เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


หวาน-ธรรมชาติ-เพื่อสุขภาพ


รองศาสตราจารย์ ดร. พิสมัย กุลกาญจนาธร ภาควิชาเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านแล้ว 99,759 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 22/07/2555
อ่านล่าสุด 2 วันที่แล้ว

Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
 

หวานเป็นรสที่คนขาดไม่ได้ ซึ่งปัจจุบันคนให้ความสำคัญกับสุขภาพมาก จึงเลือกบริโภคเครื่องดื่มโดยพิจารณาสารปรุงแต่งรสหวานที่มีคุณประโยชน์ต่อสุขภาพ อุตสาหกรรมเครื่องดื่มหันมาสนใจใช้สารให้ความหวานจากธรรมชาติแทนสารสังเคราะห์มากขึ้น

หญ้าหวาน 
เป็นพืชที่ให้ความหวานโดยธรรมชาติ ใบหญ้าหวานสด สกัดด้วยน้ำได้สารหวานแห้งประมาณร้อยละหนึ่ง ซึ่งสารหวานนี้มีความหวานมากกว่าน้ำตาลทราย 150 - 300 เท่า และทนความร้อนได้ถึง 200 องศาเซลเซียส จึงไม่สลายตัวหรือเปลี่ยนสภาพจากความร้อนในการปรุงอาหาร 
สารให้ความหวานจากหญ้าหวานเป็นสารสกัดที่มาจากธรรมชาติอย่างแท้จริง เป็นความหวานที่ปราศจากแคลอรี่ และไม่มีผลกระทบต่อปริมาณน้ำตาลในร่างกาย เพราะเมื่อรับประทาน ร่างกายสามารถขับออกมาได้ทันทีไม่มีการสะสม จึงเหมาะกับผู้ที่ใส่ใจสุขภาพ ผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก และผู้ที่เป็นเบาหวาน ที่ยังต้องการรสหวานในอาหารและเครื่องดื่ม 
รูปแบบของหญ้าหวานที่คนนิยมรับประทานกันมี 2 แบบคือ นำใบหญ้าหวานมาผสมกับสมุนไพรอื่นๆ เพื่อเติมรสหวานเป็นชาสมุนไพร ยาชงสมุนไพรต่างๆ หรืออาจใช้ในรูปของสารสกัดจากหญ้าหวานเป็นผงสำเร็จรูปบรรจุซองสำหรับเติมลงในชา กาแฟ หรืออาหารต่างๆ

มารู้จักกับพืชและสารสกัดจากหญ้าหวานกันเถอะ 
หญ้าหวานมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Stevia Rebaudiana Bertoni หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า Stevia อยู่ในวงศ์ Asteraceae (Compositae) มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ตามแนวพรมแดนระหว่างประเทศบราซิลและปารากวัย ซึ่งชาวปารากวัยมีการใช้ใบหญ้าหวานผสมกับชาดื่มมานานกว่า 1500 ปีแล้ว หญ้าหวานชอบอากาศค่อนข้างเย็น อุณหภูมิประมาณ 20 - 26 องศาเซลเซียส และขึ้นได้ดีเมื่อปลูกในพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 600 - 700 เมตร มีการนำมาปลูกในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2518 โดยพื้นที่ปลูกที่เหมาะสมคือทางภาคเหนือ และบริเวณเขาใหญ่ หญ้าหวานเป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็กสูงประมาณ 30 - 90 เซนติเมตร ใบเดี่ยว รูปใบหอกกลับ ขอบใบหยัก มีดอกช่อสีขาว ลักษณะคล้ายต้นโหระพา หากมีการปลูกไว้ในบริเวณบ้านเป็นพืชผักสวนครัวจะมีประโยชน์มาก เพราะใบสดหรือตากแห้งต้มกับน้ำก็จะให้สารหวานใช้ปรุงอาหารและเครื่องดื่มได้อย่างดี ขอแนะนำให้หาพันธ์มาปลูกกันเถอะ 
 
นอกจากนี้มีงานวิจัยพบว่ากากหญ้าหวานที่ผ่านการสกัดสารหวาน(ที่พัฒนาเป็นผงแห้งบรรจุซองสำหรับเติมลงในชา กาแฟ หรืออาหาร) ยังคงมีความหวาน สามารถใช้ทดแทนน้ำตาลในการให้ความหวานในเครื่องดื่มชาชงได้ ซึ่งบรรจุเป็นถุงสำเร็จพร้อมชงดื่มได้ทุกช่วงเวลา ดื่มได้ง่าย ช่วยดับกระหาย จากการประเมินความพึงพอใจผลิตภัณฑ์จากกากหญ้าหวาน ผสมอัญชัน มะลิ กระเจี๊ยบแดง และเตยหอม พบว่าชากากหญ้าหวานผสมมะลิซึ่งประกอบด้วยกากหญ้าหวาน 250 มิลลิกรัม และ มะลิ 80 มิลลิกรัม เป็นสูตรที่มีสี กลิ่น และรสชาติเป็นที่น่าพึงพอใจที่สุด ซึ่งการพัฒนาหาสูตรผสมที่ถูกใจเฉพาะบุคคลก็ทำได้ง่าย ลองทำดูนะคะ 
สำหรับสารสกัดจากหญ้าหวานจะนำเสนอต่อไป

 

แหล่งอ้างอิง/ที่มา
  1. Cradello HM., Silva MD. And Damasio MH. Measurement of the relative sweetness of stevia extract, aspartame and cyclamate/saccharin blend as compared to sucrose at different concentrations. Plant Foods for Human Nutrition. 1999; 54:119-130.
  2. Goyal SK., Samsher. andGoyal RK. Stevia (Stevia rebaudiana) a bio-sweetener: a review. International Journal of Food Sciences and Nutrition. 2010;61(1):1-10.
  3. Kroyer G. Stevioside and Stevia-sweetener in food: application, stability and interaction with food ingredients. J.Verbr.Lebensm. 2010;5:225-229.
  4. Rajab R., Mohankumar C., Murugan K., Harish M. and Mohanan PV. Purification and toxicity studies of stevioside from Stevia rebaudianaBertoni.Article. 2009;16(1):49-54.
  5. วิภา วชิรตรีรัตน์, เอมวิกา วงษ์ฟูเกียรติ. การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากกากหญ้าหวาน [โครงการพิเศษปริญญาเภสัชศาสตรบัณทิต]. กรุงเทพฯ: คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล; 2554.


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


22 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้