เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

ผลงานวิจัยเพื่อสังคม


ตำรับยาเหลืองปิดสมุทร (ยาแก้ท้องเสีย)…จากภูมิปัญญาสู่งานวิจัย


Sireeratawong S, Khonsung P, Nanna U, Vannasiri S, Lertprasertsuke N, Singhalak T, Soonthornchareonnon N, Jaijoy K. Anti-diarrheal activity and toxicity of Learng pid samud recipe. Afr J Tradit Complement Altern Med 2012; 9(4): 519-29.
https://tinyurl.com/yban9wud
Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
อ่านแล้ว 68,677 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 2013-07-26 16:40:00
อ่านล่าสุด 2 ช.ม.ที่แล้ว

โดย รองศาสตราจารย์ ดร. นพมาศ สุนทรเจริญนนท์ 
ภาควิชาเภสัชวินิจฉัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ตำรับยาเหลืองปิดสมุทร เป็นตำรับยาในยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ1 และบัญชียาหลักแห่งชาติ (บัญชียาจากสมุนไพร พ.ศ. 2555)  กลุ่มบัญชียาจากสมุนไพรที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม โดยเป็นยารักษากลุ่มอาการทางระบบทางเดินอาหาร ยาแก้ท้องเสีย2  ในรูปแบบ ยาแคปซูล ยาผง ยาเม็ด

สูตรตำรับ ในผงยา 90 กรัม ประกอบด้วย เครื่องยา 13 ชนิด

1. เหง้าขมิ้นชัน หนัก 30 กรัม

2. ชันย้อย ครั่ง สีเสียดเทศ เปลือกสีเสียดไทย ใบเทียน ใบทับทิม หัวแห้วหมู เหง้าขมิ้นอ้อย เปลือกเพกา รากกล้วยตีบ หัวกระเทียมคั่ว ดอกดีปลี หนักสิ่งละ 5 กรัม (ตำรับยาเหลืองปิดสมุทรของโรงเรียนแพทย์อายุรเวทของนายแพทย์อวย เกตุสิงห์ จะมี เบญกานี เป็นเครื่องยาเพิ่มขึ้นอีก)

ข้อบ่งใช้ บรรเทาอาการท้องเสียชนิดที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น อุจจาระไม่เป็นมูก หรือมีเลือดปนและท้องเสียชนิดที่ไม่มีไข้

ขนาดและวิธีใช้ ชนิดผงและชนิดเม็ด

ผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 1 กรัม ละลายน้ำกระสายยา ทุก 3 – 5 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ

เด็ก รับประทานครั้งละ 200 มิลลิกรัม – 1 กรัม (ขึ้นกับอายุ)

น้ำกระสายยาที่ใช้

- ใช้น้ำเปลือกลูกทับทิมหรือเปลือกแคต้ม แทรกกับน้ำปูนใสเป็นน้ำกระสายยา สำหรับเด็กเล็กให้บดผสมกับน้ำกระสายยา ใช้รับประทานหรือกวาดก็ได้

- ถ้าหาน้ำกระสายยาไม่ได้ ให้ใช้น้ำสุกแทน

ข้อควรระวัง ใช้ไม่เกิน 1 วัน หากอาการไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์

 

จะเห็นได้ว่าตำรับยาเหลืองปิดสมุทรเป็นอีกตำรับของภูมิปัญญาไทยที่มีการใช้มานานหลายศตวรรษ แต่ยังไม่มีการพิสูจน์สรรพคุณอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ของทั้งตำรับ แต่ถ้าพิจารณาข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ของเครื่องยาแต่ละชนิดจะเห็นได้ว่า เครื่องยาดังกล่าวมีข้อมูลที่สนับสนุนสรรพคุณในการรักษาอาการท้องเสีย โดยพบว่าเครื่องยาดังกล่าวที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพที่ก่อเกิดอาการท้องเสีย และลดการบีบตัวของลำไส้ ได้แก่ กระเทียม (สารสำคัญคือ allicin, ajoene และ diallyl trisulfide3,4), ขมิ้นชัน (สารสำคัญคือ สารกลุ่ม curcuminoids5), ขมิ้นอ้อย (สารสำคัญคือ น้ำมันหอมระเหย6,7), ดีปลี8,  ทับทิม (สารสำคัญคือ สารกลุ่ม tannins9-12), เพกา (สารสำคัญคือ chrysin, oroxylin A และ lapachol13-15), สีเสียดไทย (สารสำคัญคือ สารกลุ่ม tannins16-19), สีเสียดเทศ (สารสำคัญคือ สารกลุ่ม tannins20-25) หญ้าแห้วหมู26, เบญกานี20,24,25,27,28

