เพื่อพัฒนาเว็บไซต์ให้ดียิ่งขึ้น โปรดสละเวลา 1 นาที ในการตอบแบบสอบถามจากเรา Click !!

ผลงานวิจัยเพื่อสังคม


ตำรับยาจันทน์ลีลา... จากภูมิปัญญาสู่งานวิจัย


Seewaboon Sireeratawong S, Khonsung P, Piyabhan P, Nanna U, Soonthornchareonnon N, Jaijoy K. Anti-inflammatory and anti-ulcerogenic activities of Chantaleela recipe. Afr J Tradit Complement Altern Med 2012; 9(4):485-94.
https://tinyurl.com/y7eh4amm
Scan เพื่ออ่านบนมือถือของคุณ
อ่านแล้ว 124,626 ครั้ง  
ตั้งแต่วันที่ 2013-07-26 13:00:00
อ่านล่าสุด 10 นาทีที่แล้ว

โดย รองศาสตราจารย์ ดร. นพมาศ สุนทรเจริญนนท์ 
ภาควิชาเภสัชวินิจฉัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ตำรับยาจันทน์ลีลาเป็นตำรับยาในยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ 25561 และจัดอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ (บัญชียาจากสมุนไพร พ.ศ. 2555) กลุ่มบัญชียาจากสมุนไพรที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม เป็นยาแก้ไข้ ตัวร้อน2  ในรูปแบบ ยาแคปซูล ยาผง ยาเม็ด ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

สูตรตำรับ ในผงยา 99 กรัม ประกอบด้วย

โกฐสอ โกฐเขมา โกฐจุฬาลัมพา แก่นจันทน์ขาวหรือจันทร์ชะมด แก่นจันทน์แดง ลูกกระดอม เถาบอระเพ็ด รากปลาไหลเผือก หนักสิ่งละ 12 กรัม พิมเสน หนัก 3 กรัม

ข้อบ่งใช้ บรรเทาอาการไข้ตัวร้อน ไข้เปลี่ยนฤดู

ขนาดและวิธีใช้ ชนิดผง

ผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 1 - 2 กรัม ละลายน้ำสุก ทุก 3 - 4 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ

ข้อควรระวัง - ไม่แนะนำให้ใช้ในผู้ที่สงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก เนื่องจากอาจบดบังอาการของไข้เลือดออก

- หากใช้ยาเป็นเวลานานเกิน 3 วัน แล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์

ข้อมูลเพิ่มเติม แนะนำให้ใช้ยาจันทน์ลีลาได้ในหญิงที่มีไข้ทับระดูหรือไข้ระหว่างมีประจำเดือน

  

จะเห็นได้ว่าตำรับยาจันทน์ลีลาเป็นตำรับของภูมิปัญญาไทยมานานหลายศตวรรษ แต่ยังไม่มีการพิสูจน์สรรพคุณอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ของทั้งตำรับ แต่ถ้าพิจารณาข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ของเครื่องยาแต่ละชนิดจะเห็นได้ว่าเครื่องยาดังกล่าวมีข้อมูลที่สนับสนุนสรรพคุณลดไข้ แก้ปวด และต้านการอักเสบ ได้แก่ โกฐเขมา (สารสำคัญคือ สาร b-eudesmol, atractylochromene และ polyacetylenes3-9 มีฤทธิ์แก้ปวดและต้านการอักเสบ), โกฐจุฬาลำพา (สารสำคัญคือ scopoletin มีฤทธิ์แก้ไข้ และต้านการอักเสบ10, สาร artemisinin มีผลรักษาโรคมาลาเรียที่ดื้อต่อยา11,12), โกฐสอ (สารสำคัญที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบคือ byakangelicol13, สาร byakangelicin14 สาร imperatorin15), แก่นจันทน์แดง16, บอระเพ็ด17,18 (สารสำคัญคือ N-trans-feruloytyramine มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ19), และปลาไหลเผือก (สารสำคัญคือ quassinoids มีฤทธิ์ต้านมาลาเรีย20-22)

