เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


โรคระบาดที่มากับน้ำท่วม (ตอนที่ 1) ไข้ไทฟอยด์


ผศ.ดร. มัลลิกา (ไตรเดช) ชมนาวัง ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
อ่านแล้ว 25,476 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 10/11/2554
อ่านล่าสุด 1 วันที่แล้ว
https://tinyurl.com/y7qwhoz4
Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ https://tinyurl.com/y7qwhoz4
 
ในสภาวการณ์ปัจจุบันที่เกิดภาวะน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ก่อให้เกิดความกังวลในด้านที่อยู่อาศัยและการเดินทาง สิ่งหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือ โรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้นได้ในช่วงเกิดน้ำท่วม ดังนั้นโรคระบาดที่มากับน้ำท่วมก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่พึงทราบ เพื่อที่จะได้ปฏิบัติตนและป้องกันตนจากโรคภัยไข้เจ็บที่อาจเกิดขึ้นได้ทันท่วงที อาการเจ็บป่วยแรกที่จะกล่าวถึงคือ ไข้ไทฟอยด์หรือที่รู้จักกันว่าไข้รากสาดน้อย ซึ่งเป็นโรคที่ติดต่อได้จากการรับประทานอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนอุจจาระของผู้ป่วย

ไข้ไทฟอยด์
สาเหตุ: ไข้ไทฟอยด์มีสาเหตุมาจากแบคทีเรีย Salmonella Typhi อยู่ใน Family Enterobacteriaceae species Salmonella enterica supsp. enterica serovar Typhi ผู้ป่วยได้รับเชื้อนี้โดยการกิน เมื่อเชื้อเข้าสู่ทางเดินอาหารจะบุกรุกทำลายเซลล์เยื่อบุทางเดินอาหาร และจะแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองและกระแสเลือดได้ จากนั้นเชื้อยังสามารถกระจายไปยังตับ ม้าม ท่อน้ำดี และผิวหนังได้ คนจัดเป็นพาหะสำคัญของโรคนี้ และอาจกลายเป็นพาหะที่ไม่แสดงอาการภายหลังจากได้รับเชื้อ แต่สามารถแพร่เชื้อสู่สิ่งแวดล้อมได้ตลอดเวลาโดยที่ตัวเองไม่มีอาการใดๆ ดังกรณีศึกษาที่เคยโด่งดังไปทั่วโลกซึ่งเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาของ Mary Mellon หรือที่รู้จักกันว่า Typhoid Mary หญิงสาวชาวอเมริกันที่มีอาชีพแม่ครัวและถูกจัดให้เป็น “พาหะที่มีสุขภาพดีคนแรกของไข้ไทฟอยด์” ซึ่งได้แพร่กระจายเชื้อนี้ไปตามบ้านและร้านอาหารแก่คนอื่นกว่า 53 คน ในจำนวนนี้มีคนตายถึง 3 คน โดยพบเชื้อSalmonella หลบซ่อนอยู่ภายในถุงน้ำดี และหญิงสาวคนนี้ได้ถูกดำเนินคดีในที่สุด
อาการ: ในสัปดาห์แรกมักมีไข้สูงลอย ปวดหัว อ่อนเพลีย ท้องเสีย บางรายอาจท้องผูกได้ เบื่ออาหาร ม้ามโต อาจมีผื่นขึ้นตามตัวในผู้ป่วยบางราย (rose spots) ในผู้ป่วยส่วนน้อยอาจเกิดเลือดออกในลำไส้ อาการที่เกิดขึ้นจะหายได้เองภายในหนึ่งเดือน อันตรายจากโรคนี้อาจเกิดจากภาวะแทรกซ้อน เช่น ลำไส้ทะลุ หรืออาจแพร่กระจายไปตามอวัยวะเกิดถุงน้ำดีอักเสบ เยื่อบุหัวใจอักเสบ และเกิดภาวะเลือดเป็นพิษในที่สุด
การป้องกัน: สุขอนามัยที่ดีเป็นหลักการสำคัญในการป้องกันการติดเชื้อSalmonella เนื่องจากการแพร่กระจายเชื้อมักพบเกิดจากการปนเปื้อนอุจจาระผู้ป่วยในอาหาร ดังนั้นการบริโภคน้ำดื่มและอาหารที่ใหม่ สด สะอาด ปราศจากการปนเปื้อนของเชื้อ รวมทั้งการล้างมือก่อนการรับประทานอาหารจึงเป็นการป้องกันเบื้องต้น การกำจัดสิ่งปฏิกูลอย่างถูกสุขลักษณะก็เป็นสิ่งจำเป็น นอกจากนี้ ในปัจจุบันยังมีวัคซีนป้องกันไข้ไทฟอยด์เป็นอีกทางเลือกหนึ่งด้วย
ข้อพึงระวัง: ถึงแม้ผู้ป่วยจะฟื้นตัวหรือหายจากอาการต่างๆแล้ว แต่ก็ยังอาจมีเชื้อSalmonella ในร่างกายอยู่ ซึ่งอาจกลับเป็นโรคซ้ำได้ ผู้ป่วยจึงควรทานยาปฏิชีวนะตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัดเพื่อทำลายเชื้อในร่างกายให้หมด นอกจากนี้ ยังเป็นการตัดวงจรการแพร่กระจายเชื้อจากการเป็นพาหะนำเชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ด้วย
วัคซีนป้องกันไข้ไทฟอยด์: การให้วัคซีนป้องกันนั้นมักไม่ให้แก่คนทั่วไป แต่แนะนำเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยง เช่น ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาด ผู้ที่มีคนในครอบครัวเป็นพาหะ โดยวัคซีนที่มีจำหน่ายนั้นมีหลายชนิด ทั้งวัคซีนเชื้อตาย (Inactivated vaccine) วัคซีนเชื้อเป็นที่อ่อนฤทธิ์ (Oral live attenuated vaccine) และวัคซีนที่ทำจากส่วนแคพซูลของเชื้อ (Capsular polysaccharide vaccine)

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. FH Kayser et al., Medical Microbiology, Thieme, Stuttgart, Germany, 2005.
  2. MH Gerardi and MC Simmerman. Wastewater Pathogens, John Wiley & Sons, Inc., Hoboken, New Jersey, USA, 2005.
  3. http://www.cdc.gov/salmonella/
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้

งานประชุมวิชาการที่กำลังเปิดรับสมัคร


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


ยาตีกัน 1 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้