 

ถึงแม้ว่าจะมีข้อมูลงานวิจัยสนับสนุนเครื่องยาแต่ละชนิด แต่งานวิจัยของทั้งตำรับยาเหลืองปิดสมุทรยังไม่เคยมีการศึกษามาก่อน ในปี 2549 สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติได้สนับสนุนทุนวิจัยแก่ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในโครงการบูรณาการ “การพัฒนาตำรับแผนโบราณเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน(ต่อเนื่อง) ปี 2549” ซึ่งประกอบด้วยโครงการวิจัยและพัฒนาตำรับยาเหลืองปิดสมุทร 4 โครงการย่อย คือ การวิจัยและพัฒนาสารสกัดมาตรฐานของตำรับยาเหลืองปิดสมุทร การศึกษาฤทธิ์ฆ่าเชื้อก่อเกิดโรคอุจจาระร่วง ฤทธิ์ยับยั้งอาการท้องเสียในสัตว์ทดลอง และความเป็นพิษเฉียบพลันและพิษกึ่งเรื้อรังของตำรับยาเหลืองปิดสมุทรในหนูขาว29,30 ซึ่งผลการศึกษาฤทธิ์ฆ่าเชื้อก่อเกิดโรคอุจจาระร่วงของสารสกัดตำรับยาเหลืองปิดสมุทร และเครื่องยาในตำรับยาเหลืองปิดสมุทร ต่อเชื้อแบคทีเรียสายพันธุ์มาตรฐาน คือ Bacillus cereus ATCC 14579, Escherichia coli ATCC 25922, Salmonella typhimurium ATCC 11331, Shigella flexneri DMSC 1130, Staphylococcus aureus ATCC 25923, Vibrio parahaemolyticus DMST 5665 และแบคทีเรียที่แยกได้จากอาหาร พบว่า สารสกัดตำรับยาเหลืองปิดสมุทร มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อเชื้อแบคทีเรียทดสอบได้ดีกว่าเครื่องยาเดี่ยว ๆ ทั้งนี้สารสกัดน้ำของตำรับยาสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียทดสอบได้ดีกว่าส่วนสารสกัดแอลกอฮอล์ของตำรับยา  และผลการศึกษาฤทธิ์ยับยั้งอาการท้องเสียในสัตว์ทดลอง และหลอดทดลองพบว่า สารสกัดตำรับยาเหลืองปิดสมุทรขนาด 0.25, 0.5 และ 1 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร มีฤทธิ์ยับยั้งกล้ามเนื้อเรียบของลำไส้เล็กหนูตะเภา ที่กระตุ้นด้วยสาร acetylcholine ในการทดลองในหลอดทดลอง  ส่วนการทดลองในหนูถีบจักรพบว่าสารสกัดขนาด 1,000, 2,000 และ 4,000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม มีฤทธิ์ลดอาการท้องเสียที่เกิดจากการป้อนน้ำมันละหุ่ง  และผลการศึกษาความเป็นพิษเฉียบพลันและพิษกึ่งเรื้อรังในหนูขาว พบว่าไม่พบพิษเฉียบพลัน เมื่อป้อนสารสกัดขนาด 5,000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม  ครั้งเดียว และสังเกตุพฤติกรรมภายใน 14 วัน พบว่าไม่พบความผิดปกติใด ๆ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม และไม่พบความผิดปกติของอวัยวะภายในของหนู  ส่วนการศึกษาความเป็นพิษกึ่งเรื้อรังพบว่า การให้สารสกัดขนาด 1,000, 2.000, และ 4,000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เป็นเวลา 90 วัน และบางกลุ่มที่ศึกษา 118 วัน ไม่พบความผิดปกติของหนูทดลอง ทั้งน้ำหนักตัว ค่าทางโลหิตวิทยา ค่าทางชีวเคมี และพยาธิวิทยา ยกเว้นกลุ่มหนูตัวผู้ที่มีน้ำหนักเพิ่มมากกว่ากลุ่มควบคุม แต่ไม่พบความผิดปกติอื่น ๆ