ถึงแม้ว่าจะมีข้อมูลงานวิจัยสนับสนุนเครื่องยาแต่ละชนิด แต่งานวิจัยของทั้งตำรับยาจันทน์ลีลายังไม่เคยมีการศึกษามาก่อน  ซึ่งในปี 2548 สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติได้สนับสนุนทุนวิจัยให้กับคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในโครงการบูรณาการ “การวิจัยและพัฒนาสารสกัดมาตรฐานของตำรับยาแก้ไข้” ประกอบด้วยโครงการย่อย 2 โครงการคือ โครงการวิจัยและพัฒนาสารสกัดมาตรฐานของตำรับยาจันทน์ลีลา  และโครงการศึกษาฤทธิ์แก้ปวด ต้านการอักเสบ และแก้ไข้23 และในปี 2549 สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติได้สนับสนุนทุนวิจัย “การพัฒนาตำรับแผนโบราณเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน(ต่อเนื่อง) ปี 2549” 24 ซึ่งประกอบด้วยโครงการการศึกษาความเป็นพิษเฉียบพลันและกึ่งเรื้อรังของตำรับยาจันทน์ลีลา  ทำให้งานวิจัยตำรับยาจันทน์ลีลาสมบูรณ์ขึ้น กล่าวคือมีทั้งงานวิจัยด้านเครื่องยาที่เป็นวัตถุดิบและสารสกัด (ซึ่งงานวิจัยนี้เป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้ตำรับยามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหรือไม่) งานวิจัยด้านฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา และงานวิจัยด้านพิษวิทยา  ซึ่งผลของการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาพบว่าสารสกัดตำรับยาจันทน์ลีลามีฤทธิ์ต้านการอักเสบ แก้ปวด และแก้ไข้  ซึ่งการศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบเฉียบพลันของตำรับยาจันทน์ลีลาโดยการใช้ ethyl phenylpropiolate (EPP) กระตุ้นการบวมของใบหูหนูขาว พบว่ายาจันทน์ลีลาในขนาด 1, 2 และ 4 มิลลิกรัมต่อ 20 ไมโครลิตรต่อหู สามารถลดการบวมของใบหูหนูได้ และให้ผลใกล้เคียงกับยามาตรฐาน phenylbutazone  ตำรับยาจันทน์ลีลา ขนาดยา 300-1200 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ (carrageenan-induced paw edema) และมีฤทธิ์ยับยั้งความเจ็บปวด (formalin test) ได้ผลดีกว่า ยามาตรฐาน aspirin ใน early stage แต่ให้ผลใกล้เคียงกันใน late stage ตำรับยาจันทน์ลีลาขนาด 1,200 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว มีฤทธิ์ลดอุณหภูมิร่างกายที่เพิ่มสูงขึ้นได้ นอกจากนี้สารสกัดตำรับยาจันทน์ลีลายังมีฤทธิ์ต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหารที่เหนี่ยวนำให้เกิดแผลด้วยเอทิลแอลกอฮอล์ร่วมกับกรดเกลือ และ ยาต้านการอักเสบอินโดเมทาซิน ส่วนการศึกษาความเป็นพิษเฉียบพลันและกึ่งเรื้อรัง พบว่าตำรับยาจันทน์ลีลา ขนาดยา 5 กรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว ไม่ก่อพิษเฉียบพลัน  และขนาดยา 600, 1200 และ 2400 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักตัว ไม่ก่อพิษกึ่งเรื้อรัง ในระยะเวลา 90 วัน25

