เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน


ประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักในโรคกระดูกพรุน
ด้วยตนเอง กับเครื่องมือ “แฟร็กซ์ (FRAX®)”


รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์
ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก : http://drhoffman.com/wp-content/uploads/2018/04/is_osteoporosiship_top.jpg
อ่านแล้ว 22,040 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 30/11/2561
อ่านล่าสุด 10 ช.ม.ที่แล้ว
https://tinyurl.com/yakrdmaq
Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ https://tinyurl.com/yakrdmaq
 


โรคกระดูกพรุน (osteoporosis) เป็นความผิดปกติเกี่ยวกับลักษณะโครงสร้างของกระดูกที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีความพรุนมากขึ้น ความแข็งแรงและคุณภาพของกระดูกลดลง ความหนาแน่นแร่ธาตุในกระดูก (bone mineral density หรือ BMD) ลดลงอย่างมาก สิ่งแสดงออกทางคลินิกที่สำคัญคือกระดูกหัก โดยเฉพาะการหักที่กระดูกสันหลัง (vertebral fracture) และการหักที่กระดูกสะโพก (hip fracture) แม้ว่าอาจพบการหักของกระดูกที่อื่นได้ด้วย โรคกระดูกพรุนพบมากในผู้หญิงวัยหมดระดู องค์การอนามัยโลก (WHO) พิจารณาความผิดปกติของกระดูกที่จะนำไปสู่โรคกระดูกพรุนจากค่าความหนาแน่นแร่ธาตุในกระดูกที่วัดด้วยเครื่อง dual-energy X-ray absorptiometry (DXA) โดยอาศัยตัวชี้วัดคือค่า T-score ซึ่งตัวเลขที่ระบุนั้นเป็นค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน (standard deviation หรือ SD) ที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของคนวัยสาวที่เป็นชาวผิวขาว (ตาม WHO-1 ปี ค.ศ.1994) หากความหนาแน่นแร่ธาตุในกระดูกต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเกินกว่า 2.5 SD (หรือค่า T-score ต่ำกว่า –2.5) ถือว่าเป็นโรคกระดูกพรุน ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหัก อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักไม่ได้ขึ้นอยู่กับค่าหนาแน่นแร่ธาตุในกระดูกเพียงอย่างเดียวเนื่องจากยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นร่วมด้วย ด้วยเหตุนี้ในการคำนวณหาค่าความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักด้วยเครื่องมือ "แฟร็กซ์ (FRAX®)" จึงนำปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ต่อการเกิดกระดูกหักรวมถึงน้ำหนักตัวและส่วนสูงจึงนำมาใช้ในการคำนวณด้วย



ภาพจาก : http://www.belltownchiro.com/images/easyblog_articles/60/b2ap3_large_Osteoporosis.jpg

FRAX® (Fracture Risk Assessment Tool) คืออะไร? "แฟร็กซ์ (FRAX®)" เป็นเครื่องมือที่ใช้สำหรับประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักที่สะโพกหรือกระดูกที่ตำแหน่งสำคัญ (ได้แก่ กระดูกสันหลังหักที่มีอาการทางคลินิก กระดูกสะโพก กระดูกต้นแขน และกระดูกแขน) ในระยะเวลาอีก 10 ปีข้างหน้า เครื่องมือนี้พัฒนาขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 2008 โดยมหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ (University of Sheffield) ในสหราชอาณาจักร โดยอาศัยข้อมูลจากฐานข้อมูลของหน่วยงานภายใต้องค์การอนามัยโลก คือ WHO Collaborating Centre for Metabolic Bone Diseases ช่วงปี ค.ศ. 1991-2010 ข้อมูลดังกล่าวได้มาจากการศึกษาแบบ cohort ในหลายประเทศทั้งจากทวีปยุโรป อเมริกาเหนือ เอเชียและออสเตรเลีย ในการคำนวณความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักจะอาศัยข้อมูลส่วนตัวของแต่ละคน รวมถึงปัจจัยเสี่ยงทางคลินิกและความหนาแน่นแร่ธาตุในกระดูก (กรณีที่ทราบ) ของกระดูกคอสะโพก (femoral neck) ข้อมูลส่วนตัว ได้แก่ อายุ เพศ น้ำหนัก ส่วนสูง (ใช้คำนวณค่าดัชนีมวลกาย หรือ body mass index หรือ BMI ได้) ประวัติการเกิดกระดูกหักของตนเองและของบิดามารดา การสูบบุหรี่ การได้รับยาในกลุ่มกลูโคคอร์ติคอยด์ การดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น

เครื่องมือ "แฟร็กซ์ (FRAX®)" มีประโยชน์อย่างไร?