 

จากข้อมูลการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา และพิษวิทยาของสารสกัดตำรับยาเหลืองปิดสมุทร พบว่าสารสกัดมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่สนับสนุนการใช้ของภูมิปัญญาที่มีมาแต่เดิม คือมีฤทธิ์ยับยั้งอาการท้องเสียได้ และจากข้อมูลการศึกษาในหลอดทดลองที่พบว่าสารสกัดมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อที่ก่อเกิดอาการท้องเสียได้ ฉะนั้นจึงน่าที่จะใช้ในกรณีอาการท้องเสียชนิดที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียได้ แต่ไม่ใช่การติดเชื้อจากเชื้อบิด นอกจากนี้จากงานวิจัยนี้พบว่าสารสกัดตำรับยาเหลืองปิดสมุทรไม่ก่อเกิดพิษเฉียบพลันและกึ่งเรื้อรัง ซึ่งทั้งนี้จะต้องขึ้นกับคุณภาพของเครื่องยาและสารสกัดที่เตรียมได้  ซึ่งโครงการวิจัยและพัฒนาสารสกัดมาตรฐานของตำรับยาเหลืองปิดสมุทร ได้เตรียมสารสกัดมาตรฐานที่เหมาะสมทั้งวิธีการและตัวทำละลาย การควบคุมคุณภาพของเครื่องยาแต่ละชนิด ทั้งทางด้านคุณสมบัติทางกายภาพและทางเคมี โดยศึกษา Thin layer chromatographic fingerprint ของเครื่องยาและสารสกัดในตำรับ รวมทั้งการตรวจสอบการปนเปื้อนจากเชื้อที่ก่อเกิดโรค สารก่อเกิดมะเร็ง ได้แก่ สารอะฟลาทอกซิน (aflatoxin) และสารกำจัดแมลง และศึกษา ultraviolet และ infrared spectroscopic fingerprint ของสารสกัด  งานวิจัยนี้จะเป็นการสร้างมาตรฐานในการผลิตและพิสูจน์สรรพคุณตามหลักวิชาการสากล ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพของตำรับยาเหลืองปิดสมุทร  และสามารถพัฒนารูปแบบยาแผนโบราณให้น่าใช้และสะดวกแก่ผู้บริโภคด้วย  โดยเครื่องยาทั้งหมด ได้รับความร่วมมือจากคณาจารย์โรงเรียนแพทย์อายุรเวช เป็นผู้จัดเตรียม โดยเครื่องยาดังกล่าวเป็นเครื่องยาที่มีการประกอบเป็นตำรับยาเพื่อจ่ายให้กับผู้ป่วยในสถานพยาบาล โรงเรียนแพทย์อายุรเวช โดยตำรับนี้มีการเพิ่มเครื่องยาลูกเบญกานี ทำให้ตำรับนี้จะมีตัวยาจำนวน 14 ชนิด  งานวิจัยนี้ได้ทำการสืบค้นข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ของเครื่องยาทุกชนิด ตรวจสอบชนิดและคุณภาพของเครื่องยา โดยทำตามวิธีของ Thai Herbal Pharmacopoeia 199531 จดบันทึก รูปร่าง ขนาด กลิ่น สี พร้อมทั้งบันทึกภาพ ควบคุมคุณภาพทางกายภาพและทางเคมี ได้แก่ ปริมาณความชื้น ปริมาณเถ้ารวม ปริมาณเถ้าที่ไม่ละลายในกรด ปริมาณสารสกัดได้แก่ ปริมาณสารสกัดเฮกเซน สารสกัดไดคลอโรมีเทน และสารสกัดแอลกอฮอล์ เป็นต้น ตรวจสอบชนิดของกลุ่มสารประกอบทางเคมี (ได้แก่ alkaloids, flavonoids, saponins, terpenoids, tannins