เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

ผลงานวิจัยเพื่อสังคม


ตำรับยาสมุนไพรวัดคำประมง...จากภูมิปัญญาสู่งานวิจัย


รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ.นพมาศ สุนทรเจริญนนท์ ภาควิชาเภสัชวินิจฉัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
https://tinyurl.com/y758zxz8
Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
อ่านแล้ว 52,717 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 2015-09-18 00:00:00
อ่านล่าสุด 10 ช.ม.ที่แล้ว

ยาไทยเป็นภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษได้สั่งสมมาเป็นเวลานาน มีการใช้ ลองผิด ลองถูก กันมา จนมีการบันทึกในตำรายา แต่ถ้ายาไทยไม่ได้รับการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นองค์ความรู้ด้านสรรพคุณ รูปแบบของยา และคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ยาไทยคงจะไม่มีใครใช้ เมื่อนั้นยาไทยก็จะสูญหายไปจากสังคมไทย การที่คนไทยหันมาใช้ยาไทย จะทำให้ประเทศชาติไม่ต้องขาดดุลทางการค้า และเป็นการดำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรม ซึ่งเป็นการประยุกต์ใช้เศรษฐกิจแบบพอเพียง และในอนาคตถ้ามีการวิจัยแล้วพบว่ายาไทยมีสรรพคุณที่สามารถจะรักษาโรคใหม่ ๆ หรือโรคที่พบในปัจจุบัน จะเป็นการสร้างมูลค่ามหาศาลให้กับยาไทย เช่น โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โรคเอดส์ และไข้หวัดนก เป็นต้น



โรคมะเร็งเป็นปัญหาหลักทางสาธารณสุขที่สำคัญอันหนึ่งของโลก ในปัจจุบันพบว่า 13% ของคนที่ตายมาจากโรคมะเร็ง ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้คาดการณ์ไว้ว่าภายในปี 2563 จะมีจำนวนคนตายด้วยโรคมะเร็งประมาณ 11 ล้านคนทั่วโลก และในจำนวนนี้ประมาณ 7 ล้านคน จะเกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งการรักษามะเร็งตามหลักของสากลที่ปฏิบัติในประเทศไทยคือ ศัลยกรรม รังสีรักษา และเคมีบำบัด จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า การใช้วิธีรักษามะเร็งทั้ง 3 วิธี ทั้งแบบเดี่ยว และผสมผสาน ผลของการรักษานั้นไม่แน่นอน มีมะเร็งหลายชนิดไม่สามารถรักษาให้หายด้วยวิธีดังกล่าว และบางวิธีก็เกิดผลเสียต่อร่างกายผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น จากผลข้างเคียงและการรักษาที่ไม่ประสบผลสำเร็จตามแบบแผนของตะวันตก ทำให้การรักษาโรคมะเร็งในปัจจุบันจึงมีรูปแบบที่หลากหลาย เกิดการรักษาแบบแพทย์ทางเลือกเกิดขึ้น สมุนไพรนับว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่มีการใช้ในการรักษาแบบแพทย์ทางเลือกและเป็นแนวทางหนึ่งที่มีรายงานว่าประสบผลสำเร็จในการรักษา มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ตีพิมพ์เผยแพร่จำนวนมาก



ในประเทศไทยนั้นวัดคำประมงเป็นสถานที่หนึ่งที่มีการรักษาผู้ป่วยมะเร็งด้วยสมุนไพรและมีรายงานว่าประสบผลสำเร็จในการรักษา โดยสมุนไพรจะถูกนำมาประกอบเป็น ตำรับยารักษามะเร็งสูตรวัดคำประมง ซึ่งมีทั้งหมด 2 สูตร คือ สูตรยอดยาแก้มะเร็งทุกชนิด และสูตรยาสมุนไพรสมานฉันท์ ซึ่งสูตรยาสมุนไพรนี้ได้คิดค้นนำมาใช้รักษามะเร็งโดยหลวงตาปพนพัชร์ ภิบาลพักตร์นิธี เจ้าอาวาสวัดคำประมง ผู้ก่อตั้งอโรคยศาล ซึ่งท่านเคยอาพาธด้วยโรคมะเร็งหลังโพรงจมูก เมื่อ พ.ศ. 2539 สูตรตำรับนี้ได้รักษาผู้ป่วยตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยมะเร็งขั้นสุดท้าย และผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการดีขึ้น สำหรับสูตรยอดยาแก้มะเร็งทุกชนิด ประกอบด้วยสมุนไพรหลากหลายชนิด เช่น ทองพันชั่ง เหงือกปลาหมอ ข้าวเย็นใต้ ข้าวเย็นเหนือ และสมุนไพรอื่น ๆ



ทางสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติเล็งเห็นความสำคัญของภูมิปัญญา จึงได้สนับสนุนทุนวิจัยให้คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศึกษาวิจัยและพัฒนาสูตรตำรับยาต้านมะเร็งวัดคำประมง ซึ่งเป็นตำรับยาสูตรที่ 1 (สูตรยอดยาแก้มะเร็งทุกชนิด) โดยเตรียมเป็นสารสกัดที่มีการวิเคราะห์คุณภาพ พร้อมทั้งเครื่องยาซึ่งเป็นวัตถุดิบ และพิสูจน์ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาทั้งในหลอดทดลองและสัตว์ทดลองในการป้องกันและยับยั้งเซลล์มะเร็ง เพื่อเป็นข้อมูลในการจะนำไปศึกษาในคนต่อไป และเป็นข้อมูลสำหรับการวิจัยต่อยอดในการศึกษาพัฒนารูปแบบยาที่รับประทานได้ง่ายขึ้น พกพาสะดวก นอกจากนี้ยังจะเป็นข้อมูลในการสนับสนุนการใช้สูตรตำรับยาต้านมะเร็งวัดคำประมง ในสถานบริการทางสาธารณสุขต่อไป



ผลการวิจัยและพัฒนาเครื่องยา การเตรียมสารสกัด และการควบคุมคุณภาพของเครื่องยาและสารสกัด โดยใช้วิธี chromatographic fingerprints และวิธีตามข้อกำหนดของเภสัชตำรับ (Pharmacopoeia)  ตรวจสอบการปนเปื้อนจุลชีพ สารตกค้างจากยาฆ่าแมลง โลหะหนัก ผลการวิเคราะห์คุณภาพของเครื่องยาตามข้อกำหนดในเภสัชตำรับพบว่า เครื่องยาส่วนใหญ่มีคุณภาพดีระดับหนึ่ง และผลการเตรียมสารสกัดน้ำของตำรับ พบว่ามีปริมาณเท่ากับ 3.75% w/w (เทียบกับน้ำหนักของวัตถุดิบ)  สารสกัดนี้ประกอบด้วยสารกลุ่มน้ำตาลเชิงซ้อน (polysaccharides) 3.78% และสารประกอบอื่น นอกจากนี้สารสกัดน้ำนี้ไม่พบการปนเปื้อนของจุลชีพ โลหะหนัก และสารอะฟลาทอกซิน ซึ่งอาจจะก่อเกิดพิษได้



ส่วนผลการศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของตำรับยาต้านมะเร็งสูตรวัดคำประมง ได้แก่ ฤทธิ์ฆ่าและฤทธิ์ต้านการเจริญของเซลล์มะเร็งเพาะเลี้ยง รวมถึงฤทธิ์ต้านการกระตุ้นการเจริญของเนื้องอกในสัตว์ทดลอง พบว่า สารสกัดยาต้านมะเร็งสูตรนี้สามารถยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งหลายชนิด ได้แก่ เซลล์มะเร็งเต้านม (MDA-MB-231, MCF7) เซลล์มะเร็งไขข้อ (SW982) เซลล์มะเร็งตับ (HepG2) เซลล์มะเร็งปากมดลูก (HeLa) และเซลล์มะเร็งปอด (A549)  สารสกัดที่ความเข้มข้นน้อยกว่า 500 mg/ml และมีฤทธิ์ต้านการเจริญของเซลล์มะเร็ง MDA-MB-231 ได้สูงที่สุดตามด้วย SW628 > MCF7, HepG2, HeLa และ A549  ทั้งนี้สารสกัดนี้ไม่สามารถยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งรังไข่ (SKOV3) ได้ แต่กลับกระตุ้นการเจริญของเซลล์มะเร็งลำไส้ (SW620)  สารสกัดในปริมาณสูงสุดที่ 2,000 mg/ml สามารถยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็ง SW982 ได้ทั้งหมด รองลงมาคือ HeLa, HepG2, MCF7 และ MDA-MB-231 ตามลำดับ  สารสกัดตำรับยานี้ออกฤทธิ์ฆ่าเซลล์มะเร็งไขข้อ SW982 ได้ดีที่สุด รองลงมาคือเซลล์มะเร็งเต้านม MDA-MB-231 