การเกิดโรคกระดูกพรุนและกระดูกหักส่งผลกระทบสูงทั้งด้านคุณภาพชีวิตและด้านเศรษฐศาสตร์เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ด้วยเหตุนี้จึงควรป้องกันไว้ก่อน การตรวจวัดค่าความหนาแน่นแร่ธาตุในกระดูกเพื่อคัดกรองผู้มีความเสี่ยงนั้นแม้เป็นวิธีที่ดี แต่มีความยุ่งยาก เสียค่าใช้จ่ายมาก และไม่สะดวก ด้วยเหตุนี้จึงมีการนำเครื่องมืออื่นมาช่วยในการประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักด้วย ซึ่งรวมถึงเครื่องมือ "แฟร็กซ์ (FRAX®)" เครื่องมือนี้มีใช้มาประมาณ 10 ปีแล้ว เป็นที่นิยมมากเนื่องจากมีความสะดวก สามารถเข้าใช้งานได้ตลอดเวลาและไม่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย ช่วยให้ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักได้มีเวลาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นปัจจัยเสี่ยง หรือหากมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดกระดูกหักควรพบแพทย์เพื่อได้รับการรักษาที่เหมาะสม ปัจจุบันในแนวทางการรักษา (guidelines) โรคกระดูกพรุนของหลายองค์กรได้นำผลการคำนวณความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักจากเครื่องมือ "แฟร็กซ์ (FRAX®)" มาใช้ประกอบกันกับค่าความหนาแน่นแร่ธาตุในกระดูกในการพิจารณาให้การรักษาด้วยยา เช่น แนะนำว่าผู้ที่มีค่าความหนาแน่นแร่ธาตุในกระดูกที่อยู่ในเกณฑ์กระดูกบาง (osteopenia) ควรได้รับการรักษาหากผลการคำนวณด้วยเครื่องมือ "แฟร็กซ์ (FRAX®)" มีค่าความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักในระยะเวลาอีก 10 ปี กรณีกระดูกหักที่ตำแหน่งสำคัญเท่ากับหรือมากกว่า 20% หรือกรณีกระดูกสะโพกหักเท่ากับหรือมากกว่า 3% นอกจากนี้ค่าที่คำนวณด้วยเครื่องมือ "แฟร็กซ์ (FRAX®)" ยังนำมาใช้ประโยชน์ในการจำแนกความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักในผู้ที่ใช้กลูโคคอร์ติคอยด์อีกด้วย

เข้าใช้งานเครื่องมือ "แฟร็กซ์ (FRAX®)" ได้อย่างไร?

สามารถใช้งานโดยผ่านทางเว็บไซต์ได้ที่ https://www.sheffield.ac.uk/FRAX/ โปรแกรมทำขึ้นใช้งานได้หลายภาษา ซึ่งปัจจุบันมีถึง 32 ภาษารวมถึงภาษาไทย เมื่อเข้าสู่โปรแกรมได้แล้ว ให้กรอกข้อมูลดังแสดงในรูป (รูปที่ 1ก) หากขาดข้อมูลบางอย่างแม้แต่ค่าความหนาแน่นแร่ธาตุในกระดูกเครื่องมือดังกล่าวยังสามารถคำนวณความเสี่ยงได้เช่นกันแต่ความแม่นยำจะลดลง นอกจากนี้หากทราบค่า “trabecular bone score (TBS)” ซึ่งค่านี้มีความสัมพันธ์กับลักษณะโครงสร้างของกระดูก (skeletal microarchitecture) ซึ่งจะสะท้อนถึงความแข็งแกร่งของกระดูก (bone strength) และคุณภาพของกระดูก (bone quality) ชนิดที่เป็นกระดูกเนื้อโปร่ง (trabecular bone) สามารถนำมาใช้ปรับปรุงค่าความเสี่ยงที่คำนวณได้ (ในรูปที่ 1ก ตรงที่ระบุว่า “ปรับกับ TBS”) เครื่องมือนี้ใช้ประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิงที่มีอายุ 40-90 ปี ผู้ใช้สามารถระบุให้เครื่องมือคำนวณโอกาสเสี่ยงของการเกิดกระดูกหักโดยใช้ค่าความหนาแน่นแร่ธาตุในกระดูก (กรณีที่ทราบ) หรือคำนวณจากค่าดัชนีมวลกาย ซึ่งมีให้เลือกจำนวนทั้งหมด 8 รายการ (รูปที่ 1ข)



พิมพ์ข้อมูลจากเครื่องมือ "แฟร็กซ์ (FRAX®)" นำไปใช้งานได้หรือไม่?

