เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


กาแฟโบราณ...กาแฟเม็ดมะขาม


รองศาสตราจารย์พร้อมจิต ศรลัมพ์ สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 41,957 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 23/09/2555
อ่านล่าสุด 1 วันที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

สมัยก่อน การปลูกกาแฟในประเทศไทยยังไม่แพร่หลาย ชาวอีสานนิยมคั่วเมล็ดมะขาม และแกะเนื้อในกินเล่น ตำรายาไทยระบุว่าเป็นยาถ่ายพยาธิไส้เดือน แก้ท้องเสียและแก้คลื่นไส้ ต่อมามีผู้สังเกตว่ารสคล้ายกาแฟ จึงมีกาแฟเม็ดมะขามคั่วขาย ทั้งโอเลี้ยงและโอยัวะ บางครั้งผสมปนกับกาแฟจริง เพื่อลดต้นทุน เรียกว่ากาแฟโบราณ ถ้าจะมองเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคก็อาจได้ แต่ทราบไหมว่าเนื้อในเมล็ดมะขาม มีสารที่เป็นยาและเสริมให้คุณค่าของเครื่องดื่มชนิดนี้ดีขึ้น ทั้งทำให้บริโภคคาเฟอีนลดลงด้วย
จากรายงานวิจัยที่ตีพิมพ์ ในปี 2007 นักวิจัยเลือกใช้พาราเซตามอลซึ่งเป็นพิษต่อตับ ทดลองป้อนหนูทดลองขนาด 1 กรัมต่อ กก.น้ำหนักตัว ติดต่อกัน 7 วัน เพื่อทำลายเซลล์ตับหนู หลังจากวันที่ 3 เริ่มป้อนสารสกัดน้ำของเนื้อในเมล็ดมะขามขนาด 700 มก.ต่อ กก.น้ำหนักตัวหนู เป็นเวลา 9 วัน แล้วตรวจหาค่าเอนไซม์ที่ส่อถึงการอักเสบและการทำลายของเซลล์ตับ วัดน้ำหนักตับที่เหลือ และตัดชิ้นเนื้อตับไปตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ด้วย ผลระบุว่าสารสกัดเมล็ดมะขามที่ไม่คั่ว สามารถต้านความเป็นพิษของพาราเซตามอลต่อตับหนูทดลองได้ ทั้งยังกระตุ้นการสร้างเซลล์ตับขึ้นทดแทนส่วนที่เสียไป และมีฤทธิ์ปกป้องไตด้วย ต่อมาปี 2012 มีงานวิจัยของเมล็ดมะขามออกมามากมาย นักวิจัยเผยแพร่ผลงานการวิจัยที่พบว่า ในเนื้อเมล็ดมะขามมีไขมันและโพลีแซคคาไลด์ (สารประกอบที่เกิดจากการต่อกันของน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวจนเป็นสายยาว) และพบว่าโพลีแซคคาไลด์จากเมล็ดมะขามละลายได้ดีในน้ำ และมีฤทธิ์เสริมประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ซึ่งหมายความว่าหากระบบภูมิคุ้มกัน (ได้แก่กลุ่มเม็ดเลือดขาวหลายชนิดในร่างกาย) บกพร่องหรือน้อยกว่าปกติ โพลีแซคคาไลด์จากเมล็ดมะขามจะกระตุ้นให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น สามารถกำจัดเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆที่ผ่านเข้ามาในร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชื้อไวรัส ซึ่งไม่มียาใด ๆ รักษาได้ รวมทั้งสามารถยับยั้งการเกิดเซลล์เนื้องอกมะเร็งได้ด้วย นอกจากนั้นยังพบว่ามีฤทธิ์รักษาภาวะเบาหวานของหนูทดลองโดยมีกลไกซับซ้อนหลายวิธี เช่นทำให้เกิดการสร้างเบต้าเซลล์ที่ผลิตอินซูลิน เพิ่มประสิทธิภาพในการส่งผ่านกลูโคสที่เยื่อผนังเซลล์เพื่อใช้สร้างไกลโคเจนในตับ (ผ่านทาง GLUT-2) และ ที่กล้ามเนื้อหัวใจและกล้ามเนื้อในร่างกาย (ผ่านทาง GLUT-4) เป็นต้น
ส่วนเปลือกเมล็ดมะขาม มีส่วนประกอบเป็นแทนนินที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วย
สรุปได้ว่า กาแฟโบราณ ราคาถูกกว่าและมีคุณภาพล้นแก้ว เรามารื้อฟื้นภูมิปัญญาไทยและชวนกันดื่มกาแฟเมล็ดมะขามกันดีไหม ท่านว่าให้ คั่วเม็ดมะขามในกระทะด้วยไฟอ่อน ๆ จนหอมและสุกดี แล้วเอามาแกะเปลือกออกแล้วโขลกให้เม็ดมันแตกออก หรือใช้เครื่องบดกาแฟต่อก็ได้ จากการวิจัยสารสำคัญสามารถละลายได้ดีในน้ำ จึงชงแบบกาแฟสดได้เลย

 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


การตรวจปัสสาวะ 1 วินาทีที่แล้ว
4 วินาทีที่แล้ว
เชื้อโรคในห้องสุขา 12 วินาทีที่แล้ว
14 วินาทีที่แล้ว
แกงเลียง อาหารเป็นยา 27 วินาทีที่แล้ว
1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้