จากข้อมูลการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา และพิษวิทยาของสารสกัดตำรับยาจันทน์ลีลาพบว่าสารสกัดมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่สนับสนุนการใช้ของภูมิปัญญาที่มีมาแต่เดิม คือ มีฤทธิ์แก้ไข้ ต้านการอักเสบ และแก้ปวด และไม่พบพิษเฉียบพลันและกึ่งเรื้อรัง ทั้งนี้จะต้องขึ้นกับคุณภาพของเครื่องยาและสารสกัดที่เตรียมได้  ซึ่งโครงการวิจัยและพัฒนาสารสกัดมาตรฐานของตำรับยาแก้ไข้ (ตำรับยาจันทน์ลีลา)23 ได้เตรียมสารสกัดมาตรฐานที่เหมาะสมทั้งวิธีการและตัวทำละลาย การควบคุมคุณภาพของเครื่องยาแต่ละชนิด ทั้งทางด้านคุณสมบัติทางกายภาพและทางเคมี โดยศึกษา Thin layer chromatographic fingerprint ของเครื่องยาและสารสกัดในตำรับ รวมทั้งการตรวจสอบการปนเปื้อนจากเชื้อที่ก่อเกิดโรค สารก่อเกิดมะเร็ง ได้แก่ สารอะฟลาทอกซิน (aflatoxin) และสารกำจัดแมลง และศึกษา ultraviolet และ infrared spectroscopic fingerprint ของสารสกัด  งานวิจัยนี้จะเป็นการสร้างมาตรฐานในการผลิตและพิสูจน์สรรพคุณตามหลักสากล ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพของตำรับยาจันทน์ลีลา  และสามารถพัฒนารูปแบบยาแผนโบราณให้น่าใช้และสะดวกแก่ผู้บริโภคด้วย งานวิจัยนี้ได้ทำการสืบค้นข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ของเครื่องยาทุกชนิด ตรวจสอบชนิดและคุณภาพของเครื่องยา โดยทำตามวิธีของ Thai Herbal Pharmacopoeia 199526 จดบันทึก รูปร่าง ขนาด กลิ่น สี พร้อมทั้งบันทึกภาพ ควบคุมคุณภาพทางกายภาพและทางเคมี ได้แก่ ปริมาณความชื้น ปริมาณเถ้ารวม ปริมาณเถ้าที่ไม่ละลายในกรด ปริมาณสารสกัดได้แก่ ปริมาณสารสกัดเฮกเซน สารสกัดไดคลอโรมีเทน และสารสกัดแอลกอฮอล์ เป็นต้น ตรวจสอบชนิดของกลุ่มสารประกอบทางเคมี (ได้แก่ alkaloids, flavonoids, saponins, terpenoids, tannins เป็นต้น) โดยใช้วิธีของ Professor Farnswort27 ผลการศึกษาวิจัยตรวจสอบคุณภาพของเครื่องยา พบว่าตำรับยาจันทน์ลีลาประกอบด้วยเครื่องยา 8 ชนิด และเครื่องยาที่มีคุณภาพดีมีจำนวน 5 ชนิด (ได้แก่ โกฐเขมา โกฐจุฬาลำพา โกฐสอ จันทน์เทศ และบอระเพ็ด) คิดเป็น 63% ส่วนที่มีคุณภาพไม่ดีมีจำนวน 3 ชนิด (ได้แก่ โกฐเขมา และโกฐจุฬาลำพา) คิดเป็น 37%  และสารสกัดตำรับยาจันทน์ลีลาเตรียมได้จากการสกัดต่อเนื่องด้วยตัวทำละลายไม่มีขั้ว มีขั้วกลางๆ และที่มีขั้ว นำสารสกัดที่ได้ทั้งหมดมารวมกันและระเหยแห้ง คิดเป็น 6.08 % ของน้ำหนักเครื่องยาที่เป็นวัตถุดิบ และทำการควบคุมคุณภาพของสารสกัดตำรับยาจันทน์ลีลา ทำเช่นเดียวกับการควบคุมคุณภาพของเครื่องยา พร้อมทั้งทำเอกลักษณ์ (finger prints) ของสารสกัดได้แก่ ultraviolet spectrum (UV spectrum) fingerprint และ infrared spectrum (IR spectrum) fingerprint28 สารสกัดตำรับยาจันทน์ลีลา พบว่ามีปริมาณสาร total polysaccharide29 และ uronic acid30 เท่ากับ 43.2 และ 1.7 %w/w ตามลำดับ และน้ำตาลกลุ่มย่อยประกอบด้วย น้ำตาล glucose, glucuronic acid หรือ galacturonic acid โดยมีน้ำตาลหลักคือ glucose การหาตัวทำละลายที่คงเหลือในสารสกัดตำรับยาจันทน์ลีลา โดยใช้วิธี GC/MS ร่วมกับอุปกรณ์ head space ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่สามารถจะปรับอุณหภูมิของตัวทำละลายได้อย่างช้าๆ  ซึ่งผลการศึกษาพบว่าสารสกัดตำรับยาจันทน์ลีลา ไม่มีตัวทำละลายคงเหลืออยู่