ผู้ที่ไม่สะดวกในการเข้าใช้งานเครื่องมือ "แฟร็กซ์ (FRAX®)" ทางเว็บไซต์ สามารถดาวน์โหลดข้อมูลในรูปแบบเอกสารแผนภูมิ (paper chart ) ที่เป็นตารางบรรจุข้อมูลที่คำนวณเรียบร้อยแล้ว และพิมพ์ไปใช้งานได้ เอกสารแผนภูมินี้เป็นข้อมูลจำเพาะสำหรับแต่ละประเทศซึ่งขณะนี้มีทั้งหมด 58 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย โดยตารางแสดงความเสี่ยงจะทำแยกไว้สำหรับสองกรณี คือกรณีที่ทราบค่าความหนาแน่นแร่ธาตุในกระดูกคอสะโพกและกรณีที่คำนวณโดยใช้ค่าดัชนีมวลกาย โดยแยกเป็นข้อมูลสำหรับผู้ชายหรือผู้หญิง ผู้ที่ใช้ข้อมูลจากแผนภูมิจะต้องเป็นผู้ที่มีอายุ 50-90 ปี ส่วนปัจจัยเสี่ยงทางคลินิกที่มีผลต่อการเกิดกระดูกหักมีสูงสุดได้ถึง 6 ปัจจัยเสี่ยง (มีรายละเอียดปัจจัยเสี่ยงอธิบายไว้ เปิดเข้าดูได้) ในกรณีที่คำนวณความเสี่ยงเมื่อทราบค่าความหนาแน่นแร่ธาตุในกระดูกนั้น (รูปที่ 2ก) ค่าดัชนีมวลกายจะกำหนดไว้ที่ 24 กิโลกรัม/ตารางเมตร ผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกายต่างจากนี้มากจะทำให้ความแม่นยำในการประเมินความเสี่ยงลดลง ข้อมูลแยกเป็น 9 ตารางตามอายุ โดยเริ่มตั้งแต่ 50 ปี ดังนี้ 50, 55, 60…(ช่วงห่าง 5 ปี) จนถึง 90 ปี (ด้วยเหตุนี้ผู้ที่จะใช้ข้อมูลจึงต้องมีอายุในช่วง 50-90 ปี) ส่วนกรณีที่คำนวณความเสี่ยงโดยใช้ค่าดัชนีมวลกายนั้นผู้ที่ใช้ข้อมูลจากแผนภูมิจะต้องเป็นผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกายในช่วง 15-45 กิโลกรัม/ตารางเมตร (รูปที่ 2ข) ข้อมูลแยกเป็น 9 ตารางตามอายุเช่นเดียวกับที่กล่าวข้างต้น



สรุป

"แฟร็กซ์ (FRAX®)" เป็นเครื่องมือที่ใช้สำหรับประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักที่สะโพกหรือกระดูกที่ตำแหน่งสำคัญ ในระยะเวลาอีก 10 ปีข้างหน้า เครื่องมือนี้มีใช้มานานแล้ว เป็นที่นิยมมาก เนื่องจากมีความสะดวกที่สามารถเข้าใช้งานได้ตลอดเวลาและไม่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย จึงเป็นประโยชน์ให้ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักได้มีเวลาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นปัจจัยเสี่ยง ในการคำนวณความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักจะอาศัยข้อมูลส่วนตัวของแต่ละคน ปัจจัยเสี่ยงทางคลินิก และความหนาแน่นแร่ธาตุของกระดูกคอสะโพก (ในกรณีที่ทราบ) ปัจจุบันในแนวทางการรักษา (guidelines) โรคกระดูกพรุนของหลายองค์กรได้นำผลการคำนวณความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักจากเครื่องมือ "แฟร็กซ์ (FRAX®)" มาใช้ประกอบกันกับค่าความหนาแน่นแร่ธาตุในกระดูกในการพิจารณาให้การรักษาด้วยยา อย่างไรก็ตาม เครื่องมือนี้ยังมีข้อจำกัดบางอย่างที่ต้องปรับปรุงเพื่อเพิ่มความแม่นยำในการพยากรณ์ความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักให้มากขึ้น ดังเช่นปัจจุบันได้นำค่า “trabecular bone score” มาใช้ในการปรับปรุงค่าความเสี่ยงที่คำนวณได้

เอกสารอ้างอิง
  1. นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์. “FRAX® เครื่องมือประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหัก” กับการใช้ประโยชน์ในโรคกระดูกพรุน. สารคลังข้อมูลยา 2560; 19(4):22-29.
  2. FRAX® Fracture Risk Assessment Tool. https://www.sheffield.ac.uk/FRAX/. Accessed: November 2018.
  3. World Health Organization – WHO criteria for diagnosis of osteoporosis. http://www.4bonehealth.org/education/world-health-organization-criteria-diagnosis-osteoporosis/. Accessed: July 2018.
  4. Sözen T, ÖzıŞık L, BaŞaran NÇ. An overview and management of osteoporosis. Eur J Rheumatol 2017; 4:46-56.
  5. National Osteoporosis Guideline Group. NOGG 2017: Clinical guideline for the prevention and treatment of osteoporosis. https://www.sheffield.ac.uk/NOGG/NOGG%20Guideline%202017.pdf. Accessed: June 2018.
เปิดอ่านด้วย Google Doc Viewer ดาวน์โหลดบทความ (pdf) ดูบทความอื่นๆ

บทความที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทความนี้


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด



อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้