ส่วนฤทธิ์ต้านการกระตุ้นการเจริญของเนื้องอกทำการศึกษาโดยใช้แบบจำลองมะเร็งสามชนิด ได้แก่
1) แบบจำลองการกระตุ้นเนื้องอกบนผิวหนังของหนูถีบจักร โดยการทาผิวหนังหนูด้วยสาร 7,12 dimethylbenz(a)anthracene (DMBA) ครั้งเดียว และตามด้วยการทา 12-O-tetradecanoyl phorbol-13 acetate (TPA)  
2) การเหนี่ยวนำให้เกิดเนื้องอกในลำไส้โดยใช้สาร 1,2-dimethylhydrazine (DMH) และ 3) การเหนี่ยวนำมะเร็งตับระยะส่งเสริมในหนูด้วยไดเอธิลไนโตรซามีน (DEN)



ผลการศึกษาพบว่า สารสกัดตำรับยาต้านมะเร็งสูตรนี้สามารถยับยั้งการเกิดเนื้องอกจากการเหนี่ยวนำด้วยสารเคมีได้ 



สรุปงานวิจัยนี้ได้ควบคุมคุณภาพของเครื่องยาสมุนไพรและสารสกัดน้ำตำรับยาต้านมะเร็งวัดคำประมง พร้อมทั้งวิเคราะห์คุณภาพทั้งเชิงปริมาณ และคุณภาพของสารสกัด และพิสูจน์ฤทธิ์ต้านมะเร็งทั้งในหลอดทดลองและในสัตว์ทดลอง ซึ่งถือได้ว่าเป็นอีกขั้นหนึ่งของการพัฒนาตำรับยาสมุนไพร เพื่อนำมาใช้เป็นประโยชน์ในทางการแพทย์เป็นยารักษาโรคที่มีการพิสูจน์ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา และความปลอดภัย เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการวิจัยต่อยอดในการศึกษาวิจัยในคน และการศึกษาพัฒนารูปแบบยาที่รับประทานได้ง่ายขึ้น พกพาสะดวก นอกจากนี้ยังจะเป็นข้อมูลในการสนับสนุนการใช้สูตรตำรับยาต้านมะเร็งวัดคำประมง ในสถานบริการทางสาธารณสุขต่อไป งานวิจัยนี้ถือได้ว่าเป็นการนำทรัพยากรธรรมชาติที่มีภายในประเทศ มาทดแทนผลิตภัณฑ์ยาจากต่างประเทศ เป็นการลดการขาดดุลทางการค้าและเป็นการพึ่งตนเองของประเทศชาติ