เป็นต้น) โดยใช้วิธีของ Professor Farnswort32 ผลการศึกษาวิจัยตรวจสอบคุณภาพของเครื่องยา พบว่าตำรับยาเหลืองปิดสมุทรประกอบด้วยเครื่องยา 14 ชนิด และเครื่องยาที่มีคุณภาพดีมีจำนวน 7 ชนิด คิดเป็น 50% ส่วนที่มีคุณภาพไม่ดีมีจำนวน 7 ชนิดคิดเป็น 50% ซึ่งจากข้อมูลสืบค้นพบว่าเครื่องยาที่มีข้อกำหนดมาตรฐานตามเภสัชตำรับ มีจำนวน 8 ชนิด (ได้แก่ กระเทียม ขมิ้นชัน ขมิ้นอ้อย ครั่ง ดีปลี สีเสียดเทศ สีเสียดไทย และแห้วหมู) และเครื่องยาที่ได้มาตรฐานตามเภสัชตำรับมี 4 ชนิด (ได้แก่ กระเทียม ขมิ้นอ้อย ครั่ง และแห้วหมู) เครื่องยาที่ไม่ได้มาตรฐานตามเภสัชตำรับมี 4 ชนิด (ได้แก่ ขมิ้นชัน ดีปลี สีเสียดเทศ และสีเสียดไทย) ส่วนเครื่องยาที่ไม่มีข้อกำหนดตามเภสัชตำรับ มีจำนวน 6 ชนิด และเป็นเครื่องยาที่มีคุณภาพดี (พิจารณาจากค่าปริมาณความชื้น ไม่เกิน 10% ปริมาณเถ้ารวม ไม่เกิน 10% และปริมาณเถ้าที่ไม่ละลายในกรด ไม่เกิน 2%) มีจำนวน 3 ชนิด (ได้แก่ ทับทิม เทียนกิ่ง และเบญกานี) เครื่องยาที่มีคุณภาพไม่ดีเนื่องจากมีปริมาณเถ้าสูง ได้แก่ ชันย้อย กล้วยตีบ และเพกา นอกจากนี้เครื่องยา 6 ชนิด มีสารกลุ่มแทนนิน ได้แก่ เบญกานี (69.4 %), สีเสียดเทศ (45.1 %), ทับทิม (24.9 %), เทียนกิ่ง (8.6 %), สีเสียดไทย (7.9 %) และกล้วยตีบ (2.0 %)  ซึ่งเบญกานีจะมีสารกลุ่มแทนนินมากที่สุด  และเครื่องยา 4 ชนิด ที่มีน้ำมันหอมระเหย ได้แก่ ขมิ้นชัน (6.9 %)  ขมิ้นอ้อย (2.6 %) ดีปลี (1.0 %) และแห้วหมู (0.8 %)  และสารสกัดตำรับยาเหลืองปิดสมุทรเตรียมได้จากการสกัดต่อเนื่องด้วยตัวทำละลายไม่มีขั้ว มีขั้วกลางๆ และที่มีขั้ว นำสารสกัดที่ได้ทั้งหมดมารวมกันและระเหยแห้ง คิดเป็น 22.6 % ของน้ำหนักเครื่องยาที่เป็นวัตถุดิบ  และทำการควบคุมคุณภาพของสารสกัดตำรับยาเหลืองปิดสมุทร ทำเช่นเดียวกับการควบคุมคุณภาพของเครื่องยา พร้อมทั้งทำเอกลักษณ์ (finger prints) ของสารสกัดได้แก่ ultraviolet spectrum (UV spectrum) fingerprint และ infrared spectrum (IR spectrum) fingerprint33 ผลการศึกษาพบว่าสารสกัดตำรับยาเหลืองปิดสมุทรมีสารกลุ่มแทนนิน 26.9 % w/w, น้ำมันระเหย 6.0 % v/w, ปริมาณสาร total carbohydrate34 33.3% w/w และน้ำตาลชนิด uronic acid35 5.9 % w/w และสารสกัดประกอบด้วยน้ำตาลเชิงเดี่ยว36 เป็น galactose และ glucose เป็นหลัก  ผลการตรวจสอบการปนเปื้อนพบว่า เครื่องยาทุกชนิดและสารสกัดมีการปนเปื้อนเชื้อไม่เกินข้อกำหนดตามเภสัชตำรับ ไม่พบการปนเปื้อนสารกำจัดศัตรูพืช และสารอะฟลาทอกซิน และไม่พบว่ามีตัวทำละลายเฮกเซนและแอลกอฮอล์คงเหลืออยู่

