เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


รู้รอบตอบชัด สารพัด “ยาลดกรด”


นศภ. ณภัทร สัตยุตม์ นักศึกษาฝึกปฏิบัติงานคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 133,619 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 08/10/2557
อ่านล่าสุด 1 วันที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

สำหรับคนที่มีนิสัยรับประทานรสจัด รับประทานอาหารไม่ตรงเวลา ชอบรับประทานกาแฟ รับประทานยาแก้ปวดชนิดกัดกระเพาะตอนท้องว่างอยู่บ่อยๆ สูบบุหรี่ ดื่มน้ำอัดลม มีความเครียดสะสม วิตกกังวลเป็นประจำ อาการหนึ่งที่คนกลุ่มนี้มักจะพบ คือ อาการปวดท้องจากกรดเกินที่กระเพาะอาหารซึ่งอาจนำไปสู่โรคแผลในกระเพาะอาหาร แผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้น หรือกรดไหลย้อนได้ในอนาคต โดยยาที่ใช้บรรเทาอาการดังกล่าว หนึ่งในนั้นคงหนีไม่พ้นยาในกลุ่ม “ยาลดกรด”

ยาลดกรดออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกในการออกฤทธิ์ของยาลดกรดคือการนำความเป็นด่างของยาสะเทินกับกรดในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เพื่อลดความเป็นกรด เมื่อความเป็นกรดลดลงการกัดกร่อนของกรดที่จะทำให้เกิดแผลหรือการทำให้แผลที่มีอยู่ระคายเคืองจึงลดลงและให้ผลในการบรรเทาอาการ

ยาลดกรดชนิดต่างๆ และคุณสมบัติ

ยาลดกรดที่มีในท้องตลาดมีหลากหลายชนิดซึ่งแต่ละชนิดมีคุณสมบัติเด่นและด้อยแตกต่างกันออกไป ดังนี้

1. ยาที่มีส่วนผสมของสารประกอบอลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ (aluminium hydroxide, AlOH3)

2. ยาที่มีส่วนผสมของสารประกอบแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ (magnesium hydroxide, MgOH2) แมกนีเซียมไตรซิลิเกต (magnesium trisilicate) หรือแมกนีเซียมคาร์บอเนต (magnesium carbonate, MgCO3)

ยาสองชนิดนี้มักใช้เป็นสูตรผสมคู่กัน โดยจัดเป็นยาลดกรดที่ดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้น้อย ออกฤทธิ์เฉพาะที่กระเพาะอาหารจึงไม่รบกวนสมดุลกรด-ด่างในร่างกาย โดยอลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ทำให้เกิดอาการท้องผูกได้ และแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์มีผลทำให้เกิดอาการท้องเสียได้ ดังนั้นเมื่อใช้เป็นสูตรผสมรับประทานร่วมกันจึงมีผลต่อระบบขับถ่ายน้อย อลูมิเนียมไฮดรอกไซด์อาจนำมาใช้ในการลดปริมาณฟอสเฟตในเลือดในผู้ป่วยโรคไตในขณะที่แมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ควรระมัดระวังการใช้ในผู้ป่วยโรคไต ดังนั้นยาที่เป็นสูตรผสมของยาสองชนิดนี้จึงไม่ควรใช้ในผู้ป่วยโรคไต ยาในกลุ่มนี้เช่น แอนตาซิล (Antacil) มาล็อกซ์ (Maalox) อะลัมมิลค์ (Alum milk)

3. ยาที่มีส่วนผสมของสารประกอบโซเดียมไบคาร์บอเนต (sodium bicarbonate, NaHCO3) หรือโซดามินท์ (sodamint)

โซเดียมไบคาร์บอเนตเป็นยาลดกรดชนิดออกฤทธิ์เร็ว แต่มีฤทธิ์ในการรักษาสั้น การใช้ยานี้สิ่งที่ต้องระมัดระวัง คือ คุณสมบัติของยาที่สามารถดูดซึมผ่านกระเพาะอาหารเข้าสู่กระแสเลือดได้จึงอาจทำให้เลือดและปัสสาวะเกิดสภาวะเป็นด่างมากกว่าปกติ รวมไปถึงการมีโซเดียมมากเกิดในกระแสเลือดได้ จึงเหมาะที่จะใช้ในการบรรเทาอาการกรดเกินหรือการระคายเคืองทางเดินอาหารเมื่ออาการกำเริบ แต่ไม่เหมาะสำหรับการใช้เป็นประจำเพื่อควบคุมภาวะความเป็นกรด นอกจากยานี้จะใช้ในการลดกรดในทางเดินอาหารแล้ว ยังอาจพบการใช้โซเดียมไบคาร์บอเนตในการควบคุมความสภาวะความเป็นกรดในเลือดในผู้ป่วยโรคไตอีกด้วย ยาในกลุ่มนี้ เช่น อีโน (ENO)