เอกสารอ้างอิง

  • เพชรินทร์ ศรีวัฒนกุล  ลักขณา นาคา.  ผลของการใช้รากเหงือกปลาหมอในการรักษาลิวคีเมียในหนู.  วารสารโรคมะเร็ง 2524; 7(3): 89-93.
  • Albini A, Iwamoto Y, Kleinman HK, Martin GR, Aaronson SA, Kozlowski JM, et al.  A rapid in vitro assay for quantitating the invasive potential of tumor cells. Cancer Res1987; 47: 3239-45.
  • Babu BH, Shylesh BS, Padikkala J.  Tumour reducing and anticarcinogenic activity of Acanthus ilicifolius in mice.  J Ethnopharmacol 2002; 79: 27-33.
  • Berenblum I, Shubik P.  A new quantitative approach to the study of the stages of chemical carcinogenesis in the mouse’s Skin.  Br J Cancer 1947; 1: 383-91.
  • Fricker SP, Buckley RG.  Comparison of two colorimetric assays as cytotoxicity endpoints for an in vitro screen for antitumour agents.  Anticancer Res 1996; 16: 3755-60.
  • Iddamaldeniya SS, MI Thabrew MI, Wickramasinghe SMDN, Ratnatunge N, Thammitiyagodage MG.  A long-term investigation of the anti-hepatocarcinogenic potential of an indigenous medicine comprised of Nigella sativa, Hemidesmus indicus and Smilax glabra.  J Carcinogenesis 2006; 5: 11.
  • Itharat A, Houghton PJ, Eno-Amooquaye E, Burke PJ, Sampson JH, Raman A.  In vitro cytotoxic activity of Thai medicinal plants used traditionally to treat cancer.  J Ethnopharmacol 2004; 90: 33-8.
  • Itharat A.  Cytotoxic and antioxidant activities of Thai medicinal plants for cancer treatment.  Planta Med 2008; 74(9): PA 236.  7th Joint Meeting of GA, AFERP, ASP, PSE & SIF Athens, Greece August 3–8, 2008.
  • Kumara KTMS, Goraina B, Roya DK, Zothanpuia, Samanta SK, Pal M, et al.  Anti-inflammatory activity of Acanthus ilicifolius.  J Ethnopharmacol 2008; 120: 7-12.
  • Kupradinun P, Siripong P, Senapeng B.  Effect of Acanthus ebractaetus Vahl. on DMBA-induced mammary neoplasm in the rats.  6th National Cancer Conference, Bangkok, Dec 3-4, 2001.
  • Manju V, Nalini N.  Chemopreventive potential of luteolin during colon carcinogenesis induced by 1,2-dimethylhydrazine.  Ital J Biochem 2005; 54(3-4): 268-75.
  • Ngamkitidechakul C, Warejcka DJ, Burke JM, O`Brien WJ, Twining SS.  Sufficiency of the reactive site loop of maspin for induction of cell-matrix adhesion and inhibition of cell invasion: Conversion of ovalbumin to a maspin-like molecule.  J Biol Chem 2003; 278: 31796-806.
  • Ooi LSM, Wong EYL, Chiu LCM, Samuel S.M. Sun SSM, Ooi VEC.  Antiviral and anti-proliferative glycoproteins from the rhizome of Smilax glabra Roxb (Liliaceae).  The Am J Chinese Med 2008; 36(1): 185-95.
  • Rubinstein LV, Shoemaker RH, Paul KD, Simon RM, Tosini S, Skehan P, et al.  Comparison of in vitro anticancer-drug-screening data generated with a tetrazolium assay versus a protein assay against a diverse panel of human tumor cell linesJ Natl Cancer Inst 1990; 82(13): 1113-8.
  • Thabrewa MI, Mitryb RR, Morsyb MA, Hughes RD.  Cytotoxic effects of a decoction of Nigella sativa, Hemidesmus indicus and Smilax glabra on human hepatoma HepG2 cells.  Life Sci 2005; 77: 1319-30.
  • Thirumurugan SR, Kavimani S, Srivastava RS.  Antitumour activity of rhinacanthone against Dalton’s ascitic lymphoma.  Biol Pharm Bull 2000; 23(12): 1438-40.
  • Ueda JY, Tezuka Y, Banskota AH, Le Tran Q, Tran QK, Harimaya Y, et al.  Antiproliferative activity of Vietnamese medicinal plants.  Biol Pharm Bull 2002; 25(6): 753-60.
  • Yi Y, Cao Z, Yang D, Cao Y, Wu Y, Zhao S.  Studies on chemical constituents of Smilax glabra Roxb.  Yaoxue Xuebao 1998; 33(11): 873-5.

 



บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


เมอร์ส (MERS-CoV) : ไวรัสมรณะ 3 วินาทีที่แล้ว
5 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้