 

โครงการบูรณาการ “การพัฒนาตำรับแผนโบราณเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน(ต่อเนื่อง) ปี 2549” ถือได้ว่าเป็นงานวิจัยชิ้นแรกที่มีการศึกษาอย่างครบวงจรของตำรับยาเหลืองปิดสมุทร คือศึกษาวิจัยและควบคุมคุณภาพของเครื่องยาที่เป็นวัตถุดิบและสารสกัด ศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาในฤทธิ์ที่เกี่ยวข้องกับสรรพคุณของตำรับยาเหลืองปิดสมุทรที่มีการใช้มาแต่ดั้งเดิม และศึกษาพิษวิทยา ซึ่งโครงการบูรณาการนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า สารสกัดมีฤทธิ์ยับยั้งอาการท้องเสียในสัตว์ได้ และมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อที่ก่อเกิดอาการท้องเสียได้ ฉะนั้นจึงน่าที่จะนำมาใช้ในกรณีอาการท้องเสียชนิดที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียได้ แต่ไม่ใช่การติดเชื้อจากเชื้อบิด นอกจากนี้จากงานวิจัยนี้พบว่าสารสกัดตำรับยาเหลืองปิดสมุทรไม่พบการปนเปื้อนสารกำจัดแมลง โลหะหนัก จุลชีพ และสารอะฟลาทอกซิน และไม่พบความเป็นพิษในสัตว์ทดลอง ซึ่งเครื่องยาส่วนใหญ่ที่ได้ศึกษานี้เป็นเครื่องยาที่ยังไม่มีการศึกษาด้านคุณภาพ และไม่มีข้อกำหนดมาตรฐานในเภสัชตำรับของประเทศไทย ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะเป็นข้อมูลเบื้องต้นให้กับอุตสาหกรรมยาไทยที่จะนำไปใช้ในการคัดเลือกเครื่องยา โดยสามารถจะเปรียบเทียบลักษณะภายนอก หรือทำการตรวจสอบคุณภาพตามวิธีของเภสัชตำรับไทย อันจะเป็นการยกระดับคุณภาพของตำรับยาไทย ให้เป็นที่ยอมรับของบุคลากรทางการแพทย์และผู้บริโภค

ดูบทความอื่นๆ
Warning: mssql_free_result(): supplied argument is not a valid MS SQL-result resource in D:\WWWINTER\WEB_INTERNET\TH\service-research-article-info.php on line 675

งานประชุมวิชาการที่กำลังเปิดรับสมัคร


บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


ยาแก้ไอ ... มีกี่แบบ ?? 1 นาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้