจจุบันมียาที่ใช้รักษาอยู่หลายกลุ่ม ได้แก่ ยาเม็ดฮอร์โมนทดแทน ยาเม็ดที่ออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจนยาพ่นจมูกแคลซิโตนิน (calcitonin)ยาเม็ดที่มีตัวยาสำคัญเป็นยาในกลุ่มบิสฟอสโฟเนต (bisphosphonate) และยาเม็ดแคลเซียม ยาเหล่านี้จะช่วยเพิ่มมวลกระดูกขึ้น จึงลดโอกาสของการเกิดกระดูกหัก

ยาในกลุ่มบิสฟอสโฟเนต เช่น อะเลนโดรเนต (alendronate), ไอแบนโดรเนต (ibandronate), ไรซิโดรเนต (risedronate) เป็นยาที่ใช้ได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย นิยมใช้ในปัจจุบัน สิ่งสำคัญที่ควรทราบเวลารับประทานยากลุ่มนี้ คือ ควรรับประทานยาตอนท้องว่าง นั่นคือรับประทานก่อนอาหารเช้าประมาณ 1 ชั่วโมง เพราะจะทำให้ยาถูกดูดซึมได้ดีขึ้น และเนื่องจากยานี้มีอาการข้างเคียงที่ทำให้หลอดอาหารเป็นแผลได้ ดังนั้นหลังจากรับประทานยาแล้ว ห้ามนอนราบโดยเด็ดขาดอย่างน้อย 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง เพราะอาจทำให้ยาย้อนกลับขึ้นมาในหลอดอาหารได้มากขึ้น ซึ่งอาการที่สังเกตได้ คือ รู้สึกเจ็บคอ แสบคอ หรือเจ็บเวลากลืนอาหาร ซึ่งหากมีอาการดังกล่าวในระหว่างรับประทานยากลุ่มนี้ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร อีกประการหนึ่งที่ควรทราบด้วย คือ ยาในกลุ่มนี้มีวิธีรับประทานหลายแบบ ได้แก่ แบบที่ต้องรับประทานทุกวันวันละ 1 ครั้ง แบบที่รับประทานสัปดาห์ละ 1 ครั้ง แบบที่รับประทานเดือนละ 1 ครั้ง ดังนั้นเวลาได้รับยามาแล้วจะต้องตรวจสอบรูปแบบยา และวิธีรับประทานยาทุกครั้งก่อนเริ่มรับประทานยา หากมีข้อสงสัยควรปรึกษาเภสัชกรก่อนเพื่อจะได้ไม่รับประทานยาที่ผิดไป

ยาเม็ดฮอร์โมนทดแทน และ ยาเม็ดที่ออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจนเป็นยาที่ใช้ในผู้หญิงโดยเฉพาะ ผู้ที่รับประทานยาเม็ดฮอร์โมนทดแทนจะต้องได้รับการตรวจว่าไม่เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมก่อนจะใช้ยา ระหว่างใช้ยาก็จะต้องระวังการเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ยานี้จะต้องรับประทานให้ตรงเวลาทุกวันติดต่อกัน 3 สัปดาห์ และหยุด 7-10 วันซึ่งในระหว่างที่หยุดยานี้จะมีเลือดคล้ายระดูออกมา จากนั้นจึงรับประทานยาแผงใหม่ต่อไป หรือจำง่ายๆ ว่ารับประทานยาเฉพาะช่วงวันที่ 1-21 ของทุกๆ เดือนก็พอ ส่วนยาเม็ดที่ออกฤทธิ์คล้ายเอสโตรเจนนั้นสามารถรับประทานต่อเนื่องกันทุกวันได้

แหล่งอ้างอิง/ที่มา


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


การเดินเพื่อสุขภาพ 1 วินาทีที่แล้ว
หญ้าปักกิ่ง 1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้