4. ยาที่มีส่วนผสมของสารประกอบแคลเซียมคาร์บอเนต (calcium carbonate, CaCO3)

แคลเซียมคาร์บอเนตให้ฤทธิ์ในการรักษาและออกฤทธิ์ได้เร็วระดับปานกลาง ยานี้อาจมีผลทำให้ท้องผูกได้

ยาที่ช่วยเสริมประสิทธิภาพของยาลดกรด

นอกจากตัวยาที่มีฤทธิ์ในการลดกรดแล้ว ยาที่วางขายในท้องตลาดมักผสมตัวยาชนิดอื่นเพื่อเสริมประสิทธิภาพในการรักษาและบรรเทาอาการอันเนื่องมาจากกรดอีกด้วย ยาดังกล่าว ได้แก่

  1. ไซเม็ททิโคน (simethicone) หรือไดเมทิลโพลีไซโลเซน (dimethyl polysiloxane, MPS)
    เป็นสารลดแรงตึงผิวที่ทำให้ฟองและแก๊สในกระเพาะอาหารสามารถระบายออกจากอาหารที่กำลังถูกย่อยได้ จึงใช้บรรเทาอาการท้องอืด เนื่องจากมีแก๊สมากในกระเพาะและลำไส้ ยาในกลุ่มนี้เช่น แอร์เอ็กซ์ (Air-X)
  2. บิสมัท ซับซาลิไซเลต (bismuth subsalicylate)
    เป็นยาฆ่าเชื้อที่ใช้ในการรักษาการติดเชื้อที่ทำให้เกิดภาวะกรดเกินในกระเพาะอาหาร
    โดยตัวยามีความสามารถในการลดกรดอย่างอ่อนๆ ยาในกลุ่มนี้เช่น แกสโตร-บิสมอล (Gastro-bismol)
  3. กรดอัลจินิก (algenic acid) หรือ โซเดียมแอลจิเนต (sodium alginate)
    เป็นสารกลุ่มเดียวกับแป้งที่เมื่อสัมผัสกับกรดจะพองตัวเป็นเจลที่มีความสามารถในการจับกับแก๊ส
    คาร์บอนไดออกไซด์เกิดเป็นโฟม โดยโฟมที่เกิดขึ้นจะมีความหนืดและลอยตัวเป็นแพอยู่บนผิวของอาหาร
    ที่ถูกย่อยอยู่ในกระเพาะอาหาร ยาจึงช่วยลดการระเหยของไอกรดไปที่ยังหลอดอาหาร ลดการระคาย
    เคืองจากกรดในกระเพาะ มักใช้ร่วมกับยาลดกรดประเภทโซเดียมไบคาร์บอเนต ยาในกลุ่มนี้เช่น กาวิสคอน (Gaviscon)

หมายเหตุ  
Gaviscon เป็นยาที่มีส่วนประกอบของโซเดียมไบคาร์บอเนต แคลเซียมคาร์บอเนต และโซเดียมแอลจิเนต โดย Gaviscon dual action จะมีปริมาณตัวยาที่ใช้ในการลดกรดมากกว่า Gaviscon สูตรปกติ

 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Hoogerwerf WA, Pasricha PJ. Agent used for control of gastric acidity and treatment of peptic ulcers and gastroesophageal reflux disease. In:Hardman JG, Limbird LE, editors. Goodman & Gilman’s the pharmacological basis of therapeutics. 10th ed. New York: The McGraw-Hill Companies, Inc; 2001. p.1005-20
  2. Bismuth subsalicylate. In :DRUGDEX System (database on Internet). Ann Arbor (MI): Truven Health Analytics; 2014 [cited 23 May 2014]. Available from: http://www.micromedexsolutions.com
  3. Erwin K, et al. Drug Fact and Comparisons. Missouri: Wolters Kluwer Health; 2009.p.1774-80.
  4. Mandel KG, Daggy BP, Brodie DA, Jacoby HI. Review article: alginate-raft formulations in the treatment of heartburn and acid reflux. Aliment Pharmacol Ther. 2000 Jun;14(6):669-90.
  5. MIMS Thailand. 134th ed. Bangkok: TIMs; 2014.


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


แอสไพริน (aspirin) 6 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้