โครงการบูรณาการ “การวิจัยและพัฒนาสารสกัดมาตรฐานของตำรับยาแก้ไข้” และ “โครงการการศึกษาความเป็นพิษเฉียบพลันและกึ่งเรื้อรังของตำรับยาจันทน์ลีลา” ถือได้ว่าเป็นงานวิจัยชิ้นแรกที่มีการศึกษาอย่างครบวงจร คือ ศึกษาวิจัยและควบคุมคุณภาพของเครื่องยาที่เป็นวัตถุดิบและสารสกัด ศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาในฤทธิ์ที่เกี่ยวข้องกับสรรพคุณของตำรับยาที่มีการใช้มาแต่ดั้งเดิม และศึกษาพิษวิทยา ซึ่งโครงการบูรณาการนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า ตำรับยาจันทน์ลีลามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาตามสรรพคุณที่ได้กล่าวอ้าง คือ แก้ไข้ แก้ปวดและต้านการอักเสบ และสารสกัดดังกล่าวไม่พบการปนเปื้อนสารกำจัดแมลง จุลชีพ และสารอะฟลาทอกซิน และไม่พบความเป็นพิษในสัตว์ทดลอง  และงานวิจัยนี้ถือได้ว่าเป็นงานวิจัยที่ได้แสดงให้เห็นว่า คุณภาพของเครื่องยาไทยที่เป็นส่วนประกอบของตำรับยาจันทน์ลีลามีคุณภาพดีมากน้อยเพียงใด ซึ่งเครื่องยาส่วนใหญ่ที่ได้ศึกษานี้เป็นเครื่องยาที่ยังไม่มีการศึกษาด้านคุณภาพ และไม่มีข้อกำหนดมาตรฐานในเภสัชตำรับของประเทศไทย ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะเป็นข้อมูลเบื้องต้นให้กับอุตสาหกรรมยาไทย ที่จะนำไปใช้ในการคัดเลือกเครื่องยา โดยสามารถจะเปรียบเทียบลักษณะภายนอก หรือทำการตรวจสอบคุณภาพตามวิธีของเภสัชตำรับไทย อันจะเป็นการยกระดับคุณภาพของตำรับยาไทย ให้เป็นที่ยอมรับของบุคลากรทางการแพทย์และผู้บริโภค



บทความที่ถูกอ่านล่าสุด


21 วินาทีที่แล้ว
ยาหอม กับคนวัยทำงาน 24 วินาทีที่แล้ว

อ่านบทความทั้งหมด



ข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์บทความ:
บทความในหน้าที่ปรากฎนี้สามารถนำไปทำซ้ำเพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์ได้ ทั้งนี้การนำไปทำซ้ำนั้นยังคงต้องปรากฎชื่อผู้แต่งบทความ และห้ามตัดต่อหรือเรียบเรียงเนื้อหาในบทความนี้ใหม่โดยเด็ดขาด และกรณีที่ท่านได้นำบทความนี้ไปใช้ในเว็บเพจของท่าน ให้สร้าง Hyperlink เพื่อสร้าง link อ้างอิงบทความนี้มายังหน้านี้ด้วย

-

 ปรับขนาดอักษร 

+

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

447 ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ดูเบอร์ติดต่อหน่วยงานต่างๆ | ดูข้อมูลการเดินทางและแผนที่

เว็บไซต์นี้ออกแบบและพัฒนาโดย งานเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อการเรียนการสอน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
Copyright © 2013-2024
 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้เทคโนโลยีคุกกี้เพื่อช่วยให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้อง การเปิดให้ใช้คุณสมบัติทางโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าเว็บไซต์ของเรา การใช้งานเว็บไซต์ต่อถือว่าคุณยอมรับการใช้งานคุกกี้